Skip to main content
sharethis

Prachatai Eyes View: การเดินทางในพม่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

 

ในปี 2553 และปี 2555 ฉันเดินทางไปประเทศพม่าบ่อยครั้ง และด้วยพม่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างก้าวกระโดด ฉันจึงได้เรียนรู้พลวัตรของสังคมพม่าด้วยตาของฉัน และด้วยการพูดคุยกับคนพม่าในนั้น  สิ่งเหล่านี้ยังเปลี่ยนตัวฉันจากความตื่นตาตื่นใจในสถานที่ท่องเที่ยว กลายเป็น ตื่นรู้ตื่นคิด กับบทเรียนทางสังคมศาสตร์ที่จับต้องได้

รูปเหล่านี้เป็นเพียงภาพตัวอย่างส่วนน้อยมากของบทเรียนเรื่องความเปลี่ยนแปลงในพม่า มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ เปรียบเทียบกับเมื่อสองปีก่อนได้โดยไม่ต้องผ่านการวิเคราะห์หรือทฤษฎีใดๆทั้งนั้น ทั้งนี้ทุกภาพเป็นภาพที่ถูกถ่ายในปี 2555

 

โครงการสร้างท่อส่งน้ำมัน “Myanmar-China Pipeline Project”

ระหว่างทางก่อนถึงเมืองเมเมียว หรือ Pyin Oo Lwin เมืองพักตากอากาศสุดหรูทางทิศเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ จะพบท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่จำนวนมหาศาลวางเรียงรายอยู่ข้างทาง และ มีคนงานกำลังเร่งขุดดินวางท่ออย่างแข็งขัน กระจายไปทั่วทุกจุด มองไปยังภูเขาไกลๆ เห็นภูเขาโดนตัดทรงตื่งหู เพื่อสามารถวางท่อน้ำมันเป็นแนวพาดยาว โครงการนี้เป็นการส่งน้ำมันจากอ่าวด้านตะวันตกของประเทศพม่า พาดผ่านไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งให้กับประเทศจีน โดยมีบริษัท China National Petroleum Corporation ซึ่งเป็นบรรษัทของรัฐบาลจีนและเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของโลกเป็นเจ้าของโครงการ การก่อสร้างดำเนินไปในหลายๆเมืองเพื่อให้มาเชื่อมกันโดยเร็ว เพราะรัฐบาลจีนมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี2556  ความเร่งรีบในการวางท่อทำให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่บรรทุกท่อส่งน้ำมันขนาดยักษ์ได้แค่สามท่อ ต่างวิ่งกันขวักไขว่บ้าง จอดตามทางบ้าง ส่วนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อลึกลงไปยิ่งขึ้น และปัญหาใหญ่ๆที่หนีไม่พ้นคือ ปัญหาการถูกไล่ที่และปัญหาเรื่องความมั่นคงของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กำลังเป็นที่วิตกในหมู่นักสิทธิมนุษยชน

 

การบินภายในประเทศ

แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศพม่ากำลังได้รับความนิยมสุดขีด จากที่มีแต่ฝรั่ง ก็พบเจอคนเอเชียมากขึ้น พบเห็นคนไทยได้ตามสถานที่ยอดฮิตของพม่าทั่วไป (เห็นได้ชัดจากรายการทีวีของไทย พาไปตะลุยพม่ากันหนาตามาก) การเดินทางในพม่าจึงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สายการบินเพิ่มจำนวนขึ้น (ส่วนมากก็เป็นของนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล) ตารางบินถี่มากขึ้น  สนามบินบางแห่งก็ปรับปรุงใหญ่โตขึ้น อย่างเช่น สนามบิน Heho (ใกล้ทะเลสาบอินเล ...สนามบินที่เพิ่งมีข่าวว่าเครื่องบินลงจอดไม่ได้ ทำให้เครื่องบินตกอยู่ที่เมืองใกล้ๆ) 

แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ ไฟลท์ส่วนมากก็ยังเป็นไฟลท์ที่ต้องแวะหลายๆเมืองอยู่ดี อาจจะต้องเสี่ยงภาวนากันหน่อยในแต่ละครั้งที่จะเทคออฟและแลนดิ้ง (แต่โดยทั่วไป ตรวจสอบได้ว่าไฟลท์ไหนบินตรงหรือมีแวะจอด ) การบินในประเทศก็ยังไม่ค่อยเข้มงวดแบบสากล อย่างเอาของเหลวขึ้นเครื่องได้ กระเป๋าวางข้างๆตัวได้ ไม่มีใครมาจุกจิก ส่วนอาหารบนเครื่องก็ยังอร่อยเหมือนเดิม และพนักงานต้อนรับก็หน้าตาดีแบบเดิม

 

ปั๊มน้ำมัน

สองปีก่อนที่มาแวะตามเมืองต่างๆ จะเจอแต่ปั๊มน้ำมันของรัฐบาล ที่รถแต่ละคันจะมีโควต้า รถทุกคันจึงต้องถือสมุดจดลงไปให้พนักงานเซ็นจำนวนน้ำมันที่ได้ไปแล้ว ส่วนพนักงานปั๊มหน้าตาเอาเรื่องอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะชักภาพ คนขับรถชาวพม่าก็รีบยกมือห้ามบอกว่าเขาห้ามถ่าย เป็นเรื่องของความมั่นคง!!!  แต่พอมาปีนี้ ปั๊มน้ำมันมีให้เลือกหลากยี่ห้อ คนพม่าแห่กันไปเติมปั๊มน้ำมันของเอกชน ที่ก็(เหมือนเดิม)เป็นของเหล่านักธุรกิจใหญ่ที่สนิทชิดเชื้อกับรัฐบาล (เจ้าของเดียวกับสายการบิน ธนาคาร สนามกีฬา โรงแรม และอื่นๆอีกมากมาย) ปั๊มน้ำมันสีสันสดใสมีอยู่ตามทางของเมืองใหญ่ๆ ส่วนเมืองเล็กๆ ก็จะพบปั๊มน้ำมันของชาวบ้าน เติมโดยใช้ขวดพลาสติกเสียมากกว่า แต่ไม่ว่าปั๊มน้ำมันแบบไหน ก็อนุญาตให้ถ่ายรูปได้แล้ว ก็เลยถ่ายรูปสาวๆที่อยากออกสื่อเสียหน่อย

 

อองซานซูจีมีในทุกสื่อ

เคยต้องแอบดูช่อง DVB (Democratic Voice of Burma) อยู่ตามบ้านของชาวพม่าผู้รักประชาธิปไตย (เขาเรียกตัวเองว่าอย่างนั้น) เขาภูมิใจนำเสนอช่องนี้มาก และรู้สึกว่าตัวเองเจ๋งมากที่แอบนั่งดูช่องนี้ที่บ้านได้ แม้ว่าฉันก็เคยดูช่องนี้อยู่ที่เมืองไทย แต่ตอนนั้นฉันต้องทำหน้าตื่นตาตื่นใจไปด้วย เพราะบรรยากาศการเมืองในพม่าที่ยังปิดกั้นสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การแขวนรูปดอว์อองซานซูจีในบ้าน ก็เหมือนเป็นการท้าทาย(แบบแอบๆ)ต่อรัฐบาล

แต่พอสองปีให้หลัง  บ้านเรือนในย่างกุ้งมีรูปดอว์อองซานซูจีแขวนไว้ได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัว ร้านค้าบางร้านทำเสื้อรูปอองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดีขายดีเป็นล่ำเป็นสัน ตามร้านหนังสือก็มีหนังสือเกี่ยวกับดอว์อองซานซูจีและปฏิทินรูปของเธอเกลื่อน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จะต้องมีข่าวของเธอทุกวัน แต่การแสดงออกถึงความชื่นชมต่อเธอยังถูกจำกัดอยู่ในเมืองที่พรรคเอ็นแอลดีไม่ได้มีอิทธิพล หรือในเมืองที่ทหารพม่ายังมีอำนาจอยู่ อย่างเช่นในเมืองตองยี ผู้คนยังไม่สามารถใส่เสื้อรูปดอว์ซูจีเดินไปเดินมาได้ 

