Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(1)

 
วันที่ยี่สิบพฤษภาคมนี้ที่จริงน่าจะเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบสามสิบห้าปีของการที่พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) หรือ Communist Party of India( Marxist): CPI(M)[1]เป็นรัฐบาลปกครองรัฐเวสต์ เบงกอลของอินเดีย หากเป็นเช่นนั้นจริงๆผู้เขียนคงจะหาอะไรๆอันเป็น “สัญลักษณ์”ของ “ค้อนกับเคียว”เป็นของฝากให้กับเพื่อนๆที่เมืองไทยได้ไม่ยาก แต่กาลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะวันนี้กลายเป็นการฉลองครอบรอบหนึ่งปีที่พรรคการเมืองแนวเสรี-นิยมอย่างพรรคตรีนามูล คองเกรส (Trinamool Congress)ฉลองครบรอบการเป็นรัฐบาลในรัฐเวสต์เบงกอลไปเสียแล้ว ....ค้อนกับเคียวไม่ได้หายไปไหนหากแต่(เริ่ม)กลายเป็น “ของต้องห้าม”ในรัฐเวสต์ เบงกอล
 
(2)
 
ที่จริงมีสัญญาณที่เริ่มส่อให้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) กำลังจะหมดความนิยมในเวสต์เบงกอล เริ่มเมื่อ 6 ปีก่อนเมื่อพรรคฯมาสะดุดขาตนเองจากการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างนโยบาย“ปฏิวัติเขียว”และหันไปส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมในตอนนั้นที่สำคัญก็คือคือโรงงานรถยนต์อีโค-คาร์ “ ตาต้า นาโน” (Tata Nano) ในตอนนั้นโดยรัฐบาลเวสต์ เบงกอลจะทำการเวนคืนที่ดินของชาวนามาเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตนานดิกราม ซิงกรู ปลายปี ค.ศ. 2006 จนถึงต้นปี ค.ศ.2007 รัฐบาลเวสต์ เบงกอลได้ใช้ความรุนแรงในการขับไล่ชาวนาออกจากพื้นที่นาที่จะปฏิรูปเป็นเขตอุสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นทั้งปัญญาชน นักเขียน นักการเมืองและนักศึกษาออกมาเดินเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกระทำดังกล่าว
 
ผลกระทบต่อเนื่องจากกรณีของนานดิกรามและซิงกรูที่ดูเป็นอะไรที่เป็นออกจะเป็นทางการ ก็คือการพ่ายแพ้การเลือกตั้งใหญ่สองครั้ง คือการเลือกตั้งโลกสภา (the Lok Sabha)ในปี ค.ศ. 2010 และการเลือกตั้งสภารัฐเวสต์เบงกอลในปี ค.ศ. 2011 ที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิตส์)แทบไม่เหลือที่นั่งทั้งในโลกสภาของรัฐบาลกลางที่กรุงนิว เดลลีและสภาของรัฐเวสต์เบงกอลเองอีกเลย[2] พร้อมๆกันนั้นทำให้พรรคตรีนามูลคองเกรสซึ่งเป็นพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีผู้นำหญิงอย่างมามาตา บานาจี (Mamata Bannerjee) เป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลาย และกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีระดับความสำคัญระดับชาติไปในทันที เพราะหลังจากนำพรรคตรีนามูลชนะการเลือกตั้งโลกสภาในปี 2010 นั้นเธอ็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟของอินเดีย
 
