Skip to main content
sharethis

 

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง)

กระแสหนังสยองขวัญในตลาดฮอลลีวูดลดความนิยมไปลงมาเรื่อย ๆ ทุกปี ๆ ใครที่ตามดูหนังสไตล์นี้คงพบกับภาวะที่เดาเนื้อหาและตอนจบได้ เมื่อหนังมันไม่สามารถทำให้เกินไปกว่าที่คาดไว้ได้คนดูก็ไม่ค่อยประทับใจกันเสียเท่าไหร่

ความนิยมที่ลดลงของหนังสยองขวัญมิใช่พึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะช่วงต้นทศวรรษที่ 20 กระแสหนังสยองขวัญก็เกิดอาการอิ่มตัว ไม่สามารถทำรายได้และคว้าคำวิจารณ์ในแง่บวกได้มากนัก จนกระทั่งเวส คราเวนทำภาพยนตร์เรื่อง Scream ที่ได้ต่อยอดขนบของหนังแนวนี้ ทำให้ความนิยมหนังแนวฆาตกรรมวิ่งไล่ฆ่ากลับมาฮิตอีกครั้งจนมีซีรีย์และภาคต่อตามมาหลายเรื่อง

ท่ามกลางกระแสหนังฮีโร่อย่าง The Avengers ครองเมือง หนังสยองขวัญที่พาดคำโฆษณาอย่างไม่หวั่นเกรงเสียงวิจารณ์ว่าเบื่อหรือไม่กับการเดาตอนจบได้อย่าง The Cabin in the Woods ก็เข้าฉาย หนังได้รับคำชมในแง่บวกแง่ความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดเสียจนไม่ใช่หนังสยองขวัญเดิม ๆ อย่างที่เราเข้าใจ

The Cabin in the Woods เริ่มต้นแบบขนบของหนังสยองขวัญทั่วไป ดำเนินเรื่องด้วยกลุ่มวัยรุ่น 4-5 คน โดยแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์บุคลิกนิสัยเฉพาะตัวอย่างชัดเจน ทั้งหนุ่มผิวขาวหน้าตาดี หญิงสาวร่านเซ็กซ์ เนิร์ดสุดเพี้ยน ฯลฯ พวกเขากำลังเดินทางไปสู่สถานที่ลึกลับไม่คุ้นเคย แล้วก็เริ่มถูกฆ่า

ทว่าหนังเรื่องนี้ไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ กลายเป็นว่าเรื่องทั้งหมดถูกปั้นแต่งสร้างขึ้นด้วยองค์กรวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ต้องฆ่าบุคคลที่มีบุคลิกต่าง ๆ เซ่นบูชายัญแด่เทพใต้พิภพมิให้ต้องพิโรธลุกฟื้นขึ้นมาทำลายล้างโลก ดังนั้นสิ่งที่ตัวละครประสบล้วนแล้วแต่มีการวางแผนไว้ทั้งสิ้น แถมมีตัวเลือกให้เลือกมากมายว่าชะตากรรมของตัวละครจะดำเนินไปทางไหน คล้ายคลึงกับเรื่อง The Hunger Game เพียงแต่เรื่องนี้เป็นผีจริง

ณ จุดนี้แทบจะแยกไม่ออกเสียทีเดียวว่าความจริงในเรื่องคือชุดไหนอะไรอย่างไรกันแน่ เพราะความจริงถูกทับซ้อนกลายเป็นมีความจริงที่ซ้อนขึ้นมาเป็นความจริง มีสถานะที่เรียกกันในเชิงวิชาการด้านหลังสมัยใหม่ว่า Hyperreality ที่สำคัญเราบรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในเรื่องแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรคือความจริงกันแน่

