Skip to main content
sharethis

12 มี.ค.55 เวลา 14.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการนัดพร้อมการไต่สวนการตายของนายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ปั๊มเชลล์ ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 โดยอัยการในฐานะผู้ร้องขอได้ขอให้ศาลเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้า เช่นเดียวกับภรรยาและผู้สืบสันดาน (ลูกสาว) ที่สามารถเข้าร่วมการไต่สวนการตายได้ โดยเห็นควรให้ใช่นัดนี้เป็นนัดพร้อมและเลื่อนการไต่สวนเป็นนัดหน้าเช่นกัน

ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร้องยืนยันต่อศาลว่าจะไม่ตัดพยานทั้งหมด 41 ปาก ขณะที่ทนายของภรรยาและบุตรสาวผู้ตายระบุว่าจะยื่นพยาน 15 ปากและอาจจะมีเพิ่มเติมภายหลังจากการไต่สวนปากของผู้ร้องจบ โดยกำหนดวันไต่สวนในทุกวันจันทร์ของเดือน ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ในวันที่ 18,25 มิ.ย. 55 และ 2, 5, 16, 23, 30 ก.ค.55 ทั้งนี้ ในนัดแรก วันที่ 18 มิ.ย.ช่วงบ่ายจะเป็นปากของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 รายซึ่งต้องใช้ล่าม หนึ่งในนั้นคือนายนิก ส่วนอีกรายคือผู้สื่อข่าวจาก Der Speigel

ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวให้ความสนใจติดตามข่าวจำนวนมาก รวมถึงคนเสื้อแดงหลายคน, นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช., นายชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นิก น็อตสติทช์ ผู้สื่อข่าวอิสระชาวเยอรมัน, ตัวแทนจากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.), ตัวแทนจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เข้าร่วมรับฟังด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่รอศาลอ่านรายงาน นางผุสดี งามขำ หรือที่รู้จักกันในนาม “เสื้อแดงคนสุดท้าย” ที่ออกจากที่ชุมนุมราชประสงค์ในวันสลายการชุมนุม ได้ยกมือและพนมมือขออนุญาตแจ้งต่อศาลว่า รูปตาชั่งที่ติดอยู่ตรงบัลลังก์นั้นเอียง สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้เข้าร่วมฟังการไต่สวนจนหลายคนเตือนนางผุสดีว่า อาจโดนคดีหมิ่นศาลได้ จากนั้นผู้พิพากษาเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาสอบถามได้ความว่าไม่ เอียง ผู้พิพากษาจึงเรียกนางผุสดีมาสอบถามอีกครั้งว่าเอียงอย่างไร นางผุสดีระบุว่าด้านขวาต้องเอาลงมาอีกหน่อยหนึ่ง ผู้พิพากษาหัวเราะพร้อมๆ กับผู้เช้าร่วมรับฟังการไต่สวน

สำหรับคดีของชาญณรงค์ ถือเป็นการนัดพร้อมเพื่อไต่สวนการตายเป็นสำนวนแรก จากทั้งหมด 16 สำนวน คดีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

พนักงานสอบสวนจาก สน.พญาไท เจ้าของสำนวนระบุว่า สน.พญาไทรับผิดชอบ 4 กรณีซึ่งรวมกรณีของนายชาญณรงค์ด้วย ส่วนกรณีอื่นๆ จะมีกำหนดดังนี้

-พล ทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 จะมีนัดพร้อมไต่สวนการตายนัดแรกในวันที่ 19 มี.ค.นี้

-นายพันนายพัน คำกอง ถูกยิงที่หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 จะมีการไต่สวนการตายในวันที่ 23 เม.ย.นี้

-ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ ถูกยิงเสียชีวิตที่ซอยโรงภาพยนตร์โอเอเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 จะมีการนัดพร้อมไต่สวนการตายในวันที่ 12 พ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายมานะ อาจราญ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ดุสิตที่เสียชีวิตภายในสวนสัตว์ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 ซึ่งสน.ดุสิตเป็นเจ้าของสำนวน แต่อัยการได้ส่งคืนสำนวนโดยอ้างว่าผลการชันสูตรอาจไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้มี องค์ประกอบครบทุกฝ่าย โดยตำรวจจะดำเนินการโต้แย้งให้อัยการพิจารณาใหม่

อย่าง ไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ยื่นไต่สวนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้อีก 2 สำนวน คือ คดีชันสูตรที่ 102/2553 นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล ถูกยิงเข้าที่หน้าอก 1 นัด บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 และคดีชันสูตรที่ 103/ 2553 นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเข้าที่หน้าอก 1 นัดเช่นกัน ที่บริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนทั้ง 2 คดี ในวันที่ 28 พ.ค.2555

ด้านเว็บไซต์ข่าวสด รายงานวานนี้ว่า นางสุริยันต์ พลศรีลา ภรรยาของนายชาญณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า "สิ่งที่อยากเห็นหลังจากที่ศาลไต่สวน และคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว อยากให้ศาลสั่งเอาตัวคนสั่งการฆ่าประชาชนทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้ได้ เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รอดูคนสั่งการฆ่าประชาชนมาเข้า สู่ศาล มั่นใจว่าศาลจะเห็นใจประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตทั้งหมด"