ส่วนช่อง DVB ก็เปิดดูกันได้อย่างเสรี ตอนนี้แทบทุกบ้านที่สนใจเรื่องการเมือง ก็ล้วนแต่เปิดดูช่องนี้ แม้แต่ในร้านอาหารใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่บนถนนทางหลวงย่างกุ้ง-เนปิดอว์ ยังเปิดช่อง DVB ที่กำลังรายงานข่าวเกี่ยวกับดอว์ซูจีไว้ เป็นสิ่งที่แสดงว่ามีการเปิดสื่อที่วิจารณ์รัฐบาลมากขึ้น

 

ตลาดรถยนต์

แต่เดิมไปไหนก็จะเจอแต่รถสีขาว ยี่ห้อโตโยต้าเก่าๆ ที่เป็นของมือสองโละมาจากญี่ปุ่น (แต่เป็นรถที่ทนทานต่อทุกสภาพถนนจริงๆ) สอบถามผู้คน บ้างก็ว่าเพราะรถราคาแพงมากไม่กล้าซื้อของใหม่ บ้างก็ว่าไม่กล้าซื้อสีอื่นยี่ห้ออื่น เพราะกลัวว่าเวลาทำอะไร จะเป็นเป้าสายตาของเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน หรือถ้าทำผิดก็จะถูกจับได้ง่ายๆ แต่พอมาในปีนี้ เจอรถยนต์หลากสีหลากยี่ห้อ รถใหม่ๆที่นำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีมีมาโชว์ตามงานแฟร์ ราคารถก็ถูกลงมาก

ที่ตองยี ราคารถที่ลดลงทำให้เกิดมือใหม่หัดขับจำนวนมาก และด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทำให้อุบัติเหตุจากรถยนต์จากมือใหม่ที่ขับรถโดยประมาทเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ อย่างไรก็ดี คนในตองยี(ที่ส่วนมากขับมอเตอร์ไซค์)เคารพกฎจราจรกันอย่างมาก โดยเฉพาะการสวมหมวกกันน็อคและการทำตามไฟเขียวไฟแดง

 

กระแสบูม ที่คล้ายไทย

ที่ประเทศไทย ฟุตบอลไทยกำลังเป็นที่นิยม ไม่ต่างจากในพม่าที่มี Myanmar National League ซึ่งแม้จะมีมานาน (เดิมชื่อ Myanmar Premiere League) แต่ก็เพิ่งได้รับความสนใจอย่างจริงจังไม่กี่ปีมานี้เช่นเดียวกัน ฟุตบอลคลับ (FC) มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างในตองยี นักธุรกิจใหญ่ของพม่า(ที่เป็นเจ้าของทุกอย่าง รวมถึงฟุตบอลคลับ)ได้เปิดสนามฟุตบอลในชื่อของตนและเปิดโรงแรมในนามของฟุตบอลคลับของตนเองอีกด้วย

นักร้อง และดาราเกาหลีเป็นไอดอลของวัยรุ่นชาวพม่าไม่ต่างจากในไทย โทรทัศน์ช่องหลักๆของพม่าเองก็เต็มไปด้วยซีรีย์เกาหลี โดยนักร้องที่เป็นที่นิยมมากที่สุด (ในช่วงที่ฉันอยู่ในพม่า) คือ 2NE1 และเพลง Fire ถูกแปลงไปเป็นเพลงพม่าหลายเวอร์ชั่น แม้แต่ในภาพยนตร์ที่ฉันได้ดู ก็มีเพลงแปลง Fire มาทำเป็นเพลงให้พระเอกนางเอกได้ร้องในฉาก อย่างไรก็ตาม การแปลงเพลงจากต่างชาติ ทั้งเพลงตะวันตก เพลงเอเชีย รวมถึง เพลงไทย เป็นเรื่องที่มีมานานจนเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว สามารถได้ยินเพลงแปลงในสื่อสาธารณะของพม่าโดยทั่วไป ทั้งรายการทีวี ละคร โฆษณา และในอัลบั้มเพลง

