Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านในหมู่บ้านอองชานทา ในเขตเนปีดอว์ อาจไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ไฟฟ้า หลังจากเข้าร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงของนางอองซาน ซูจี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ใครที่สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดีจะถูกตัดชื่อออกจากรายชื่อครัวเรือนที่จะได้ใช้ไฟฟ้า จนถึงปัจจุบันมีรายงานว่า หมู่บ้านดังกล่าวยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่พบว่า คณะกรรมการที่มีอำนาจในการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในพื้นที่นั้นพบว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดและอยู่ข้างพรรค USDP (Union Solidarity and Development Party) ของรัฐบาล ชาวบ้านในพื้นที่ยังเปิดเผยว่า ตอนนี้ยังมีการข่มขู่เพิ่มเติมจากทางการพม่าว่า หากพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะไม่มีชาวบ้านคนไหนในพื้นที่ได้ใช้ไฟฟ้า ขณะที่พบว่า หมู่บ้านอองชานทานั้นตั้งอยู่ข้างๆถนนสายที่มีไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ซึ่งถนนเส้นนี้เชื่อมไปยังกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ ซันดา วิน หนึ่งในผู้ลงสมัครจากพรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า เธอได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านหลายคนว่า คณะกรรมการที่มีหน้าที่จ่ายไฟฟ้าได้เรียกประชุมชาวบ้านเพื่ออธิบายว่า โครงการจ่ายไฟฟ้านั้นได้รับการสนับสนุนจากพรรค USDP ดังนั้น ทางคณะกรรมจึงจะไม่จ่ายไฟฟ้าให้กับชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี ก่อนหน้านี้พรรคเอ็นแอลดีก็ร้องเรียนว่าถูกทางการจำกัดในเรื่องสถานที่สำหรับใช้ในการปราศรัยหาเสียงระหว่างที่เดินทางมาหาเสียงในเขตเมืองเนปีดอว์ นอกจากนี้ยังร้องเรียนว่า ป้ายหาเสียงของพรรคเอ็นแอลดีก็ถูกทำลายลงในรอบๆเมืองเนปีดอว์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้มีรายงานว่า ทางการยังขัดขวางชาวบ้านที่ต้องการมาฟังการปราศรัยของนางซูจี โดยการนำชาวบ้านที่โดยสารมากับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ไปยังอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งห่างไกลจากสถานที่ที่นางซูจีจัดปราศรัยหาเสียงเป็นต้น ขณะที่นางซูจีเตือนรัฐบาลระหว่างหาเสียงในเมืองตองอูว่า พรรคการเมืองใดที่พยายามชนะเก้าอี้ในรัฐสภาโดยใช้วิธีไม่ซื่อสัตย์นั้น จะยิ่งเป็นการทำร้ายประเทศ แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 9 มีนาคม 55 ชาวบ้านใกล้โครงการเขื่อนมิตซงถูกสั่งให้อพยพภายใน 10 วัน มีรายงานว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านตานปรี ซึ่งใกล้กับโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่นถูกทางการสั่งให้อพยพไปอยู่ที่อื่นภายในวันที่ 17 มีนาคมที่จะถึงนี้ โดยหากชาวบ้านฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ ทางการได้สั่งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านตานปรีย้ายไปยังหมู่บ้านอองมินทา ซึ่งอยู่อีกหมู่บ้านถัดไปไม่เกินวันที่ 17 มีนาคมนี้ โดยหากชาวบ้านคนใดไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกดำเนินคดี โดยทางการยังสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนออกไปให้หมดและบังคับให้ชาวบ้านเซ็นเอกสารรับรองว่า จะไม่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านตานปรี โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพื้นที่ยังอ้างว่า คำสั่งอพยพชาวบ้านนั้นมาจากรองประธานาธิบดีตีฮา ทุระ ติ่นอ่อง มิ้น อู ด้านอ่องเต็ง ซึ่งเป็นทนายความระบุว่า หากชาวบ้านฝ่าฝืนคำสั่ง อาจถูกทางการดำเนินคดีตามกฎหมายข้อที่ 188 ที่ระบุว่า หากผู้ใดละเมิดคำสั่งของรัฐบาลก็อาจถูกดำเนินคดีให้จำคุกเป็นเวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะที่พบว่า หมู่บ้านที่ทางการเตรียมไว้ให้ชาวบ้านอพยพไปนั้นพบว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการหาเลี้ยงชีพและไม่มีพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน “เราไม่สามารถทำธุรกิจอะไรได้ที่หมู่บ้านอองมินทา ที่หมู่บ้านตานปรีนั้น เรายังสามารถร่อนทองและหาผักในป่าไปขายเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัวได้” ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าว ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของคะฉิ่นที่เฝ้าติดตามการก่อสร้างโครงการเขื่อนมิตซงได้ออกมาเปิดเผยว่า การก่อสร้างเขื่อนมิตซงยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะประกาศพักโครงการนี้เมื่อปีที่แล้วก็ตาม แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima 8 มีนาคม 55 ชาวบ้านโวย บริษัทจีนตักตวงผลประโยชน์จากเหมืองหยกเกินที่รัฐกำหนด ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจ มีรายงานว่า บริษัทของจีนได้เข้าไปขุดหยกในเหมืองหยกผากั้น ในรัฐคะฉิ่นเกินตามที่รัฐได้กำหนดไว้ และใช้แนวทางผิดกฎหมายเพื่อให้สามารถตัดตวงเอาผลประโยชน์จากเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่นให้ได้มากที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่รู้เห็นเป็นใจ ทั้งนี้ ชาวบ้านในเมืองผากั้นเปิดเผยว่า