Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคนที่วิเศษวิโส วิจารณ์ได้”

                                                        อั้ม (ไม่ใช่ดารา) เวปไซต์ประชาไท 15 พ.ค. 2555

“กับปุ่มกลางหลังที่มองไม่เห็นของคนอื่น ควรต้อง handle with care”

                                                        เกษียร เตชะพีระ, Facebook, 15 พ.ค. 2555

“ในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่มาคอย regulate ว่า ใครต้อง มี "ท่าทีแสดงออก" อย่างไร เพราะมันขัดกับธรรมชาติ ขัดความเป็นจริง และเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน”
                                                        สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, Facebook, 15 พ.ค. 2555

 

ดูเหมือนว่าข้อถกเถียงกรณีสาวโหนรูปปั้นปรีดีจะเกี่ยวพันกับ “เส้นแบ่ง” ระหว่างสิ่งต่าง ๆ บนฐานความชอบธรรมที่เรียกว่าเสรีภาพ

“เสรีภาพ” ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับการลบหลู่ดูหมิ่นหายไปจนเห็นแต่การวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียว

“เสรีภาพ” ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิทธิของเรากับสิทธิของเขาหายไปจนเห็นแต่สิทธิของเราเพียงฝ่ายเดียว

ถ้าเชื่อจอห์น ล๊อค ที่ว่า “อิสรภาพไม่ใช่เสรีภาพสำหรับให้ทุกคนกระทำตามต้องการ (อย่างที่เรารับฟังกันมา) (John Locke, Second Treatise of Government. p. 32) ข้อเสนอของเกษียร เตชะพีระที่แนะนำให้ “handle with care” น่าจะหมายถึงการพิจารณาเส้นแบ่งที่ว่าให้ถี่ถ้วนรอบคอบทั้งเนื้อหาและวิธีการก่อนที่จะใช้เสรีภาพของเราในชุมชนที่มีความหลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงการยัดเยียดสิ่งที่เรายึดมั่นว่าจริงกว่าด้วยกำลังให้กับสมาชิกร่วมชุมชน เพราะการใช้เสรีภาพนี้มีผลพวงโดยตรงต่อความสุขความทุกข์ ชีวิตและจิตใจของคนอื่น  

นอกจากนี้ การยัดเยียดความจริง/ความหมายของเราให้คนอื่นนี้ก็มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะว่า ประการแรก ความหมายเป็นนิยามร่วม ไม่สามารถบังคับกะเกณฑ์กันได้ ต่อให้ต้องการยัดเยียดและมีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ การยอมรับความหมายโดยสนิทใจก็ต้องผ่านการสร้างฉันทามติด้วยวิธีการต่าง ๆ และใช้เวลารอคอยอย่างเยือกเย็น ประการที่สอง ความหมายที่ฝังตัวลงไปในสังคมแล้วมีรากลึกพัวพันเกี่ยวโยงซับซ้อน การไปรื้อถอนอย่างหักหาญนั้นไม่ง่าย หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ผลที่ได้อาจจะตีกลับ หรือถ้าการรื้อถอนนั้นเกิดขึ้นจริงก็มักก่อเกิดเป็นบาดแผลเรื้อรังในสังคมรอการปะทุ  (ซึ่งหมายความว่าการรื้อถอนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง ทำได้แต่เพียงปิดทับเอาไว้) หรือไม่ก็จะทำลายความหมายทางอุดมการณ์บางประการที่คาดหวังในสัญญะนั้นลงไปจนสัญญะว่างเปล่าไร้ความหมายไปด้วย

ตัวอย่างของปัญหาประการแรกนั้น เห็นได้จากความเป็นสถาบันของสถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทยที่กว่าจะหยั่งรากลึกจนเป็น “ปุ่มกลางหลัง” ของคนในสังคมได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน เช่น ปรากฏการณ์ “เสื้อเหลือง” จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2549  ไม่ใช่ พ.ศ. 2516 หรือ พ.ศ. 2519 ตัวอย่างของปัญหาประการที่สองนั้น ในกรณีของการโหนรูปปั้นปรีดี วิธีการเช่นนั้นน่าจะมีผลในการทอนความศักดิ์สิทธิ์ของรูปปั้นน้อยมาก (เมื่อพิจารณาจาก ‘เม้นท์’ ที่มีต่อเจ้าของรูป) หรือถ้าคนในสังคมยินดีกับการโหนรูปปั้นปรีดี รูปปั้นนั้นคงไม่มีความหมายใดๆ มากไปกว่าม้าหมุนเด็กเล่นในสนาม ความหมายที่ถูกทำลายไป คงไม่ใช่เพียงแค่ความศักดิ์สิทธิ์แบบเจ้าพ่อเจ้าแม่ แต่คงรวมไปถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำของอุดมการณ์ทางการเมืองของท่านผู้ประศาสน์การด้วย

จะเป็นไปได้มากกว่า และดีกว่าไหม ถ้าค่อย ๆ ทอน ถอดถอนหรือรื้อสร้างความหมายผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนมีมติร่วมกัน

เพราะว่าอันที่จริงแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความจริงของเราจริงกว่า? หรือต่อให้จริงแล้วไง? โลกมันซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะอยู่ได้ด้วย “ความจริง” เพียงไม่กี่ชุดหรือไม่? การอยู่ร่วมกันโดยสันติของมนุษย์บนโลกควรประกอบด้วยอะไรบ้าง? ความจริงแห้งๆ ทื่อๆ อย่างเดียวพอไหม?

ดังนั้น “ความจริง” ที่เราค้นพบและ “เสรีภาพ” ที่เรามี/อ้าง ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เราใช้กำลังทำลายความหมายที่ชุมชนมีร่วมกัน

ในชุมชนหนึ่ง ๆ สมาชิกชุมชนแต่ละคนล้วนมีสิทธิและเสรีภาพของตนเองด้วย การใช้เสรีภาพของอย่างไร้ขอบเขตย่อมทำลายโอกาสในการใช้เสรีภาพของคนอื่น ๆ          

“เสรีภาพ” จึงกำเนิดจากความคิดที่จะพิทักษ์สิทธิของผู้อื่นก่อนการใช้เสรีภาพของตนเอง

การเรียกร้อง “เสรีภาพ” จึงต้องเริ่มต้นด้วยการคิดถึงสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการยัดเยียดความต้องการของตนเองไปให้ผู้อื่นจนไม่เหลือพื้นที่สำหรับความเป็นไปได้อื่นๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net