กระแสสุดท้ายคือวลีที่ว่า “เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ในพม่าก็มีการโปรโมทตามสื่อต่างๆเช่นกัน เพียงแต่อาจจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อเท่าในประเทศไทย

 

ห้างใหญ่และโรงหนัง

เมื่อกลางปี 2555 ในย่างกุ้งมีห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ ชื่อ Junction Square นับว่าเป็นห้างที่ทันสมัยที่สุดในตอนนี้ และเป็นครั้งแรกที่มีโรงภาพยนตร์แบบสามมิติ เห็นโฆษณาหนังการ์ตูนชื่อดัง(ที่เคยฉายในประเทศอื่นๆไปนานแล้ว) เรียงรายอยู่เต็มห้าง

แต่น่าเสียดายว่าตอนที่ฉันไป โรงหนังสุดไฮโซนี้เพิ่งเปิดใหม่ๆ จึงมีเพียงหนังพม่าและหนังอินเดียเข้าฉาย ทำให้อดเข้าไป “ยืนตรงเคารพเพลงชาติและธงชาติพม่า” ในโรงหนัง เรื่องการยืนในโรงหนังนั้น แต่ก่อนจะเข้มงวดมาก แต่หลังจากเปลี่ยนธงชาติความเข้มงวดก็ลดลง จะยืนหรือไม่ยืนก็ได้

ในช่วงปลายปีที่ฉันไปพม่าอีกครั้ง เมื่อไปถึงเมืองตองยี ฉันจึงขอลองเข้าไปชมภาพยนตร์ในโรงหนังธรรมดาๆ ดูบ้าง (แต่ก็อดเคารพเพลงชาติอยู่ดี เพราะเข้าไปสาย) ฉันเลือกดูหนังเรื่อง “เอ่หมี่ เอ๊มิ และแฟน” ราคาตั๋วหนังเพียง 600 จ๊าด (หรือประมาณ20บาท) ลักษณะภายในเหมือนโรงหนังชั้น2 ของไทย มีชั้นล่างและชั้นลอย เก้าอี้เป็นเหล็กเบาะหนัง มีที่นั่งฮันนีมูนซีทอยู่ด้านหลังสุด โดยแต่ละที่นั่งมีที่กั้นเป็นคอกๆ ไว้ให้คู่รักทำอะไรได้สะดวกๆ (หมายถึงคุยกัน) เสียงรอบข้างเป็นเสียงแทะเมล็ดทานตะวัน การฉายใช้เครื่องโปรเจคเตอร์ต่อกับคอมพิวเตอร์ ส่วนภาพยนตร์ ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะตัวละครยังโอเวอร์แอคติ้งเหมือนเดิม กราฟฟิกขั้นเทพแบบเดิม สถานที่ที่ใช้ในแต่ละฉาก(ที่ตามบทคือต่างสถานที่กัน)ก็มักเป็นสถานที่เดียวกันเหมือนเคย (แค่เปลี่ยนผ้าม่านและเก้าอี้)



ความเติบโตของCP

ไก่ย่างห้าดาวเข้ามาในพม่านานมากแล้ว เมื่อครั้งสองปีก่อนเห็นไก่ย่างห้าดาวทั้งในย่างกุ้งและตองยี แต่มาปีนี้ ธุรกิจของซีพีขยายไปมากขึ้น จากการที่มีซีพีเฟรชมาร์ทเปิดให้บริการอยู่ในตองยี และในตลาดสดก็กลับพบผลิตภัณฑ์ของซีพีมาขายในหลายๆแผง ทั้งที่แต่เดิมจะมีแต่ของสดๆ หรือของท้องถิ่น

แม้พม่าจะดูเหมือนเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงสองปีนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนจะดีขึ้นก็มิได้การันตีความมั่นคงและมั่งคั่งของประชาชนแต่อย่างใด ความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดในขณะที่รากฐานยังไม่แน่น ระบบการศึกษายังไม่แข็งแรง จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศในสัดส่วนน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับนักธุรกิจและผู้มีอำนาจทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ


 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net