Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.ข้อเท็จจริงส่วนบุคคล [3] ผู้เฒ่าโคอิ นายโคอิ หรือคออิ๊ ให้ข้อเท็จจริงว่าตนเองเกิดบริเวณต้นน้ำภาชี พ่อชื่อนายมิมิ แม่ชื่อพินอดี เป็นลูกคนที่คนที่ห้าจากพี่น้องทั้งหมดหกคนคือ ดึ๊ลือ, นอมือรึ, น่อเจนัว, เคอะ, ปู่โคอิ, และนอโพะ เมื่อเริ่มเป็นหนุ่ม พ่อแม่ก็พาครอบครัวเดินเท้ามาตั้งรกรากที่บ้านบางกลอยบน ใกล้บริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดิน (ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 วัน) ในวันที่ครอบครัวของผู้เฒ่าโคอิ มาถึงบ้านบางกลอยบน พบว่ามีคนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ตรงนั้นก่อนแล้ว 4 ครอบครัว คือ ครอบครัวพื้อโบ, ครอบครัวพื้อท้อเคาะ (มีลูกคือพ้ะลุ้ย และเพาะกลอมึ ซึงเป็นลูกของเพาะกลอมึ) ครอบครัว พื้อชาลัวะ (มีลูกคือ นายจอโจ่) และครอบครัวสุดท้าย-พื้อคุ (ต่อมามีลูกสาวชื่อปีจิ๊ ซึ่งเป็นมารดานายสมจิต กว่าบุ และต่อมานายสมจิตร เป็นสามีนางบุเรมิ) ผู้เฒ่าอาศัยอยู่ได้ประมาณ 10 ปี จึงอยู่กินกับนางหน่อทิกิพู้ และมีลูกคนแรกเมื่อผู้เฒ่าอายุประมาณ 27 ปีคือ นายจอเงเง และต่อมาคือ กะเทรอและบุเรมิ หลังจากนางหน่อทิกิพู้เสียชีวิต ไม่นาน-ผู้เฒ่าก็อยู่กินกับนางนอตะกี มีลูกด้วยกันสองคนคือ หน่อเอะ หรือนอแอ๊ะ และหน่อสะ ผู้เฒ่าให้ถ้อยคำว่า ปู่ย่าตายายได้สั่งสอนให้ลูกหลานทำกินด้วยการปลูกข้าวซึ่งมีลักษณะหมุนเวียน ที่บ้านของปู่ปลูกต้นหมากไว้ 2-3 แปลง แปลงละร่วมร้อยต้น นอกจากนี้ในอดีตผู้เฒ่ายังเคยพบกับนายระเอิน บุญเลิศ ซึ่งนับถือกันในฐานะ “ซุ” (หมายถึง เพื่อนนำมิตร ที่คอยช่วยเหลือในการนำของป่าที่คนในเมืองถามหา ไปขาย มาช่วงหลังๆ ที่ลูก-หลานเริ่มปลูกพริก ลงมาขายที่อำเภอท่ายาง เพื่อเอาเงินไปซื้อเกลือ ยาบางอย่าง ซื้อลูกไก่ไปเลี้ยงที่บ้านฯลฯ ผู้เฒ่าโคอิ ไม่ทราบว่าตนเองเกิดเมื่อใด แต่หากคิดจากวิธีคำนวณของผู้เฒ่าแล้ว ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 ผู้เฒ่าโคอิน่าจะอายุประมาณ 103 ปีแล้ว โดยวิธีการนับอายุของผู้เฒ่าก็คือ การนับอายุจากจำนวนเมล็ดข้าวโพดที่เก็บไว้ในแต่ละปี ผ่านไปแต่ละปีจะเก็บเมล็ดข้าวโพดเพิ่มอีกหนึ่งเมล็ด โดยเริ่มจากที่พ่อแม่เก็บไว้ให้ก่อน ผู้เฒ่าประมาณเอาจากปีที่ลูกชายคนโตของแกเกิด ปีนั้นนับเมล็ดข้าวโพดได้ 27 เมล็ด และเมื่อเอาเม็ดข้าวโพดมาเรียงเก็บไว้ทุกปี เม็ดข้าวโพดจะเพิ่มขึ้นตามขวบปีของลูกชายที่โตขึ้น เมื่อบวกกันก็นับได้เป็น 103 ปี 2. พยานหลักฐานแสดงตน: เหรียญชาวเขาของครอบครัว, ท.ร.ชข. และบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร นายกระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย หมู่2 นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก หมู่ 1 และนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน [4] ให้ข้อมูลตรงกันว่า [5] ในช่วงประมาณเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จในราวปีพ.ศ.2509 อำเภอท่ายางได้ให้ผู้ใหญ่บ้านแจ้งข่าวว่า “ให้ ‘ชาวเขา’ ไปรับเหรียญชาวเขา” ในเวลานั้น ผู้เฒ่าโคอิให้ข้อเท็จจริงว่า ตนไม่ทราบเรื่อง แต่รู้เพราะลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาคนแรก คือนายจอเงเง และนายสมจิต กว่าบุ ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นทั้งสองคนเดินลงไปอำเภอท่ายางพอดี เมื่อทราบนายจอเงเงอและนายสมจิตจึงไปรับเหรียญชาวเขา อย่างไรก็ดี ในความรู้สึกของลูก-หลานแล้ว มันเป็นเหรียญที่ทางราชการแจกให้กับชาวเขาหรือชาวปกาเกอะญอ อย่างพวกเขา สำหรับครอบครัวของพวกเขา ต่อมาในปี พ.ศ.2531 ผู้เฒ่าโคอิได้รับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลลงในทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข. ที่จัดทำโดยกรมประชาสงเคราะห์ ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) โดยถูกระบุอยู่ในท.ร.ชข. แฟ้มบางกลอย 4 ครอบครัวที่ 3 [6] เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2531 ว่า ชื่อนายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี” ภาพการจัดทำท.ร.ชข. ในปี 2531 เดือนพฤจิกายน 2554 ทางอำเภอแก่งกระจานได้ดำเนินการสำรวจ (แบบ 89) และจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ท.