Skip to main content
sharethis

เรียนรู้ประสบการณ์ในพื้นที่ความขัดแย้ง “อาเจ๊ะห์ –มินดาเนา-ปาตานี” ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาชนกับประชาชน พร้อมกลับมาสร้างพลังขับเคลื่อนสันติภาพชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 กลุ่มนักประชาสังคมและประชาชนปาตานีกว่า 23 คน ได้เดินทางถึงเมืองบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเรียนรู้การขับเคลื่อนสันติภาพของภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเจ๊ะ หลังจากผ่านประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยาวนานกว่า 30 ปี ระหว่างอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซีย การเดินทางครั้งนี้นำโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน หรือ People Empowerment Foundation

คณะทั้งหมดเป็นนักประชาสังคมและประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคมพุทธ ภาคประชาสังคมมลายู ตัวแทนนักศึกษา และคณะทำงานของมูลนิธิศักยภาพชุมชน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดโครงการ เปิดเผยว่า กิจกรรมภายใต้โครงการนี้มีหลายกิจกรรม ส่วนสำคัญคือการนำตัวแทนประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐที่ทำงานในพื้นที่เดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์จริงในพื้นที่ขัดแย้งจากนักเคลื่อนไหวและผู้มีส่วนขับเคลื่อนสันติภาพตัวจริง ทั้งที่ทำงานในชุมชนในพื้นที่และผู้มีส่วนในการเจรจาเพื่อสันติภาพ

“ประสบการณ์ตรงเหล่านี้ จะมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ผู้เข้าร่วม มีความคิดริเริ่มหรือต่อยอดงานตัวเองเพื่อเชื่อมต่อกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่อย่างไร ซึ่งความคาดหวังต่อผู้เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้คือ เพื่อกลับมาขับเคลื่อนเพื่อสร้างสันติภาพหรือที่เรียกว่า Peace maker ภาคประชาชน”

"ประชาชนควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้ง แต่ต้องมีการสร้างองค์ความรู้ให้ภาคประชาชนได้เข้าใจว่ากระบวนการสันติภาพเป็นอย่างไร ซึ่งการพาไปพบประสบการณ์ของพื้นที่ความขัดแย้งอื่นอย่างอาเจ๊ะห์และมินดาเนา จะทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นว่า สันติภาพในพื้นที่ของเขาน่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร" นางชลิดา กล่าว

นายธนวัฒน์ โชติมณี กำนันตำบลธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หนึ่งในผู้เข้าร่วมครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นการเดินทางที่สนใจ ซึ่งตนเป็นนำชุมชนมาเกือบสิบปี ต้องมีหน้าที่หลักในการจัดการความขัดแย้งระหว่างลูกบ้านตลอด ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจระหว่างกันเป็นสำคัญ และคิดว่าในการเดินทางสู่อาเจ๊ะห์ในครั้งนี้ จะมีประสบการณ์การจัดการความขัดแย้งใหม่ๆเพื่อใช้ในพื้นที่ได้

"ปกติผมต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้พื้นที่อยู่แล้ว ผมสนใจว่าอาเจ๊ะห์ ที่ขัดแย้งมานานจะมีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร...ผมเชื่อว่าความขัดแย้งในบ้านเรามีเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ถ้าปัญหาอื่นๆไม่ถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อน อาจจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมา ซึ่งอาจจะถูกลากไปเป็นปัญหาความมั่นคงไปเสียหมด" กำนันธารโต กล่าว

สำหรับกิจกรรมวันแรกตามกำหนดการของการเดินทางครั้งนี้คือ การพบนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพอาเจ๊ะห์ ที่ขับเคลื่อนทั้งทางด้านการเมืองและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม จากนั้นจะลงพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 ซึ่งคลื่นยักษ์ดังกล่าวมีส่วนเร่งให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วขึ้นในเวลาต่อมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net