Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านการเข้าถึงยาทั่วโลกเฮลั่น จีนออกระเบียบเตรียมพร้อมทำซีแอล ตามหลังอินเดีย ชี้หลายประเทศขยับตัวต้านการผูกขาดด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา หวั่นรัฐสภาไทยผ่านร่างกรอบเจรจา WTO แบบตีเช็คเปล่า 

11 มิ.ย. กรุงเทพฯ จากสถานการณ์ที่หลายประเทศเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเนื่องจากมีราคาแพงมากและยังมีการผูกขาดด้วยระบบสิทธิบัตร ทำให้ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดเกิดใหม่

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อินเดียได้ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) โดยให้บริษัทยาชื่อสามัญมีสิทธิผลิตยา sorafenib ที่ใช้รักษามะเร็งตับและไตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคายาลดลงจาก 280,000 รูปี เหลือเพียงแค่ 8,800 รูปี จากประกาศดังกล่าว พบว่า บริษัทยาต้นแบบได้เสนอลดราคายารักษามะเร็งอีกหลายตัวจากหลักแสนเหลือหลักพันรูปีเพื่อให้คนอินเดียเข้าถึงยามากขึ้นและหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลอินเดียประกาศซีแอล ทั้งนี้ ล่าสุด รัฐบาลจีนเพิ่งออกระเบียบซึ่งกำหนดแนวทางการประกาศบังคับใช้สิทธิในกรณีความฉุกเฉินและเพื่อผลประโยชน์แห่งสาธารณะ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เช่นกัน

“อันที่จริง พรบ.สิทธิบัตรของจีนที่ได้แก้ไขให้เป็นไปตามองค์การการค้าโลกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2552 อย่างไรก็ตาม การออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำซีแอลเพิ่งทำเสร็จและมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ความน่าสนใจอยู่ที่รัฐบาลจีนกำลังสนใจที่จะทำซีแอลในยาทีนอฟโฟเวีย ซึ่งเป็นต้านไวรัสเอชไอวีที่ติดสิทธิบัตรในจีน และแม้จะมีความพยายามขออนุญาตใช้สิทธิโดยสมัครใจ แต่จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการผลิตยาชื่อสามัญกลับไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทกิลิแอด เจ้าของสิทธิ เชื่อว่า หากการเจรจาลดราคายาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนไม่ประสบความสำเร็จ จีนจะประกาศซีแอลกับยาตัวนี้แน่นอน ทั้งนี้เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมของหน่วยงานสหประชาชาติ นักวิชาการและภาคประชาสังคมในเอเชีย จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ UNAIDS และ UNDP ก็ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้กลไกยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยาและยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำความตกลงการค้าเสรีต่างๆที่จะมีผลต่อการเข้าถึงยา” http://www.unaids.org/en/resources/presscentre/featurestories/2012/june/20120601tripsftas/

นอกจากนี้ ผู้จัดการแผนงาน กพย. ยังเปิดเผยว่า ในการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจอย่างมากกับงานวิจัย“สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของ กพย., สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเห็นว่า เป็นแนวทางที่ดีในการจัดทำคู่มือตรวจสอบสิทธิบัตรเพื่อป้องกันการผูกขาดและทำให้ยามีราคาแพง ซึ่งล่าสุดอาร์เจนติน่าได้ออกคู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรตามแนวทางนี้เพื่อใช้บังคับแล้ว

ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการกำกับทิศของแผนงาน กพย. กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างหรือกำลังจะเข้าสู่การเจรจาการค้าเสรีมีความกังวลอย่างมากต่อข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา ซึ่งในไทยเองงานวิจัยที่ศึกษาจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ พบว่า เพียงแค่เรื่อง “การผูกขาดข้อมูลทางยา” หรือ  Data Exclusivity (DE) จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับการสาธารณสุขของไทย เพราะจะเป็นการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยจะให้มีการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก 5-13 ปี ทั้งๆ ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรอยู่แล้ว 20 ปีตามกฎหมายสากลและไทย

“หากไทยต้องยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา 5 ปี และ 10 ปี จะส่งผลให้ใน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดผลกระทบ คือ ราคายาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน ร้อยละ 13 และ 27 ตามลำดับ, ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน 190,682.94 และ 325,264.49 ล้านบาท ตามลำดับ,ส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่า 38,800.30   และ 94,586.44 ล้านบาท ตามลำดับ และนี่ทำให้ข้อสรุปของงานวิจัยผลกระทบของทริปส์พลัสชิ้นนี้ระบุว่า “การผูกขาดข้อมูลทางยา” คือข้อเรียกร้องแบบทริปส์พลัสที่ร้ายแรงที่สุด”

รศ.ดร.จิราพร ค่อนข้างเป็นห่วงกับการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ซึ่งจะมีการพิจารณากรอบการเจรจาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับองค์การการค้าโลก เพราะเขียนกรอบไว้กว้างมาก แทบไม่สามารถช่วยผู้เจรจาของไทยให้ป้องกันผลประโยชน์สาธารณะของประเทศได้เลย

"การทำร่างกรอบการเจรจาฯใดๆ ควรมีสาระสำคัญ ประเด็นจุดยืนที่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์ ซึ่งต้องไปเจรจาให้ได้ และหากมีประเด็นใดที่ประเทศชาติจะเสียประโยชน์ จะต้องมีจุดยืนระบุชัดเจนว่า ประเด็นเหล่านี้ยอมไม่ได้ ไม่ใช่ให้รัฐสภาอนุมัติร่างกรอบเจรจาแบบ ตีเช็คเปล่า เช่นนี้ เช่นในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสหรัฐ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น และที่กำลังจะกลับเข้ามาเจรจาใน WTO จะเป็นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่าทริปส์พลัสทั้งสิ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุขของไทยอย่างรุนแรง ดังนั้น กรอบการเจรจาต้องมีสาระสำคัญกำกับชัดเจน กล่าวคือ ต้องไม่เจรจาในเนื้อหาที่เกินไปกว่าความตกลงการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือความตกลงทริปส์ เมื่อปี1991 (2544)" 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net