ร.38 ก) ให้แก่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดยรวมถึงผู้เฒ่าโคอิด้วย โดยทุกคนจะได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเรียกผู้เฒ่าโคอิ และบุคลอื่นๆ ไปถ่ายบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (ขึ้นต้นด้วยเลข 0) เท่าที่เห็นเอกสารที่บางคนถืออยู่ มันคือเอกสารที่ยืนยันว่าเป็นผู้ได้รับการสำรวจฯ แล้ว และอยู่ในระหว่างรอการเรียกไปถ่ายบัตรประจำตัว (แบบ 89/4) มีข้อสังเกตว่าผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอแก่งกระจานจำนวนไม่น้อย) เป็นผู้ตกหล่นการสำรวจบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง หรือบัตรสีฟ้า ภาย ใต้โครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัว บุคคลบนพื้นที่สูง (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) ในช่วงปีพ.ศ.2533-2534 ที่กรมการปกครองดำเนินการเพื่อสำรวจบุคคลที่อยู่บนพื้นที่สูงทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะชาวเขาเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัด [7] เนื่องจากเวลานั้นทางอำเภอดำเนินการสำรวจที่อำเภอแก่งกะจาน และการสื่อสารไปยังชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอที่อยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ปู่โคอิ ไม่ทราบถึงการสำรวจดังกล่าว เพราะไม่มีใครมาแจ้งข่าวเลย นอกจากนี้ ผู้เฒ่าโคอิและชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอจำนวนไม่น้อย ก็เป็นผู้ตกหล่นการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง (บัตรชุมชนบนพื้นที่สูง) ภายใต้โครงการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 [8] อีกครั้ง แม้คราวนี้อำเภอแก่งกระจานจะออกมาดำเนินการนอกสถานที่ แต่ก็ไปยังไม่ถึงพื้นที่บ้านบางกลอยบน โดยดำเนินการสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติฯ ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ผู้เฒ่าโคอิและครอบครัว ไม่ทราบถึงการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง เนื่องจากผู้เฒ่าให้ข้อเท็จจริงว่าไม่มีใครมาบอก มาเรียก รวมถึงเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้ เดินทางลงมา เพราะไม่ทราบ หรือพยายามเดินทางลงมา ก็มาไม่ทัน นอกจากนี้พบว่าปกาเกอะญอหลายครอบครัวก็ตัดสินใจไม่เข้ารับการสำรวจด้วยได้ รับข้อมูลว่าบัตรเขียวขอบแดงเป็นบัตรสำรวจคนต่างด้าว เพราะพวกเขาเป็นปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตในผืนป่าแก่งกระจาน ไม่ใช่คนต่างด้าว [9] 3. บทวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายของผู้เฒ่าโคอิ จากข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถวิเคราะห์และสรุปสถานะบุคคลของผู้เฒ่าโคอิ ทั้งสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน [10] ฉบับต่างๆ ได้ดังนี้ 3.1 สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน 3.1.1 สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ[11] : ผู้เฒ่าโคอิ มีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นผู้มีสัญชาติไทย ด้วยเพราะผู้เฒ่าโคอิมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการเป็นผู้ทรงสิทธิใน สัญชาติไทย หลักกฎหมายสัญชาติมีหลักอยู่ว่าการได้ มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด แม้ในขณะที่ผู้เฒ่าโคอิเกิด คือปีพ.ศ.2454 นั้น ราชอาณาจักรสยาม[12] ยังไม่มีกฎหมายสัญชาติที่กำหนดเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของผู้เฒ่าโคอิจึงไม่มีอยู่ สำหรับผู้เฒ่าโคอิ ณ ช่วงเวลา ปี 2454-2456 ผู้เฒ่าจึงเป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ หรือชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ ที่เกิดและเติบโตขึ้นในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม[13] หรือ “ (..คนทั้งปวงที่อยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานั้น) ย่อมเปนข้าอยู่ในใต้กฎหมาย แลบังคับบัญชาทั้งสิ้น” [14] และนับวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2456 ประกาศบังคับใช้ การมีสัญชาติไทยของผู้เฒ่าโคอิก็เริ่มต้นขึ้น หรือผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักดินแดน มาตรา 7 (3) [15] เช่นเดียวกับในทางปฏิบัติ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ราชอาณาจักสยาม/ประเทศไทยยอมรับว่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงเป็นชาวเขาหรือ ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว[16] หรือเป็นชาวเขาที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น กรมประชาสงเคราะห์ฯลฯ [17] รวมถึงถูกนิยามว่าเป็นชาวไทยภูเขา[18][19] ที่ปรากฏตัวใน 20 จังหวัด[20] ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กำหนดให้มีกระบวนการเข้าสู่การรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผ่านระเบียบของกรมการปกครอง 3 ฉบับคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาว เขา พ.