Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2  จี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องยุติการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่นไปเพื่อสนองนายทุนและภาคอุตสาหกรรม

 
วันนี้ (3 เม.ย.55) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 “กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องยุติการแย่งยึดที่ดินชุมชน เพื่อไปประเคนให้นายทุน” จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้โอกาสในช่วงเวลาปัจจุบันที่รัฐบาลยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการจัดการที่ดิน ปราบปรามชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั่วประเทศ โดยไม่ได้แยกแยะ พิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าชุมชนเหล่านั้นอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่า
 
ตั้งข้อสังเกตได้ว่า การปราบปรามครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในพื้นที่ป่า รวมทั้งเป็นการเปิดทางให้นายทุนเข้ามาทำธุรกิจการท่องเที่ยว และแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่นไปเพื่อสนองนายทุนและภาคอุตสาหกรรม
 
แถลงการณ์ระบุข้อมูลว่า ในส่วนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตั้งเป้าหมายจับกุมและรื้อถอนสวนยางพื้นที่หลายแสนไร่ให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน โดยระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิกำลังทหาร ตชด. ฝ่ายปกครอง ร่วมกันดำเนินการ
 
ในกรณีจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปฏิบัติการปราบปรามแล้ว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.55 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดได้จับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ในขณะที่นำหมากแห้งออกไปจำหน่าย แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความเนื่องจากเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน
 
ต่อมาวันที่ 30 มี.ค.55 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้จำนวน 50 นาย เข้าไปตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองเพียง 4 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ทั้งที่พื้นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้
 
แต่อีกด้านหนึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ กลับละเลยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในหลายพื้นที่ รวมถึงการปล่อยให้นายทุนชาวไทยและต่างชาติดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ สร้างโรงแรมหรูริมทะเลหลายแห่ง นอกจากนั้นยังมีแผนการเตรียมเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อให้กรมเจ้าท่าถมทะเลสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา และมีแผนให้กรมชลประทานสร้างเขื่อน 7 เขื่อนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.สตูล และจ.สงขลา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในเนื้อที่ 150,000 ไร่ ใน จ.สตูล และหลายหมื่นไร่ ในจ.สงขลา ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา
 
ขอเรียกร้อง ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด มีดังนี้ 1.รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน
 
2.กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องหยุดการดำเนินการปราบปรามชาวบ้าน และหันกลับมาทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่า โดยเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ 3.ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ต้องกำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานราชการอื่นภายใต้การบริหารงานของจังหวัดตรัง เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และ 4.สังคมต้องร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง และขอบเขตการใช้อำนาจรัฐของกรมอุทยานแห่งชาติฯ
 
 
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 2 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องยุติการแย่งยึดที่ดินชุมชน เพื่อไปประเคนให้นายทุน
 
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ประกาศจะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้แถลงนโยบาย ข้อ 5.4 ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะ “ปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างยั่งยืนโดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย...ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน” แต่จนถึงปัจจุบัน นโยบายเหล่านี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ฉกฉวยโอกาสในช่วงเวลาปัจจุบัน ปราบปรามชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในเขตป่าทั่วประเทศ โดยไม่ได้แยกแยะ พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ว่าชุมชนเหล่านั้นอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าหรือไม่ ในส่วนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตั้งเป้าหมายจับกุมและรื้อถอนสวนยางพื้นที่หลายแสนไร่ให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน โดยระดมเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วจากทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิกำลังทหาร ตชด. ฝ่ายปกครอง ร่วมกันดำเนินการ
 
กรณีจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ได้เริ่มปฏิบัติการปราบปรามแล้ว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2555 นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดได้จับกุมชาวบ้าน ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง 2 ราย ในขณะที่นำหมากแห้งออกไปจำหน่าย แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความเนื่องจากเห็นว่าเป็นวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2555 นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้จำนวน 50 นาย เข้าไปตัดฟันสวนยางของชาวบ้านจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินถือครองเพียง 4 ไร่ ในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู ม.1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง ทั้งที่พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านตระ และบ้านทับเขือ-ปลักหมู ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้
 
ในขณะที่การปราบปรามประชาชนคนเล็กคนน้อยเป็นไปอย่างเข้มข้น ในอีกด้านหนึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ กลับปล่อยปละละเลยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่หลายแห่ง รวมถึงการปล่อยให้นายทุนชาวไทยและต่างชาติดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ สร้างโรงแรมหรู ริมทะเลหลายแห่ง นอกจากนั้นยังมีแผนการเตรียมเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อให้กรมเจ้าท่าถมทะเลสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมปากบารา และมีแผนให้กรมชลประทานสร้างเขื่อน 7 เขื่อนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสตูล และสงขลา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในเนื้อที่ 150,000 ไร่ ในจังหวัดสตูล และหลายหมื่นไร่ ในจังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา
 
จากพฤติกรรมดังกล่าว จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ มีเจตนาปราบปรามประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในเขตป่า โดยไม่แยกแยะว่าชุมชนเหล่านั้น จะอยู่มาก่อนหรือมีสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินของตนเองหรือไม่ จึงเป็นไปได้เช่นกันว่า การปราบปรามครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในพื้นที่ป่า รวมทั้งเป็นการเปิดทางให้นายทุนเข้ามาทำธุรกิจการท่องเที่ยว และแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่นไปเพื่อสนองนายทุนและภาคอุตสาหกรรม
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ขอเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ กลับมาทำหน้าที่ที่เหมาะสมในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดย
 
1. รัฐบาลต้องสานต่อนโยบายโฉนดชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติงานไปในแนวทางเดียวกัน นายกรัฐมนตรีควรมอบหมายนโยบายที่ชัดเจนเรื่องโฉนดชุมชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการทำหนังสือเวียนถึงส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางโฉนดชุมชน ซึ่งจะต้องมีการคุ้มครองพื้นที่และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ทั้งในส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอื่นๆ
 
2. กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องหยุดการกระทำที่ป่าเถื่อนและแอบแฝงด้วยทุจริต และหันกลับมาทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแลรักษาป่า โดยเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัฐ ตามแนวทางโฉนดชุมชนและสิทธิชุมชน มาตรา 66 ในรัฐธรรมนูญ
 
3. ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ต้องกำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานราชการอื่น ภายใต้การบริหารงานของจังหวัดตรัง เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม
 
4. สังคมต้องร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง และขอบเขตการใช้อำนาจรัฐของกรมอุทยานแห่งชาติฯ
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
วันที่ 3 เมษายน 2555
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net