ภรรยา ของนายชาญณรงค์กล่าวย้อนถึงวันที่สามีถูก ยิงเสียชีวิตว่า วันเกิดเหตุ 15 พ.ค.2553 ตนและสามีเดินทางไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ร่วมกับคนเสื้อแดง ทั้งที่ราชประสงค์และราชปรารภ แต่ในวันเกิดเหตุ ตนและสามีแยกกันชุมนุมคนละจุด ตนอยู่ที่ราชประสงค์ ส่วนสามีอยู่ราชปรารภบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์ และมาทราบข่าวภายหลังจากที่มีนักข่าวและช่างภาพเยอรมัน ชื่อนายนิก นอสติทซ์ ถ่ายภาพสามีได้ขณะใช้หนังสติ๊กต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ที่หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ใกล้แยกราชปรารภ จากนั้นสามีก็ถูกยิง และทหาร นำตัวไป จนภายหลังทราบว่าเสียชีวิตแล้ว

นางสุริยันต์กล่าวต่อว่า ตนและสามีเข้าร่วมการชุมนุมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งแต่เดือนมี.ค.2553 ทั้งที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และสี่แยกราชประสงค์ เนื่องจากเราเห็นว่าการขึ้นสู่อำนาจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ถูกต้อง เป็นการปล้นเอาประชาธิปไตยจากประชาชนไป จึงตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม ทุกๆ เช้าจะนั่งรถแท็กซี่สามีไปลงที่หน้าเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ หรือราชประสงค์ทุกวัน จะอยู่จนพลบค่ำ สามีก็จะมารับกลับบ้านย่านดอนเมือง วันไหนเห็นคนน้อยก็จะขอนอนค้างคืนในพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจแกนนำ

"วัน ที่พี่เสียชีวิตวันที่ 15 พ.ค. ฉันอยู่ที่เวทีชุมนุมราชประสงค์ แล้วพยายามโทรศัพท์หาพี่ให้มารับกลับบ้าน แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ก็ไม่สบายใจ เพราะตอนนั้นรอบนอกพื้นที่ชุมนุมเริ่มปะทะกันประปราย ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไง จึงบอกกับส้มโอ ลูกสาวคนโต ให้ช่วยตามหาพ่อด้วย ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ค. มีเพื่อนบ้านเอาหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีรูปพี่ถูกชายอีก 2 คนหิ้วปีกออกมา มาให้ดู บอกว่าถูกยิงแถวราชปรารภ จึงพยายามติดต่อตามโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุม และศูนย์เอราวัณ แต่ก็ไม่พบ ลูกสาวก็เลยโพสต์ประวัติพ่อไว้ในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ หวังว่าจะมีคนเห็นเหตุการณ์ หรือช่วยเหลือไว้มาตอบข้อความ จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค. ลูกสาวก็ไปเจอศพพ่อที่นิติเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี" นางสุริยันต์กล่าว

ภรรยาลุง ชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า จากนั้นก็ได้พบช่างภาพชาวเยอรมัน ที่เล่าให้ฟังถึงนาทีที่สามีเสียชีวิต จึงทราบว่าก่อนตายสามีมีเพียงหนังสติ๊ก เมื่อถูกยิงบาดเจ็บ ก็อ้อนวอนร้องขอชีวิตแล้ว จนถูกทหารเอาตัวไป และพบเป็นศพต่อมา โดยผลชันสูตรพลิกศพระบุว่า ถูกกระสุนความเร็วสูง 2 นัด ทำลายอวัยวะภายในที่ท้อง และแขน ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่มีจิตใจดี ร่าเริง รักครอบครัว รักความยุติธรรม เป็นตัวของตัวเองสูง เวลาออกไปขับแท็กซี่ เมื่อมีเวลาก็จะโทร.มาหาทุกวัน หลังสามีเสียชีวิตมาเกือบ 2 ปี ก็ต้องมายึดอาชีพค้าขายอยู่กับบ้านย่านลำสาลี หาเงินเลี้ยงดูลูก 2 คน ที่กำลังโต แต่โชคดีที่ลูกๆ ต่างทำงานได้บ้างแล้ว

"เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ไปยื่นเรื่องลงทะเบียนขอเงินเยียวยาจากรัฐบาล เงินจำนวน 7.5 ล้านบาทนี้ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอะไร สิ่งสำคัญคืออยากได้พี่คืนกลับมาอยู่กับครอบครัวมากที่สุด และสิ่งที่อยากเห็นมากตอนนี้คือ อยากให้รัฐบาลนี้เร่งค้นหาความจริงให้ประชาชนรับรู้ในเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมคนเสื้อแดงทั้ง 2 เหตุการณ์ ทั้ง 10 เม.ย.53 และ 19 พ.ค.53 โดยเร็ว และรีบเอาคนผิดคนสั่งการมาลงโทษให้ได้ ผู้เสียชีวิตเหล่านั้นต่างออกไปทำหน้าที่เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องประชาธิปไตยตามสิทธิรัฐธรรมนูญ โดยเอาชีวิตเข้าแลก" นางสุริยนต์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net