ศ.2517, ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียน ราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 โดยปกาเกอะญอ หรือชาวเขา/ชาวไทยภูเขาสามารถยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน ได้ อย่างไรก็ดี ผู้เฒ่าโคอิไม่เคยยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน กล่าวอีกอย่างได้ว่า ปู่โคอิมีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ไม่เคยใช้สิทธิในสัญชาติไทยเลย เริ่มตั้งแต่ไม่เคยยื่นคำร้องเพื่อให้สิทธิในสัญชาติไทยของตนได้รับการ รับรอง โดยให้ทางอำเภอแก่งกระจานบันทึกชื่อและรายการของผู้เฒ่าในทะเบียนบ้านคนไทย (ท.ร.14) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 5 เหตุที่เป็นเช่นนั้น-ส่วนหนึ่งเกิดจาก ความไม่รู้ และอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้จะไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการอยู่อย่างปกาเกอะญอตลอดเวลาที่ผ่านมา นับจากเกิดเหตุการณ์ที่ถูก(บังคับ)โยก ย้ายออกจากบ้านบางกลอยบน และบ้าน รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ภายในบ้านถูกเผาทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เฒ่าโคอิเริ่มมีความตั้งใจที่จะดำเนินการให้รัฐไทยรับรองความเป็นผู้มี สัญชาติไทยของผู้เฒ่า 3.1.2 สถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร (1) ผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎร แม้ประเทศไทยได้ดำเนินการสำรวจจำนวน ประชากรและครัวเรือนมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 แต่การสำรวจภายใต้หลักการที่ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราชา อาณาจักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ. 2499-2500 (ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499[21]) ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นเรื่องที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ยอมรับมาตลอดว่า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา (2) ผู้เฒ่าโคอิเป็นชาวเขา ซึ่งได้รับการบันทึกในท.ร.ชข. ผู้เฒ่าโคอิ ได้รับการบันทึกตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นครั้งแรกคือภายใต้การสำรวจ ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือท.ร.ชข. ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ในปีพ.ศ.2531 (ตามโครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2527) โดยนายโคอิเป็นครอบครัวลำดับที่สามจากยี่สิบครอบครัวของบ้านบางกลอย 4 ในเวลานั้น มีอย่างน้อยอีก 7 ชุมชนที่ได้รับการสำรวจพร้อมกับบ้านบางกลอย 4 คือบ้านบางกลอย 1 บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน ทั้ง 71 ครอบครัว 367 คน ล้วนถูกบันทึกว่าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือผีและเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี (3) ผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่น “บัตรสีฟ้า” และ “บัตรเขียวขอบแดง” ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ตกหล่นการสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่ สูงหรือบัตรสีฟ้า (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533)[22] ในปีพ.ศ.2533-2534 รวมถึงตกหล่นบัตรชุมชนบนพื้นที่สูงหรือบัตรสีเขียวของแดง (ภายใต้โครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบน พื้นที่สูง ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542[23]) (4) ผู้เฒ่าโคอิเป็น “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ราวปลายเดือนตุลาคม 2554 อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้แก่ผู้เฒ่าโคอิ รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ โดยแต่ละคนจะได้รับ “ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ แบบ 89/4” ถือไว้เป็นหลักฐาน โดยในเอกสารดังกล่าว ระบุว่าผู้เฒ่า ชื่อนายโคอิ มีมิ ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 เลขหลักที่ 6-7 คือ 89 บิดาชื่อมิมิ มารดาชื่อพินอดี ที่อยู่ตามทะเบียนประวัติเลขที่ 98 หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน หนังสือดังกล่าวฯ ออกวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และระบุว่าให้ไปรับบัตรภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 อย่างไรก็ดี ผู้เฒ่ายังไม่ได้รับบัตร เนื่องจากทางอำเภอยังไม่มีคำสั่งผ่านผู้ใหญ่บ้านว่าให้ไปรับบัตรได้แล้ว นับจากนี้ไปผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ) จึงมีสถานะเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือ เป็น “บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียน (ท.