Skip to main content
sharethis

ตั้งกลุ่มจับตาการทำงาน กสทช. โชว์งานวิจัย หักล้างข้อมูล กสทช. ชี้ออกแบบการประมูล 3G มีปัญหา รัฐเสี่ยงสูญรายได้ร่วม 1.7 หมื่นล้านบาท

(3 ต.ค.55) คณะทำงานติดตามการทำงาน กสทช. ร่วมกับศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จัดการเสนาเรื่อง “1 ปี กสทช.กับการประมูลคลื่น 3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยอิสระด้านการสื่อสาร นำเสนองานวิจัยเรื่อง “3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?” โดยกล่าวถึงจุดยืนของคณะทำงานว่า ต้องการให้เกิดการประมูล 3G โดยเร็วเช่นเดียวกับภาคส่วนอื่น เพราะคำนึงถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ว่าประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับ-ส่งข้อมูลข่าวสารด้วยความเร็วสูงที่แท้จริง ได้ใช้บริการแอปพลิเคชันใหม่ๆ และประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ว่าภาคโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะเป็นการปฏิรูประบบโทรคมนาคมให้หลุดพ้นวงจรธุรกิจการเมืองระบบสัมปทานแบบเดิม และรัฐก็จะได้เงินประมูลเข้ารัฐหลายหมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่กล่าวมาไม่ได้หักล้างข้อเท็จจริงว่า กสทช.มีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 GHz เพื่อให้บริการ 3G โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติและต้องทำด้วยความโปร่งใสด้วย

วรพจน์ อธิบายว่า กสทช.เปิดให้มีการประมูลคลื่นทั้งหมด 45 MHz โดยแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ชุด ชุดละ 5 MHz เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูล ต่อมา กสทช.ปรับลดเพดานถือครองคลื่นความถี่จาก 20 MHz เป็น 15 MHz โดยกำหนดราคาตั้งต้นชุดละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 รายได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู ซึ่งคาดว่าผู้ประมูลจะได้คลื่นไปเท่ากันที่คนละ 15 MHz ด้วยเงินในราคาเท่ากับหรือใกล้เคียงกับเงินตั้งต้น เพราะไม่มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้

โดยงานวิจัยนี้เป็นการเสนอผลวิเคราะห์หักล้างข้อมูลของ กสทช. ซึ่งพยายามสื่อสารผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ใน 4 ประเด็น คือ 1.การปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่จาก 20MHz เหลือ 15MHz เพื่อป้องกันการผูกขาด 2.ราคาตั้งต้นประมูล 4,500 ล้านบาทเป็นราคาที่เหมาะสม 3.ราคาการประมูลที่สูงเกินไปจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน และ 4.ผู้เข้าประมูลจะแข่งกันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่

วรพจน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 ซึ่ง กสทช.ระบุว่า จำเป็นต้องลดเพดานถือครองคลื่นเหลือ 15MHz เนื่องจากเกรงว่าผู้ประกอบการสองเจ้าใหญ่ จะทุ่มประมูลคลื่นไปรายละ 20 MHz และอีกรายจะได้ไปเพียง 5 MHz ซึ่งไม่เพียงพอต่อการแข่งขันและให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สภาพตลาดเหลือผู้ให้บริการหลักเพียงสองรายนั้น คณะทำงานโต้แย้งว่า การแข่งขันให้บริการข้อมูลความเร็วสูงในตลาดไม่ได้ขึ้นกับคลื่น 2.1 GHz ที่กำลังเปิดประมูลเท่านั้น แต่ยังมีคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ทรูได้ไปภายใต้สัญญาร่วมกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยไม่ต้องเสียค่าประมูลคลื่น ดังนั้น การที่เจ้าเล็กได้คลื่นไปเพียง 5 MHz ก็ไม่ได้แปลว่าจะแข่งขันไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีสูตรประมูลอื่นที่ดีกว่า เช่น การกำหนดเพดานขั้นสูงที่ 20 MHz และเพดานขั้นต่ำที่ 10 MHz ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การประมูลสองแบบ คือ 15-15-15 และ 20-15-10 หรือการกำหนดใบอนุญาตตายตัว 20-15-10 ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันประมูลแล้ว ยังป้องกันผู้ประกอบรายหนึ่งได้คลื่นไปเพียง 5 MHz
    
