Skip to main content
sharethis
ผวาเส้นทางเดินเรือถ่านหิน หวั่นกระทบทรัพยากรทะเล โวยกฟผ.โฆณาชวนเชื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ ซัด ‘บริษัท-มหาวิทยาลัย’ อย่าชี้นำ
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่ศาลาเอนกประสงค์หมู่ที่ 3 ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ภายใต้โครงการด้านพลังงาน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ โดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ซึ่งมีนายอำเภอเหนือคลอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจากตำบลคลองขนาน ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง  ร่วมประมาณ 30 คน
 
นางวรัญญา ธรรมปิลันธน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนาน กล่าวในเวทีว่า ตนเป็นคนบ้านแหลมกรวด ตำบลคลองขนาน  เมื่อมองดูแล้ว ไม่ว่าสร้างท่าเรือที่ปกาสัย เรือเล็กวิ่งจำนวนมากเที่ยว หรือที่สะพานช้าง ที่มีเรือขนาดใหญ่ แต่วิ่งน้อยเที่ยว จะส่งผลกระทบต่อท่าเรือท่องเที่ยวไปเกาะศรีบอยา และการทำประมงพื้นบ้านด้วย หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น และมีอาชีพอะไรมารองรับ
 
นายธนยศ หลานแลงส้า ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลเกาะศรีบอยา กล่าวในเวทีว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการให้ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผ่านนักวิชาการจากบริษัท มหาวิทยาลัย มีการโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควรจะศึกษาถึงผลกระทบกับชุมชนขนาดไหน อย่างเช่น  เมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คลังน้ำมัน ท่าเรือถ่านหิน เส้นทางเรือลำเลียงถ่านหิน รวมถึงการสร้างท่าเรือสะพานช้าง ทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจะต้องถูกทำลาย
 
นายธนยศ กล่าวต่อในเวทีอีกว่า ความกว้างของเรือขนถ่านหินที่กินน้ำลึกอีกทั้งร่องน้ำขึ้นอยู่กับน้ำขึ้น น้ำลง และการเดินเรือ 4 เที่ยวต่อวันจากเกาะปอ ไปคลองเพลา จำเป็นจะต้องขุดลอกคลอง แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะศรีบอยา ตำบลคลองขนาน ไม่รวมถึงเรือขนสินค้า เรือท่องเที่ยว วิ่งอยู่ 70 เที่ยวต่อหนึ่งวัน เรือขนาดใหญ่ขนถ่านหินกินความลึกถึง 10 เมตร อาจทำให้เวลาเดินเรือมีคลื่นสูงส่งผลให้มีการกัดเซาะชายฝั่ง
 
“ถ่านหินซับบิทูมินัส ที่ใช้มีความสะอาดแค่ไหน เวลาขนส่งถ่านหินหากหล่นลงไปในทะเล เมื่อกุ้ง หอย ปู ปลา กินเข้าไป หากชาวบ้านกินปลาเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไรคนเกาะศรีบอยาต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาขอมูล ไม่ใช่ชี้นำ แต่ขอให้ศึกษาพื้นที่จริงๆ ถ้าหากพบว่ามีผลกระทบมากก็น่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในที่ที่เหมาะสม ในระยะยาวผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน น่าจะมีปัญหาเรื่องเรือขนถ่านหิน คราบน้ำมันเรือ และทำลายเครื่องมือการประมงของชาวบ้าน ไม่อยากให้นำเรื่องกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามาล่อชาวบ้าน” นายธนยศ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net