ร.13 และ ท.ร.14) เนื่องจากไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคล หรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ” [24] (5) อยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจาน ออกเอกสารรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทย (เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย) ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้เฒ่าโคอิยังไม่เคยดำเนินการยื่นคำร้องเพื่อลงรายการในทะเบียนบ้าน เพื่อให้อำเภอแก่งกระจานรับรองความเป็นผู้มีสัญชาติไทย แต่เวลานี้ ผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงกะเหรี่ยงแก่งกระจานคนอื่นๆ) กำลังเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจานดำเนินการรับรองว่าตนมี สัญชาติไทย โดยยึดถือเอาแบบ 89/4 เป็นเอกสารแสดงตนในระหว่างทางของกระบวนการฯ ดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า เหตุใดทางอำเภอแก่งกระจานจึงดำเนินการบันทึกรายการตัวบุคคลของผู้เฒ่าโคอิลง ในทะเบียนประวัติประเภทผู้ไม่มีสถานะทางทางทะเบียน (ท.ร.38 ก) และกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 แทนที่จะให้ผู้เฒ่าโคอิเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย-ใน ประเด็นนี้ทางอำเภอแก่งกระจานให้เหตุผลว่า ต้องการให้ผู้เฒ่าโคอิ ได้รับการบันทึกตัวบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรไว้ก่อน เมื่อมีเอกสารแสดงตนแล้ว จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิสูจน์ว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริงตามที่กล่าว อ้าง และหากอำเภอแก่งกระจานพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเชื่อได้ว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริง ก็จะดำเนินการรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทยจริง อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น-สำหรับกระบวนการพิสูจน์แล้ว ทางอำเภอแก่งกระจานให้ความเห็นว่าจะใช้วิธี “เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านผู้มีสัญชาติไทย (ท.ร.14)” หรือใช้วิธีการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นต้องระบุไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในทางวิชาการแล้ว เห็นว่า วิธีการควรจะเป็น “การลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน” หรือใช้กระบวนการตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะ บุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 3.1.3 สถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง: พ้นจากข้อสันนิษฐานของกฎหมายคนเข้าเมือง ว่า “เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” เดิม-การที่ผู้เฒ่าโคอิ ไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้เฒ่าโคอิจึงอาจถูกเข้าใจและตีความให้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยข้อสันนิษฐานของกฎหมาย คือ มาตรา 57 วรรคแรกแห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522[25] อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เฒ่าได้รับการสำรวจและบันทึกรายการตัวบุคคลว่าเป็น “ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” ในเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ผู้เฒ่าโคอิ จึงไม่เข้าข่ายตกเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยข้อสันนิษฐานของมาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ 3.2 สถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน: ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีสิทธิครอบครองที่ดิน สิทธิในทางเอกชนของผู้เฒ่าโคอิ ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ เมื่อผู้เฒ่ามีสภาพบุคคล ก็ย่อมมีความสามารถในการมีสิทธิ (Capacity of Acquistion