Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มันไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐ มันคือสถานการณ์ในวันนี้ที่สหรัฐใช้นโยบาย “ประชานิยม” ลดภาษี แจกเงิน มายาวนาน พวกเขาก่อหนี้มาเรื่อยๆ แต่สุดท้ายทุกงานเลี้ยงต้องมีเลิกรา เพื่อไม่ให้หนี้เพิ่มสูงเกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ โครงการ “ลดภาษี - แจกเงิน” ทั้งหลายจึงถูกตั้งเวลาเอาไว้ให้สิ้นสุดลง ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่หลายโครงการสิ้นสุดพร้อมกันในวันที่ 31 ธ.ค. 2012

หากไม่ทำอะไรเลย เมื่อโครงการ “ลดภาษี - แจกเงิน” สิ้นสุดลง ทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 1 ม.ค. 2013 นั่นหมายความว่าจะเกิดการ “ขึ้นภาษี” และ “ตัดค่าใช้จ่าย” พร้อมกันอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่ามันจะทำให้หนี้รัฐบาลลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่ในทางกลับกัน มันจะส่งผลรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจทั้งโลก ซึ่งจะทำให้ชิบหายกันหมด

เรื่องราวมาสนุกมากขึ้นเมื่อ “การเมือง” สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ฟาก Republican นั้นครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง ขณะที่ Democrat นั้นครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง และประธานาธิบดี (ซึ่งมีอำนาจยับยั้งกฎหมาย) มาจากพรรค Democrat

ประเด็นที่ถกเถียงกันในทางการเมืองคือ -- โอเค เราต้องขึ้นภาษี ตัดค่าใช้จ่าย แต่เราทำทีเดียวไม่ได้ ต้องทยอยทำ คำถามคือทำอันไหนก่อน อันไหนหลัง โครงการไหนสำคัญ คนกลุ่มไหนควรช่วยลดหย่อยภาษีต่อไป -- Republican บอกว่าเรื่องนี้สำคัญ ส่วน Democrat บอกเรื่องโน้นสำคัญกว่า

ล่าสุด หลังจากเถียงกันถึงนาทีสุดท้ายของปี 2012 พวกเขาก็ตกลงกันได้ (ใครสนใจรายละเอียดข้อตกลงขอให้หาอ่านเอาเอง) แต่มันยังไม่ใช่ทางออกระยะยาวเนื่องจากตกลงกันได้แบบ “ซื้อเวลา” ต่อไปอีก 2 เดือน พอเดือน มีนาคม ก็ต้องมาลุ้นเรื่องนี้กันใหม่อีกที

เช่นเคย -- ผมคิดว่าแง่มุมที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือตัวอย่าง “ระบบการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย” 

การเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ นักการเมืองคือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ บางคนเป็นตัวแทนคนยากจน บางคนเป็นตัวแทนคนร่ำรวย บางคนเป็นตัวแทนทหาร บางคนเป็นตัวแทนข้าราชการ ทุกคนมีหน้าที่เข้าไปในสนามการเมือง แล้วก็ต่อสู้กันเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ที่ตัวเองรับใช้

ถ้าเราเชื่อว่าระบบการเมืองมีหน้าที่ “ไกล่เกลี่ย” ผลประโยชน์ในสังคม เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดสุดๆว่ามันกำลังทำงานของมันอย่างที่ควรเป็น การเจรจา ต่อรอง หักเหลี่ยม เฉือนคม จะทำให้สุดท้ายไม่มีใคร “ได้” อยู่คนเดียว ทุกคนจะได้อย่าง-เสียอย่างเสมอ แล้วทุกคนก็ต้องรับใช้ใครบางคนเป็นเจ้านายเสมอ สังคมเป็นวงกลม ไม่ใช่สามเหลี่ยมปิรามิด

สภาพ “ขั้วอำนาจ” ในสภาของอเมริกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเขายังคิดต่างกันอยู่มาก ดังนั้นจึงต้องคุยกันหนัก เพื่อหาทางรอมชอมให้ได้ “งานหลัก” ของนักการเมืองก็คือสิ่งนี้นั่นแหละ เขาต้องทำงานแทนประชาชนในสภา เพื่อให้ประชาชนมีเวลาไปทำมาหากิน อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องออกมานอนกลางถนนเพื่อ “ต่อรอง” อำนาจของตนเองในวันที่สังคมคิดต่างกันเยอะๆ

เรื่องเดียวกันนี้ถ้าเกิดในสังคม “แบบไทยๆ” เชื่อว่าหลายคนอาจก่นด่านักการเมืองทั้งสองพรรคว่าทำไมไม่ยอมหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้เสียที ไม่รู้จักสามัคคี สมานฉันท์ เอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นใหญ่ เห็นแก่ผลประโยชน์ของพรรคพวกตัวเอง เลว ชั่ว ไร้ศีลธรรม บลาๆๆๆ เพราะเราไม่เคยยอมรับว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ ระบบการเมืองมีไว้จัดแบ่งผลประโยชน์ และคำว่าชาติไม่ได้หมายถึงคนหนึ่งคน แต่หมายถึงคนหลายกลุ่ม ที่ต้องการแบ่งผลประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องนี้ถ้าเกิดในสังคมที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” จะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เพราะจะมีใครสักคนทุบโต๊ะเปรี้ยง !! แล้วบอกว่า โอเค อั๊วคิดว่าเอาอย่างงี้แหละ ลดภาษีให้คนกลุ่มนี้ต่อ ส่วนคนกลุ่มนั้นช่างหัวมัน เขาต้องเสียสละเพื่อชาติบ้าง ใครมีปัญหาให้มันมาคุยกับอั๊วเอง อั๊วตัดสินใจโดยเอาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ดังนั้นอั๊วมั่นใจว่าอั๊วคิดถูกแน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net