Skip to main content
sharethis

\พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน\" ปธ.กมธ.แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ นำโครงการศึกษาสร้างความปรองดองที่วิจัยโดยสถาบันพระปกเกล้ามาพิจารณา และเตรียมหาข้อสรุปเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (6 มี.ค. 55) ว่าพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า โครงการศึกษาสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งได้ศึกษาความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2553 ซึ่งมีรายละเอียด และแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางการเมือง มอบให้กรรมาธิการฯ นำไปศึกษา และในสัปดาห์หน้าจะเสวนาเพื่อหาแนวทางสรุปและเตรียมเสนอสภาต่อไป เบื้องต้นจะขออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขยายระยะเวลาการทำงานของกรรมาธิการฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 16 มีนาคมนี้ออกไปอีก 30 วัน สำหรับผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ได้สรุปและเสนอแนวทางที่จะทำให้ประเทศกลับสู่ความปรองดอง มีสาระสำคัญ คือ ต้องการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง โดยรัฐบาลต้องมีแนวทางที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องงดเว้นการกระทำใดๆ ที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและนิติรัฐ ขณะเดียวกัน ต้องมีกระบวนการพูดคุยใน 2 ระดับ คือ ระดับตัวแทนทางการเมืองและระดับประชาชนในรูปเวทีประเทศไทย ทั้งนี้ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า มติชนออนไลน์ รายงานว่ามี 6 ข้อคือ 1.การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ซึ่งควรส่งเสริมบทบาทของ คอป.ในการดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อีกทั้งเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต 2.การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองใน 2 ทางเลือกคือ 1.การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ทั้งความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และ 2.การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น 3.การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) 4.การกำหนดกติกาทางการเมืองซึ่งอาจรวมถึงการแก้กฎหมายหลักรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปต่อประเด็นที่อาจขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตยและต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความยุติธรรมของผู้ชนะ 5.การสร้างการยอมรับในมุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องคุณลักษณะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ 6.การวางรากฐานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมในสังคม โดยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง ในท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการฯ ย้ำว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ของสถาบันพระปกเกล้าในขณะนี้ ยังคงเป็นเพียงข้อเสนอทางวิชาการ ซึ่งกรรมาธิการฯ จะนำไปศึกษาก่อนที่จะสรุปเป็นแนวทางปฏิบัตินำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net