แต่นั้นยังไม่ใช่เป้าหมายของเธอเมื่อเธอประกาศว่าชัยชนะที่เธอต้องการคือ “การถอนรากถอนโคนพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)ออกจากเวสต์เบงกอลให้ได้” เพื่อนๆชาวเบงกาลีเคยบอกกับผู้เขียนว่าสโลแกน “Anti-Communism” ของมามาตามีคนจำได้มากกว่าสโลแกนของพรรคตีนามูลที่ว่า “Ma, Mati, Manush” (Mother, Mati, People)เสียอีก ในอดีตมามาตาเคยเป็นนักเมืองของพรรคคองเกรส เคยลงสมัครเลือกตั้งในสภาของรัฐเบงกอลต่อสู่กับคู่แข่งจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯมาตลอด และที่สำคัญเลยมามาตาเคยถูกทำร้ายกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ฯในขณะกำลังปราศัยหาเสียงเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 แม้เธอจะชนะการเลือกตงในครั้งนั้น แต่พรรคคอมมิวนิสต์ฯก็ได้เป็นรัฐบาลยี่สิปปีให้หลังเธอกกลับมาทวงแค้นคืนได้สำเร็จในปี ค.ศ.2011 แม้ในขณะนั้นมามาตาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟของอินเดียและเป็นสมาชิกของโลกสภา แต่เธอประกาศไม่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภารัฐเวสต์ เบงกอล ขอช่วยหาเสียงให้ผู้ลงเลือกตั้งคนอื่นๆในพรรคจนพรรคเธอชนะท่วมท้น หลังจากนั้นเธอจึงลาออกจากการเป็นสมาชิกโลกสภาและรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟรับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเวสต์ เบงกอล สิ่งที่เธอทำไม่น่าจะมีคำอธิบายเป็นอื่นนอกจากว่ามันเป็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์ทางการเมือง”ของการล้มคอมมิวนิสต์ฯ สิ่งหนึ่งนี้ยืนยันได้ ก็คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริการฮิลลารี คลินตันประสงค์จะเยือนรัฐเวสต์เบงกอลในเดือนพฤษภาคมปีก่อนหลังพรรคตรีนามูลชนะการเลือกตั้ง แต่ถูกยับยั้งจากที่ปรึกษาของเธอว่า “จะเป็นการแทรกแทรงการเมืองภายในของอินเดีย” หากจะกล่าวแบบวาทการกรรมของโลกที่ “อุดมการณ์ทางการเมืองยังไม่ได้สูญสิ้น”การเยือนของเธอดูจะเป็นการออกหน้าออกตาเฉลิมฉลองชัยไปกับการชนะของโลกเสรีนิยมที่มีต่อโลกสังคมนิยมอะไรปานนั้น แต่โทษที!! เวสต์เบงกอล ไม่ใช่เวสต์เบอร์ลินเมื่อ ปี ค.ศ.1989 ทีนี้!! ปัญญาชน มาร์กซิสต์เสรีนิยมสนับสนุนขบวนการเหมาอิสต์ ในขณะที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ (มาร์กซิสต์)ไล่ล่าพวกเหมาอิสต์ ...ที่นี้ (เคย) “แดง”ทั้งรัฐ
 
(3)
 
แต่ในท้ายสุด หนึ่งปีให้หลังนางฮิลลารีก็ได้มาชื่นชมบรรยากาศการเมืองแบบเสรีนิยมในเวสต์ เบงกอลสมความตั้งใจ หลังจากพบกับนายกรัฐมนตรีบังคลาเทศที่กรุงดาร์กาเธอก็มุ่งตรงสู่โกลกาตาเพื่อใช้เวลาในวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคมพบกับผู้ว่าการรัฐเวสต์ เบงกอล กลุ่มเอ็นจีโอหญิง และเยาวชนสตรี หนังสือพิมพ์ประโคมข่าวว่าการมาของเธอนับเป็นครั้งแรกที่นักการเมืองระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยมาเยือนรัฐเวสต์เบงกอล แม้ไม่มีการรายงานถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการมาเยือน เพียงแต่แจ้งว่า “แวะพัก”ก่อนไปที่นิว เดลลี แต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในเวสต์รายการว่าหมายกำหนดการถูกเซทขึ้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการมาเยือนของเธอ แล้วยังย้ำว่าหากพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์)ยังคงครองอำนาจอยู่ “วันเช่นนี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้” ที่จริงฮิลลารีเคยมาโกลกาตาครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1997 ตอนมาเธองานศพแม่ชีเทราซากับประธนานาธิบดีคลินตัน ผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเธอสะดุดตากับธงแดง สัญลักษณ์ค้อนเคียวบนผนังอาคาร อนุเสาวรีย์เลนิน หรือถนนโฮจิมินต์ บ้างหรือเปล่า
 