ประเด็นที่ 2 กสทช.อ้างว่าราคาตั้งต้นการประมูล 4,500 ล้านบาท มาจากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่ง กสทช.เป็นผู้ว่าจ้างให้ทำ โดยรายงานดังกล่าวเสนอว่า มูลค่าคลื่นความถี่ขนาด 5 MHz ตามราคาตลาดอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท และเสนอว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่ควรต่ำกว่า 67% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น โดยที่ตัวเลข 67% นี้ได้มาจากค่าเฉลี่ยสัดส่วนระหว่างราคาตั้งต้นกับราคาชนะการประมูลของ 13 ประเทศ ต่อมามีการปรับตัวเลข 67% มาเป็น 70% ตามอัตราเงินเฟ้อ และเมื่อนำมูลค่าคลื่นมาคูณกับ 70% (6,440 x 0.7 = 4,508 ล้านบาท) จึงเป็นที่มาของตัวเลขราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท

กรณีนี้มีคำถามว่า ตัวเลข 67% มีความเหมาะสมในการคำนวณราคาตั้งต้นการประมูลหรือไม่ เพราะการประมูลในแต่ละประเทศมีลักษณะเฉพาะของตลาดโทรคมนาคม จำนวนผู้เข้าร่วมประมูลและวิธีการประมูลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้รายงานของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ชี้ชัดว่า สัดส่วนราคาตั้งต้นต่อราคาที่ชนะควรมีค่าสูงขึ้นในตลาดที่มีผู้ให้บริการน้อยราย โดยเสนอว่าในกรณีที่มีผู้ประมูล 3 ราย สัดส่วนที่สัมพันธ์กันควรอยู่ที่ 82% ซึ่งทำให้ตัวเลขราคาประมูลขั้นต่ำขยับมาอยู่ที่ประมาณ 5,280 ล้านบาท

วรพจน์ระบุว่า นอกจากความไม่เหมาะสมในวิธีการคำนวณมูลค่าขั้นต่ำดังกล่าว ยังมีเหตุผลหลัก 3 ประการ ที่สนับสนุนว่าควรมีการปรับเงินประมูลตั้งต้นให้สูงขึ้น เนื่องจาก หนึ่ง งานวิจัยของเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่ได้คำนึงผลประโยชน์จากการโอนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ที่ผู้ประกอบการจะประหยัดเงินส่วนแบ่งรายได้ได้มาก สอง 3G จะกลายเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพราะในขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียงมีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้นทรงตัว รายได้จากการให้บริการที่ไม่ใช่บริการเสียง (non-voice) ของเอไอเอสและดีแทค เติบโตเกินกว่า 30-40% ซึ่งช่วยให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะยิ่งทำกำไรได้มากยิ่งขึ้นจากการให้บริการ 3G ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วและปริมาณการส่งข้อมูล และสาม ผู้บริหารของบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สองเจ้าหลัก คือ เอไอเอส และ ดีแทค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้กันเงินไว้สำหรับการประมูลคลื่นจำนวน 15 MHz ไว้ประมาณ 17,000 ล้านบาท  และ 15,000 ล้านบาท  ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าว การที่ กสทช. เลือกกำหนดค่าประมูลตั้งต้นเพียง 4,500 ล้านบาท ทั้งที่ภาคเอกชนมีแรงจูงใจสูงมากเมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ และคาดได้ว่าจะไม่มีการแข่งขันประมูลมากนัก จึงถือเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ และปล่อยให้ประเทศชาติเสียรายได้เข้ารัฐถึง 17,000 ล้านบาท


ที่มา: งานวิจัยเรื่อง “3G ภารกิจเพื่อชาติหรือเพื่อใคร?”
 