Rights) ความสามารถในการใช้สิทธิ (Capacity of Exercise Rights) รวมถึงหน้าที่ในทางเอกชน (แพ่ง) ที่กฎหมายรับรองและกำหนดหลักเกณฑ์ไว้[26] อาทิ มีสิทธิและหน้าที่ตามนิติกรรมสัญญา สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิในการครอบครองทรัพย์ รับมรดก ฯลฯ เพราะสิทธิทางเอกชนเหล่านี้เป็นสิทธิของบุคคลทุกคน ไม่ขึ้นกับสถานะบุคคล หรือสัญชาติของผู้เฒ่า 3.2.1 ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[27] ทรัพย์สินต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ข้าวสาร อุปกรณ์การเกษตร ถ้วยชาม เสื้อผ้า รวมถึงตัวบ้าน ถือเป็นทรัพย์สิน (มาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ซึ่งผู้เฒ่าโคอิยึดถือเพื่อตน ถือว่าผู้เฒ่าโคอิมีสิทธิครอบครอง (มาตรา 1367 แห่งป.พ.พ.) ย่อมมีสิทธิใช้สอย ติดตามเอาคืน และขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินโดยมิชอบ (มาตรา 1336 แห่งป.พ.พ.) รวมถึงหากมีการกระทำใดๆ ที่เป็นการทำให้ทรัพย์สินของผู้เฒ่าเสียหาย 3.2.2 ผู้เฒ่าโคอิ และปกาเกอะญอที่บ้านบางกลอยใจ-แผ่นดิน ไม่ใช่ผู้บุรุก แต่เป็นผู้ทรงสิทธิในที่ดินและเป็นผู้ทรงสิทธิในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตาม รัฐธรรมนูญ[28] จากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เฒ่าโคอิครอบครองที่ดินบริเวณบ้านบางกลอยบน ซึ่งเป็นที่ดินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 และครอบครองที่ดินก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ จึงย่อมมีสิทธิครองครอง ให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วยประมวลกฎหมาย ที่ดิน (มาตรา 4)[29] และแม้ว่าผู้เฒ่าโคอิจะไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดิน มาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน[30] แต่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2540[31] ผู้ที่ครอบครองที่ดินก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้งการครอบครอง โดยที่รัฐยังไม่ได้เข้าไปจัดที่ดิน ย่อมมีสิทธิครอบครองอยู่ ดังนั้นผู้เฒ่าโคอิ จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินอยู่ จนถึงปี พ.ศ. 2524 ที่ได้มีการประกาศให้พื้นที่นี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524[32] แต่เนื่องจากผู้เฒ่าโคอิ (รวมถึงปกาเกอะญอในบ้านบางกลอยบน) ใช้ชีวิตในวิถีกะเหรี่ยงในป่ามาโดยตลอด ไม่ทราบว่ามีการประกาศพื้นที่อุทยานแก่งกระจาน จึงไม่ได้ไปแจ้งขอกันพื้นที่ และไม่ได้มีเจตนาบุกรุกพื้นที่อุทยาน หากแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศให้บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่อุทยาน จะสามารถกล่าวอ้างได้หรือไม่ว่าเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตามมาตรา 66 แห่งรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ วิถีชีวิตของกะเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการเสนอให้ไร่หมุนเวียน เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ผู้เฒ่าโคอิ และปกาเกอะญอคนอื่นๆ ที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินจึงมิใช่ผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 4. บทสรุป สรุปได้ว่า สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนของผู้เฒ่าโคอินั้น ผู้เฒ่าโคอิมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติเป็นผู้มีสัญชาติไทย ด้วยเพราะผู้เฒ่าโคอิมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของการเป็นผู้ทรงสิทธิใน สัญชาติไทย ส่วนสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎร นั้น พบว่าผู้เฒ่าโคอิเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎรตั้งแต่ปีพ.ศ.2499, เป็นชาวเขา ซึ่งได้รับการบันทึกในท.ร.ชข.ในปีพ.ศ.2531 มีสถานะเป็น “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร” และอยู่ระหว่างเตรียมยื่นคำร้องเพื่อให้อำเภอแก่งกระจาน ออกเอกสารรับรองว่าผู้เฒ่ามีสัญชาติไทย (เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย) ในแง่ของสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนแล้ว ผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในบ้าน ทรัพย์สินต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมิใช่ผู้บุรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากแต่ทำกินในที่ดินมาตั้งแต่ก่อนการประกาศประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับคือ ปีพ.