และตั้งแต่เรื่องเปิดเผยให้รู้ว่ามีสิ่งซ่อนอยู่ภายใต้กลไกบ้านหลังนี้ ก็ถึงเวลาที่บอกกับตัวเองว่าทุกอย่างคงเกินไปจากที่เราคาดหวังไว้ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว ผมเองสนุกมากกับการทะลุทะลวงของพลอตเรื่องที่เราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย พอยิ่งดู The Hunger Game มาก่อนหน้านี้แทบกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้ได้บำบัดอาการซาดิสม์และแก้แค้นแทนชะตากรรมที่เหล่านักสู้ The Hunger Games ได้รับ (ก็เอาไปโยงกันได้นะครับ)

แต่ว่ากันตามจริงหนังเรื่อง The Cabin in the Woods ได้หยิบยืมเอาองค์ประกอบของหนังสยองขวัญยุคก่อนหน้านี้มาใช้มากมาย ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณอธิป คอลัมนิสต์อีกท่านของประชาไท เราเห็นตรงกันว่าหนังเรื่องนี้อุดมไปด้วย reference มากมาย ยิ่งใครดูหนังสยองขวัญมามากคงจะยิ่งรู้ว่าตอนนั้นนี้หรือสิ่งนั้นนี้ที่ปรากฎในหนังเชื่อมโยงมาจากเรื่องไหน และเมื่อดูจบก็คงสุขสมอารมณ์หมายมากกว่าคนธรรมดาปกติที่ไม่ได้เป็นแฟนเหนียวแน่นหนังทำนองนี้ คือลำพังเราสองคนที่ไม่ได้ติดตามหนังสยองขวัญมากก็ยัง ‘ฟิน’ พอสมควร

คุณอธิปเสนอว่าลักษณะตัวละครใน The Cabin in the Woods แทบจะก๊อปปี้การ์ตูนซีรีย์ The Scooby-Doo มาทั้งกระบิ จะไม่มีก็แค่เพียงหมาและตัวละครวัยรุ่นที่เป็นคนดำ ในซีรีย์สกูบี้ดูนี้จะประกอบด้วยสมาชิก 4 คน (ซึ่งล้วนเป็นคนขาวทั้งสิ้น) กับ 1 ตัว โดยสมาชิกจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวชัดเจนที่ในหนังแทบจะก๊อปคาแรคเตอร์กันมาเลย เพียงแต่ในการ์ตูนไม่มีฉากยั่วสวาทเท่านั้น

ท้องเรื่องแทบจะทุกตอนของสกูบี้ดู ชาวแก๊งนักสืบจะเดินทางไปทั่วแว่นแคว้นเพื่อค้นหาเรื่องลึกลับ เขาและเธอได้เจอเรื่องลึกลับทั้งผี ปีศาจมากมาย และเอกลักษณ์เด่นที่มีทุกตอนคือการวิ่งหนีผี ก่อนที่สุดท้ายจะเฉลยว่าเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดจากฝีมือคนที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องบ้าง คนดำบ้าง อินเดียแดงบ้าง เสียมาก

เมื่อเฉลยคนร้ายก็ต้องมีการเฉลยทริคสร้างผีและเหตุการณ์ลึกลับต่าง ๆ (โดยมากไม่ได้มีความสมจริงแม้แต่น้อย) กลายเป็นว่าเรื่องที่เราดูมาทั้งหมดล้วนถูกควบคุมโดยน้ำมือของมนุษย์ ไม่ต่างอะไรจากใน The Cabin in the Woods ที่ทุกรายละเอียดล้วนถูกบงการภายใต้ปลายนิ้ว

จะเห็นว่าไอเดียเรื่องหนังสยองขวัญที่ถูกมนุษย์ชักใยสร้างเรื่องขึ้นมามิใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าซีรีย์สกูบี้ดูนั้นเป็นการ์ตูนที่เรื่องเหนือจริงทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลความเป็นจริงในทุกกรณีย่อมทำให้คนไม่ตกตะลึงมากเท่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน The Cabin in the Woods

นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มจากเบื้องหลังการชม เอาเป็นว่าใครดู The Cabin in the Woods จบแล้วคิดถึงหนังสยองขวัญเรื่องไหนก่อนหน้านี้ว่าหนังได้หยิบยืมหรือล้อกับขนบหนังอย่างไรบ้างก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net