Skip to main content
sharethis

กรรมการอิสลาม 5 จังหวัดใต้ แจ้งทุกมัสยิดขอรับบริจาคช่วยโรฮิงยาอพยพ พร้อมเรียกร้องกลุ่มประเทศมุสลิมและอาเซียนกดดันให้พม่ายอมรับเป็นพลเมือง

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี หรือบ้านปัตตานี ยังมีคนจากองค์กรต่างๆ จำนวนมากเข้ามาเยี่ยมและมอบสิ่งของให้แก่ชาวมุสลิมโรฮิงยาสัญชาติพม่าที่ถูกควบคุมตัวมาจาก อ.สะเดา จ.สงขลาเป็นการชั่วคราว จำนวน 22 คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนชาย 18 คน และหญิง 4 คน

โดยเด็กๆ ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่มีท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส สนทนากับผู้มาเยี่ยมซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ภาษามือ ขณะที่ยังมีบางส่วนกำลังเล่นและบางส่วนเจ้าหน้าที่กำลังสอนภาษาไทยด้วย

ทั้งนี้ระหว่างการทำข่าวชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามพูดคุยกับเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มดังนี้ โดยมีเด็กคนหนึ่ง ชื่อเด็กชายนูรุล ฮุก อายุ 5 ปี พบว่า สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยพอสมควร เมื่อถามว่าไหนพ่อกับแม่ แทนที่เด็กชายคนนี้จะตอบ กลับใช้มือทำท่าทางปาดที่คอ

นายทากร เหมวิเชียร หัวหน้าหน่วยงานบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ในจำนวนหญิง 4 คน เป็นมารดาอายุ 30 ปี มีลูกสาวอายุ 15 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน ขณะนี้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี โดยมีมารดาเฝ้าอยู่

นายทากร กล่าวว่า เด็กและเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร การรักษาพยาบาล และมีของเล่นให้เด็กทุกอย่าง ประกอบกับมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชนและสื่อมวลชน เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมเครื่องอุปโภค-บริโภค และมอบเงินช่วยเหลือเท่าที่มีกำลัง

“ช่วงแรกๆ ที่เด็กและเยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้ถูกส่งมามาพักพิงที่นี่ พวกเขายังไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ เมื่อเวลาผ่านมาหลายวัน พวกเขาเริ่มสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น ทำให้ง่ายต่อการดูแล”

นายทากร เปิดเผยด้วยว่า เยาวชนชาวโรฮิงยากลุ่มนี้เล่าถึงสาเหตุที่ต้องหนีออกมาจากบ้านเกิดที่รัฐยะไข่ ประเทศพม่าว่า เด็กและเยาวชนบางคนพ่อแม่เสียชีวิตเนื่องจากถูกทำร้ายในประเทศพม่า จึงชักชวนกันหนีออกนอกประเทศร่วมกับกลุ่มพี่น้องมุสลิมชาวโรฮิงยาอีกกว่าร้อยคนโดยใช้เรือเป็นยานพาหนะจนถึงริมฝั่งน่านน้ำจังหวัดระนอง เพื่อมุ่งหน้ามาที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมตัวได้ที่ด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลาเสียก่อน

นายทากร กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชาวโรฮิงยาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ส่วนทางการของประเทศพม่าก็ไม่มีความชัดเจนเช่นกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับคนของตัวเองด้วยเช่นกัน

กรรมการอิสลาม5จังหวัดใต้ แจ้งทุกมัสยิดขอรับบริจาคช่วย
ส่วนที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสลาประจำยะลา คณะกรรมการศูนย์ประสานงานสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานีนราธิวาส สตูล และสงขลา) จัดประชุมเรื่อง “การให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยา” โดยมีนายอับดุลเร๊าะมาน อับดุลสมัต ประธานคณะกรรมการศูนย์ประสานงานฯ เป็นประธาน และมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 10 คน

หลังการประชุมนายอับดุลเร๊าะมาน ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติในเรื่องนี้ 3 ข้อ คือ 1.ขอเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ และพี่น้องมุสลิมทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนให้ความช่วยเหลือแก่โรฮิงยา และขอเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนออกมาให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงญาด้วย

2.ขอบคุณแก่เจ้าหน้าที่จากองค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคม และองค์กรศาสนาในพื้นที่ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวโรฮิงยาที่ผ่านมา และ3.ขอให้ทางรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนสิทธิทางศาสนาและสิทธิมนุษยชนแก่ชาวโรฮิงยาต่อไป  

นายอับดุลเร๊าะมาน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว DSJ ว่า ศูนย์ประสานงานฯ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการอิสลามทั้ง 5 จังหวัด ส่งหนังสือแจ้งแก่มัสยิด โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ตลอดจนสถาบันปอเนาะทุกแห่งขอรับบริจาคสิ่งของต่างๆ เช่น อาหารแห้ง เสื้อผ้า และเงิน ตามการแถลงการณ์ของสำนักงานจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 และให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการรับสิ่งบริจาคสิ่งของและเงินจากประชาชน

นายอับดุลเร๊าะมาน กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงยาดังกล่าว เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวเท่านั้น การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องเป็นหน้าที่ของสหประชาชาติ(UN) กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และกลุ่มประเทศมุสลิมในอาเซียน ช่วยกดดันประเทศพม่าเพื่อให้ยอมรับชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของพม่าและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาตามสิทธิมนุษยชนสากล

นายอับดุลฮาเฮม หิเล เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ขอรับบริจาคไปยังมัสยิด โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และสถาบันปอเนาะทุกแห่งในจังหวัดยะลาแล้ว โดยขอรับบริจาคมาแล้ว 2 วัน

นายอับดุลฮาเฮม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนในจังหวัดยะลานำสิ่งของมาบริจาคจำนวนหนึ่งและเงินอีกจำนวนหนึ่ง ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาจะรวบรวม และส่งมอบแก่ชาวโรฮิงยาต่อไป ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจังหวัดยะลาจะดำเนินการรับบริจาคถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net