ศ.2497 .............. [1] งานค้นคว้าทางวิชาการเพื่องานสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อ เฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) และเพื่อสนับสนุนการเตรียมฟ้องคดีของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ [2] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ [3] ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม อ่าน ‘ปกาเกอะญอ โคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน โดยกรกนก วัฒนภูมิ และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, เอกสารเพื่อสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT), ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2555 สืบค้นจาก http://www.statelesswatch.org/node/508 [4] เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามแฟ้มเอกสารบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4 [5] สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554 ที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี [6] สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ อดีตเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ว่าเขาเคยได้รับมอบหมายให้มาสำรวจพื้นที่ใจแผ่นดินและบ้านบางกลอย ด้วยเพราะเวลานั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้ข่าวว่าบริเวณดังกล่าวมีชุมชน กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ในเวลาเขาเดินเท้าจากบ้านพุระกำ (อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี) เข้าทางต้นน้ำลำพาชี ผ่านสันปันน้ำและเดินลงมาทางต้นน้ำบางกลอย โดยมีคนกะเหรี่ยงที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นลูกหาบและคนนำทางคือนายกระทง จีโบ้ง (ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้าน) และจากการตรวจสอบจากเอกสารคือสำเนา ท.ร.ชข. ที่ถูกจัดทำขึ้นในปี 2531 ในเบื้องต้นพบว่ามีจำนวน 8 เล่ม(แฟ้ม) ด้วยกัน ในเวลานั้นพื้นที่เหล่านี้ขึ้นกับกิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีประกอบไปด้วยบางกลอย 1 บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน [7] ฝ่ายการทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, “ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย, เอกสารเผยแพร่, มกราคม 2542 พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ เลย พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี [8] มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสถิติจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อรอการพิสูจน์สถานะต่อไป [9] สัมภาษณ์กระทง จีโบ้ง 3-4 กันยายน 2554 ที่ .... อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี [10] เป็นการพิจารณาสถานะบุคคลตามกฎหมายภายใต้หลักวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล [11] ดูเพิ่มเติม ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, มอง 100 ปีกฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ‘ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน, เอกสารเพื่อการพัฒนาหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเอกสารเพื่อสื่อสารสาธารณะของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้ รัฐ (SWIT) ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ปรับปรุงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554, สืบค้นจาก http://www.statelesswatch.org/node/476 [12] ก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยยังเป็นสยามอยู่ได้มีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติมา อาศัยอยู่รวมกันอยู่เป็นเวลานานแล้วแล้ว อาทิ ชาวเปอร์เซียจชในแถบอยุธยา ชาวมักกะซาร์ ในเขตมักกะสัน ชาว จีน ฝรั่ง ลาว มอญ ฯลฯ คำว่า \สยาม\" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000 เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ต้นมา โดยปรากฏใช้เป็นชื่อประเทศชัดเจนใน พ.ศ. 2399 แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า \"สยาม\" หรือ \"ชาวสยาม\" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลย ส่วนคำว่า \"คนไทย\" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว ดูเพิ่มเติม ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net