บริษัทของจีนได้ทำเหมืองนอกเขตพื้นที่ที่มีการอนุญาต และใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่และใช้ปุ๋ยมากเกินที่จะรับได้ รวมทั้งมีการขุดหาหยกตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่เจ้าหน้าท้องถิ่นรู้เห็นเป็นใจเรื่องนี้ ด้านชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า “พวกเขาพยายามที่จะตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ในตอนนี้ เพราะกังวลว่า หากรัฐบาลพม่าชุดใหม่เข้ามาบริหาร อาจทำให้บริษัทจีนไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ” ชาวบ้านคนเดิมยังเปิดเผยว่า แรงงานเหมืองหยกได้เปิดเผยกับเขากว่า บริษัทของจีนมีแผนที่จะขุดเอาเหมืองแร่ไปทั้งหมดในช่วงยุคของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้านชาวบ้านในพื้นที่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในพื้นที่ เนื่องจากการทำเหมืองที่ไม่มีการควบคุม โดยระดับน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใกล้เคียงอย่างแม่น้ำอูรูเริ่มแห้งขอด และพบว่า ชาวบ้านในเมืองผากั้นเริ่มขาดแคลนน้ำใช้ และปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและดินถล่มโดยที่รัฐไม่มีมาตรการใดๆเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่มีบริษัทกว่า 200 บริษัท ทั้งจากรัฐบาลพม่าและจีนที่เข้าไปลงทุนทำเหมืองในเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น อีกด้านหนึ่ง กลุ่มเครือข่ายพัฒนาคะฉิ่น (Kachin Development Networking Group (KDNG) ได้ออกมาเปิดเผย บริษัทจีนได้กลับมาก่อสร้างโครงการเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่นอีกครั้ง หลังจากที่ถูกประธานาธิบดีเต็งเส่งสั่งพักโครงการนี้ไว้ชั่วคราวเมื่อปีที่แล้ว แปลและเรียบเรียงจาก DVB 7 มีนาคม 55 เกิดเหตุระเบิดในภาคอิรวดี เกิดเหตุระเบิดที่สำนักงานของรัฐบาลในเมืองฮินทาดา ในภาคอิรวดีเมื่อเช้าวันอังคาร(6 มีนาคม)ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในครั้งนี้ มีรายงานว่า แรงระเบิดได้ทำให้หลังคาของสำนักงานของทางการพม่าได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังไปไกลหลายกิโลเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสอบสวนเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่สรุปว่ากลุ่มใดเป็นผู้ต้องสงสัยและลงมือก่อเหตุ Irrawaddy /DVB /ภาพประกอบ Mizzima 6 มีนาคม 55 ซูจีเยือนถิ่นทหาร หาเสียงในกรุงเนปีดอว์ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีเดินทางถึงกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่าแล้วเมื่อเย็นวานนี้ (5 มีนาคม )เพื่อลงหาเสียงให้ลูกพรรค อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มีประชาชนจำนวนไม่มากที่มาให้การต้อนรับนางซูจี เมื่อเทียบกับเมืองต่างๆที่นางซูจีเดินทางลงพื้นที่หาเสียงก่อนหน้านี้ เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในเนปีดอว์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและทหาร ขณะที่นางซูจีกล่าวติดตลกต่อหน้าประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า การเดินทางมาเนปีดอว์ครั้งนี้ถือว่าเสี่ยงสำหรับเธอและลูกพรรค เพราะทราบดีว่า เป็นพื้นที่สำคัญของรัฐบาลพม่าแต่ก็เชื่อว่า ประชาชนจะยืนบนทิศทางที่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องลงสมัครและเดินทางเข้ามาหาเสียงในพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การเดินทางมายังเมืองเนปีดอว์ พรรคเอ็นแอลดีต้องประสบกับปัญหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสถานที่หาเสียง ก่อนหน้านี้ ทางพรรคต้องเปลี่ยนสถานที่หาเสียงมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากทางการท้องถิ่นพม่าไม่อนุญาตให้พรรคเอ็นแอลดีใช้อาคารของรัฐหรือในบางพื้นที่ในการหาเสียง ตรงข้ามกับการลงหาเสียงในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีประชาชนราว 1 แสนคนที่มาให้การต้อนรับนางซูจีอย่างคับคั่ง โดยการหาเสียงในมัณฑะเลย์ นางซูจีได้มุ่งไปยังประเด็นการศึกษาในพม่า โดยระบุ งบประมาณในด้านการศึกษานั้นน้อยมาก ดังนั้น จึงมีหลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อยกระดับการศึกษาในพม่าให้ได้มาตรฐาน มีรายงานว่า นักศึกษาจากวิทยาลัยที่ในพื้นที่ต่างปรบมือแสดงความยินดีต่อคำปราศรัยของนางซูจี ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า นางซูจีได้ล้มป่วยลง หลังจากที่เดินทางหาเสียงอย่างต่อเนื่องและไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ แต่ก็ยังเดินทางหาเสียงในภาคสะกายเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นางซูจีแสดงความคิดเห็นและเชื่อว่า เธอจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ หากตัวแทนทหารภายในรัฐสภาร่วมมือกับเธอ แต่ระบุ การแก้กฎหมายต้องเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งนี้พรรคเอ็นแอลดีได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ในรัฐสภา 48 ที่นั่ง แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy / DVB 6 มีนาคม 55 แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ \สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน\"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net