Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องระงับประมูล 3G ชี้ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งผู้ฟ้องคดี และให้จำหน่ายคำร้องออกจากสารบบ ด้าน กทค.คาดเริ่มกระบวนการให้ใบอนุญาตเอกชนไม่เกิน 20 ธ.ค.นี้ ส่วน TDRI  จี้ ปปช.ตรวจสอบประมูล 3G ต่อ กันความเสียหายจากการออกแบบประมูลอื่นๆ ในอนาคต

 
 
วันนี้ (3 ธ.ค.55) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและไม่คุ้มครองชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications-IMT) ย่าน 2.1GHz พ.ศ.2555 พร้อมทั้งออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ศาลปกครองระบุเหตุผลว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีสิทธิและหน้าที่ เสมือนหนึ่งผู้ฟ้องคดี และให้จำหน่ายคำร้องออกจากสารบบ
 
กรณีดังกล่าว ทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 3G สามารถดำเนินการต่อได้ทันที ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. คาดว่าจะเริ่มกระบวนการให้ใบอนุญาตเอกชนไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค.2555
 
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานข่าวว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ได้มีการพิจารณาแนวทางไว้ 3 ประการคือ 1.หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กทค.ก็จะหยุดกระบวนการทุกอย่าง และพิจารณายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป และในระหว่างนั้นก็จะเริ่มกระบวนการร่างหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3Gใหม่ 2.หากศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และไม่คุ้มครอง กทค.ก็จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่เอกชนทั้ง 3 รายทันที โดยคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตภายในวันที่ 20 ธ.ค.55 นี้
 
และแนวทางที่ 3 คือหากศาลมีคำสั่งรับฟ้อง แต่ไม่คุ้มครองชั่วคราว ทางสำนักงานกสทช.ก็จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมทันที เพื่อพิจารณาว่า หาก กทค.ออกใบอนุญาตให้แก่เอกชน ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการรับรองมติคือในวันที่ 18 ม.ค.2556 จะดำเนินการได้หรือไม่ เพราะตามประกาศ.กสทช.จำเป็นต้องออกใบอนุญาตให้แก่เอกชน แต่ในเมื่อคดียังไม่สิ้นสุด กทค.ควรจะดำเนินการต่อในลักษณะใด ถึงจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.55 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นเอกสารให้ศาลปกครองทำการพิจารณาและวินิจฉัย หลังมีมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ต่อศาลปกครอง กรณีที่มีผู้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ว่ามีความไม่​ชอบธรรม
 
โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีความเห็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่จัดขึ้นโดย กสทช.นั้น เข้าข่ายมีลักษณะไม่ใช่การแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยมองว่าเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับ 3 บริษัทใหญ่ โดยปราศจากการแข่งขัน จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งชะลอการออกใบอนุญาตไปก่อน และทำการพิจารณาและวินิจฉัย ว่าการจัดประมูลดังกล่าวเป็นไปโดยชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ว่าด้วยการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่
 
 
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก มติชนออนไลน์หนังสือพิมพ์แนวหน้า, วอยซ์ทีวี
 
 


TDRI จี้ ปปช.ตรวจสอบประมูล 3G ต่อ กันความเสียหายจากการออกแบบประมูลอื่นๆ ในอนาคต

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้อง กสทช. ในการประมูล 3G เนื่องจากผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้องว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นข่าวดีในแง่ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการ 3G ในเวลาอีกไม่นาน อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวได้ทำให้เห็นถึงความยากลำบากของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของ กสทช. ทั้งที่เชื่อได้ว่า มีความผิดปรกติหลายประการในการออกแบบการประมูล ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชน

อย่างไรก็ตาม สมเกียรติ แสดงความเห็นว่า กสทช. ไม่ควรแอบอ้างว่า การไม่รับฟ้องดังกล่าวเป็นการรับรองความถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายของการออกแบบการประมูลของตน เนื่องจากศาลปกครองยังไม่ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว  ในทางตรงกันข้าม กสทช. ควรใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการออกแบบการประมูลในอนาคตให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนซ้ำอีก

ขณะที่ ปปช. ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นอิสระในการตรวจสอบการประมูล 3G ที่เหลืออยู่ ควรเร่งพิจารณากรณีร้องเรียนเรื่องความผิดปรกติในการประมูลดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการออกแบบการประมูลที่สร้างความเสียหายแก่รัฐและประชาชนในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต

และศาลปกครองควรให้คำอธิบายว่า ในอนาคตประชาชนจะสามารถตรวจสอบการออกกฏและการกำกับดูแลของ กสทช. ได้อย่างไร เนื่องจากศาลตีความผู้เสียหายที่สามารถฟ้องคดีในความหมายแคบ และแนะนำให้ผู้ฟ้องคดีในช่วงแรกให้ไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ต่อมาก็มีคำวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจในการฟ้องคดี จนนำมาสู่การไม่รับคำฟ้อง

นอกจากนี้ สมเกียรติเสนอด้วยว่า ศาลปกครองควรเร่งพิจารณาคดีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่ค้างอยู่โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net