อย่างไรก็ดี ดูข่างต่างๆในหนังสือพิมพ์จะยกให้กับบรรยากาศหลังพรรคคอมมิวนิสต์ล้มสลายที่ทำให้บรรยากาศของการลงทุน (จากนักลงทุนทั้งอินเดียและต่างชาติ) กำลังจะเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นในเวสต์ เบงกอล สำหรับการมาเยือนของฮิลลารีแม้จะมีการต้อนรับอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าการรัฐมามาตาที่อาคาร Write Building อันเป็นเหมือนที่ทำการของรัฐบาลเวสต์ เบงกอล แต่ก็ว่ากันว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่อง “ธุระทางการ”ระหว่างมามาตากับฮิลลารี หลังจากนั้นสองวันข่าวก็รายงานว่าในเวบไซต์ของสำนักกงสุลอเมริกันในอินเดียก็ปรากฏรายงานว่าคณะของฮิลลารีและบุคคลในรัฐบาลของเวต์เบงกอล ได้มีพูดคุยถึงการลงทุนของนักลงทุนอเมริกัน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมไอทีและการค้าปลีกในรัฐเวสต์ เบงกอล ซึ่งต่อมารายการดังกล่าวได้ถูกรัฐบาลเวสต์ เบงกอลขอให้ทางกงศุลอเมริกันลบออกจากเวบไซต์ การเชือเชิญนักลงทุนเข้ามาในเวสต์เบงกอลน่าจะเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” ที่สำคัญของรัฐบาลของมามาตา เมื่อรัฐเวสต์เบงกอลโดยเฉพาะกัลกัตตาตลอดช่วงที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งการสไตรค์ มีสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานย่อยๆที่เข้มแข็ง ขบวนการฝ่ายซ้ายต่อต้านทุนจักวรรดิ์นิยม ดังนั้น ที่ผ่านมาหากเทียบกับรัฐอื่นๆที่ผ่านมาเวสต์เบงกอลจึงดูไม่ค่อยมีบรรยากาศของการส่งเสริมการลงทุนมากนัก สิ่งสำคัญ “ที่ดิน”อันเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐบาลของมามาตายังไม่อยากแตะในตอนนี้
 
 
 (4)
 
โดยสรุปการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวสต์เบงกอลหลังยุคคอมมิวนิสต์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเวสต์ เบงกอลอย่างแน่นอน และผลต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของสหพันธรัฐอินเดียไม่มกก็น้อย แต่มันจะนำไปสู่มิติใดบ้างคงเร็วเกินไปที่จะกล่าวถึงหรือคาดการณ์ในขณะนี้ ผู้เขียนในฐานะคนนอกคงไม่อาจกล่าวอะไรได้ว่า 30 ปีกว่าที่พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) ปกครองเวสต์ เบงกอลมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็คิดว่าประชากรกว่า 90 ล้านของเวสต์ เบงกอลน่าจะรู้และเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเองไปเรียบร้อยแล้ว คุณป้ามามาตา บันนาจีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไปและสิ่งที่กำลังจะเกิดตามมาในรัฐเวสต์ เบงกอล
 


[1]ในอินเดียพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองถูกกฏหมายและมี 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย( Communist Party of India:CPI)ที่มีฐานเสียงในรัฐเคราล่า และพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์) ( Communist Party of India(Marxist):CPI(M))ที่อยู่ในเวสต์ เบงกอล
[2]ในกรณีนี้พรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)มีที่นั่งในโลกสภามาตลอดและบ้างสมัยร่วมยังจัดตั้งรัฐบาล กลาง-ซ้ายกับพรรคคองเกรสสำหรับในสภาเวสต์เบงกอลพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์)ครองเสียงข้างมาก มาตลอดตั้งแตปี ค.ศ.1977-2011 แต่กลุ่มที่รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลในรัฐเวสต์ เบงกอลจะเรียกว่า “แนวร่วมพันธมิตรฝ่ายซ้าย”หรือ “Left Front” อันประกอบไปด้วยพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย(มาร์กซิสต์) และพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นหลายพรรคในเขตเวสต์เบงกอล การรวมตัวดังกล่าวเพื่อต้านกระแสพรรคคองเกรส ดังนั้น “การเมือง”ในระดับชาติและระดับรัฐของอินเดียจึงค่อนข้างมีความซับซ้อนและไม่ได้ทีระนาบของความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net