Skip to main content
sharethis

(16 ส.ค.55) ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานปี 2555 หลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง (กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า คสรท.ได้สำรวจผู้ใช้แรงงานใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง จำนวน 2,516 คน ครอบคลุม 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ ไฟฟ้า ยานยนต์ สิ่งทอ ปิโตรเลียมเคมีภัณฑ์ และธนาคารและการเงิน

โดยพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6 นายจ้างปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทหลังเดือนเมษายน 2555 ตามที่รัฐบาลประกาศ ขณะที่ร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้าง

ชาลีกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานทั้งแบบรายคนและรายครอบครัว ในช่วง ส.ค.54 กับ พ.ค.55 พบว่า ทั้ง 8 พื้นที่ที่สำรวจ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยค่าใช้จ่ายในปี 54 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 348.39 บาทต่อวัน ส่วนปี 55 เท่ากับ 462.31 บาทต่อวัน ขณะที่รายครอบครัวในปี 54 เท่ากับ 561.79 บาทต่อวัน และในปี 55 เท่ากับ 740.26 บาทต่อวัน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสองปี พบว่า เพิ่มขึ้น 113.92 บาท หรือร้อยละ 32.7

ด้านค่าใช้จ่ายรายเดือน ในปี 54 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 10,451.7 บาท ส่วนปี 55 เท่ากับ 13,869.3 บาท และรายครอบครัวปี 54 เท่ากับ 16,853.7 บาท ในปี 55 เท่ากับ 22,207.8 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสองปี พบว่า เพิ่มขึ้น 178.47 บาท หรือร้อยละ 31.77


ที่มา: คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ชาลี กล่าวว่า นอกจากนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้สิน เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% โดยเป็นหนี้จากการกู้เงินนอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ และหนี้บัตรเครดิต

ยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการอำนวยการ คสรท. กล่าวว่า จากการสำรวจมีแรงงาน ร้อยละ 23.4 ที่มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข เช่น นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน และบางรายไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนี่สะท้อนถึงการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้ โดยปล่อยให้การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นการตัดสินใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ยงยุทธเรียกร้องด้วยว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง เพื่อไม่ให้ผู้ใช้แรงงานยิ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ บางจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน เช่น สมุทรปราการกับชลบุรี กลับมีค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.76 ต่อปี แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.57 ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ เสนอว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศ

ยงยุทธเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมเพื่อรองรับแรงงานกลุ่มอื่นๆ เช่น แรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างแต่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะค่าครองชีพและราคาสินค้าที่สูงขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่า คสรท.ยังสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป แต่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้

ทั้งนี้ ยงยุทธยังเรียกร้องให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด เพื่อให้มีการปรับค่าจ้างที่สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยจากการสำรวจของ คสรท.พบว่า ค่าจ้างที่จะเพียงพอสำหรับแรงงาน 1 คนนั้นอยู่ที่ 348 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากจะให้เพียงพอสำหรับลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัวตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จะต้องอยู่ที่ 561 บาทต่อวัน

ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เสนอว่า คณะอนุกรรมการค่าจ้างนั้นควรมีชุดเดียว เพราะในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามประสบการณ์ทำงาน โดยแยกตามประเภทอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน

ส่วนกรณีที่มีเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบรายย่อยระบุว่าประสบปัญหาจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ธนพรกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรต้องดูที่มาของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย เนื่องจากการจ้างงานปัจจุบันสลับซับซ้อน บางรายเป็นการจ้างเหมาช่วงจากสถานประกอบการรายใหญ่ ถ้าเช่นนี้ ถามว่าจะไม่มีอำนาจจ่ายจริงหรือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net