ประเด็นที่ 3 กสทช.บอกว่า ราคาประมูลที่สูงจะกลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่ผู้ประกอบการจะนำไปบวกในค่าบริการและกลายเป็นภาระกับผู้บริโภค กรณีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เงินที่ใช้สำหรับการประมูลจะถูกคิดคำนวณจากกำไรส่วนเกินที่ผู้ประกอบการคาดว่าจะได้รับหลังจากหักต้นทุน ต้นทุนส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนจมและไม่ส่งผลกระทบกับอัตราค่าบริการ และรายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เองก็ยืนยันว่าราคาค่าประมูลไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่า กสทช.เลือกใช้ข้อมูลจากรายงานเฉพาะที่เป็นประโยชน์กับตัวเองหรือไม่

ประเด็นที่ 4 กสทช.บอกว่าจะเกิดการแข่งขันประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ เนื่องจากการเลือกช่วงคลื่นที่ติดกับผู้ประกอบการรายอื่นเพียงด้านเดียวจะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้คลื่นความถี่ได้เต็มประสิทธิภาพกว่า ซึ่งคณะทำงานแย้งว่า จากการศึกษาของ กสทช. เองก็ไม่ปรากฏข้อมูลที่ยืนยันว่าสิทธิในการเลือกย่านความถี่จะช่วยให้เกิดการแข่งประมูลดังที่กล่าวอ้างและประสบการณ์จากสวิตเซอร์แลนด์พบว่าการแข่งขันเลือกย่านความถี่ส่งผลให้ราคาสุดท้ายสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.5% เท่านั้น ไม่เกิดการแข่งขันมากเท่าที่กล่าวอ้าง

ส่วนการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3G วรพจน์กล่าวว่า มี 3 ประเด็นได้แก่ หนึ่ง กสทช.ไม่เคยเผยแพร่รายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ที่ใช้อ้างมาตลอดให้สังคมรู้ที่มาที่ไปของตัวเลขที่แท้จริงและระเบียบวิธีวิจัยเลย ซึ่งสุ่มเสี่ยงผิดมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.องค์การฯ ที่กำหนดให้ กสทช.ต้องตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ

สอง กระบวนการจัดทำประกาศก็ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พ.ศ.2548 ซึ่งระบุว่าต้องจัดทำประกาศเชิญชวนอย่างน้อย 15 วัน รับฟังความเห็นอย่างน้อย 30 วัน โดยสำนักงาน กสทช. กลับเผยแพร่ร่างประกาศฯ วันที่ 28 มิ.ย.55 กำหนดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 28 ก.ค.55 คือมีเวลาเพียง 30 วันเท่านั้น

สาม ภายหลังจากการรับฟังความเห็นและมีการปรับแก้ไขร่างประกาศฯ ในประเด็นสำคัญสองประเด็น คือ การลดเพดานประมูลคลื่นความถี่เหลือ 15 MHz และการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่นนั้น ปรากฏว่า กสทช.ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายในองค์กร เพื่อให้ความเห็นก่อนที่จะนำเสนอวาระเข้าสู่การพิจารณาของ กทค.

วรพจน์ กล่าวย้ำว่า คณะทำงานสนับสนุนการประมูล 3G แต่ กสทช.ก็มีหน้าที่ออกแบบการประมูลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ชาติควรได้รับจากการให้ภาคเอกชนใช้คลื่นความถี่อันเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่ากระบวนการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกลับขาดความโปร่งใส ซึ่งเท่ากับ กสทช.ล้มเหลวในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

ด้าน สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานกรรมการบริหารศูนย์ศึกษากฎหมายฯ กล่าวว่า คณะทำงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กสทช.เข้าใจว่า การทำงานของ กสทช.เป็นเรื่องยาก จึงพยายามนำความรู้มาทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ส่วนการดำเนินการฟ้องร้องเพื่อยับยั้งการประมูลนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงาน แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนกลุ่มใดก็ตามที่คิดว่าตัวเองเสียประโยชน์จากการทำงานของ กสทช.

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นที่นำเสนอวันนี้แล้ว สุวรรณา ระบุว่า คณะทำงานจะจับตาอีก 4 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างการทำงานของ กสทช. ซึ่งมีมากถึง 43 ชุด โดยที่บางชุดก็ทำงานซ้ำซ้อนกัน สอง งบของ กสทช. ซึ่งจะมีจำนวนมหาศาลจากการคิดค่าธรรมเนียมการใช้คลื่นความถี่ และมีมูลค่าเทียบเท่ากับกระทรวงหนึ่งๆ สาม ประสิทธิภาพในการรับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ต้องนำความเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ และ สี่ การสื่อสารของ กสทช.ต่อสังคม ว่าใช้งบมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปเพียงใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net