Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับการขึ้นราคาก๊าซ NGV โดยส่วนตัวของผู้เขียน เห็นด้วยว่า นโยบายการอุดหนุนก๊าซ NGV และ LPG นั้นไม่ยั่งยืน เพราะราคาขายปลีกที่ถูกกว่าราคาตลาดทำให้มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งมีการลักลอบนำก๊าซ LPG ออกนอกประเทศทำให้เป็นรูรั่วทางการเงินที่อุดเท่าไรก็ไม่พอ แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขาของสาธารณชน คือ ต้นทุนของก๊าซ NGV และ LPG ที่แท้จริงนั้นคือเท่าไร เพราะดูเหมือนประชาชนจะถูกมัดมือชกเนื่องจากราคาขายปลีกที่ทางกระทรวงพลังงานอ้างถึงนั้นล้วนเป็นราคาที่ “บวกต้นทุน” ของผู้ประกอบการ มิใช่ราคาตลาดเนื่องจากตลาดพลังงานไทยเป็นตลาดที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำแบบเบ็ดเสร็จโดย ปตท. และ บริษัทในเครือ ทำให้ไม่มีราคาตลาดที่สามารถอ้างอิงได้ มีแต่ตัวเลขต้นทุนที่ “ที่ปรึกษา” ของ กระทรวงพลังงานคำนวณขึ้นมา ซึ่งในกรณีของราคา NGV ที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ คือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 18 ของตึก ปตท.ที่ถนนวิภาวดีรังสิต และมีอดีตผู้บริหาร ปตท. รวมถึง คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นกรรมการมูลนิธิสถาบันแห่งนี้อีกด้วย โดยหลักการแล้ว รัฐควรทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่แนวนโยบายด้านพลังงานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกลับสะท้อนว่ารัฐอยู่ข้างผู้ประกอบการซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น (1) การงุบงิบโอนโครงข่ายท่อก๊าซที่ผูกขาดให้แก่ บมจ. ปตท. (รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทุกประการที่ ปตท. เคยได้รับ) ในช่วงที่มีการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544 (2) การขึ้นราคาก๊าซ LPG เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 12 บาท และ (3) การเปิดทางให้ ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ธุรกิจกลั่นน้ำมันหลายแห่งจนกระทั่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลั่นน้ำมัน 5 แห่งใน 6 แห่ง (เหลือเพียง เอสโซ่ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเทคโอเวอร์) ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยมีส่วนแบ่งตลาดการกลั่นน้ำมันสูงถึงร้อยละ 85 อนึ่ง การผูกขาดธุรกิจกลั่นน้ำมันส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจต่อเนื่องคือ ธุรกิจปั๊มน้ำมันด้วย ทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านแทบจะไม่พบเจอปั๊มน้ำมันอิสระเลย ที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพที่ร่อแร่เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตนเอง ต่างกับแต่ก่อนที่เราจะเห็นปั๊มน้ำมันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เชลล์ Jet คาลเท็กซ์ หรือ เอสโซ่ ก็ดี การที่รัฐบาลเลือกที่จะเข้าข้าง ปตท. ตลอดมาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ (สำหรับระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ) เนื่องจากกำไรอันมหาศาลของ ปตท. (ปี พ.ศ. 2553 กำไร 167,376 ล้านบาท) นั้นเป็นขุมทรัพย์ของผู้กุมอำนาจนโยบายทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ หากท่านเข้าไปดูโครงสร้างกรรมการ ปตท. ทุกยุคทุกสมัย ก็จะพบแต่ข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานอัยการ เป็นหลัก [1] โดยมีนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับการเมืองเข้ามาร่วมด้วย เช่นในปัจจุบันก็มีนักธุรกิจสายโทรคมนาคมเข้าเป็นกรรมการ ปตท. ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจที่มีรายได้เกือบล้านล้านบาท จะไม่มี “มืออาชีพ” ทางด้านพลังงาน กฎหมายพลังงาน หรือ ธุรกิจพลังงานที่เข้ามาบริหารจัดการเลย นอกจากนี้แล้ว รายงานการวิจัยของ ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ [2] ยังระบุว่าค่าตอบแทนคณะกรรมการของ ปตท. ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งสูงถึง 42 ล้านนั้น (หรือกรรมการท่านละเกือบ 3 ล้านบาท) สูงกว่าของค่าใช้จ่ายในหมวดเดียวกันนี้ของ Statoil ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของนอร์เวย์ซึ่งมีรายได้ธุรกิจเป็นสองเท่าของ ปตท. และมีการประชุมกรรมการถึง 27 ครั้งต่อปี ทำให้เกิดความสงสัยว่าค่าตอบแทนสูงลิ่วนั้นเป็นไปเพื่อที่จะ “ซื้อใจ\ กรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของ ปตท. หรือไม่ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การ “ผูกขาดโดยเสรี” ของ ปตท. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทย ยิ่งในยุคที่ราคาน้ำมันแพง ประเทศยิ่งต้องขวนขวายในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อที่จะประหยัดเงินตรา แต่ระบบที่ผูกขาดแบบสมบูรณ์ที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อสิ่งเหล่านี้เลย ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลต่างก็ดูเหมือนจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหานี้เลย ผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลก็ดูเหมือนจะเข้าไปมีส่วนได้เสียกับ ปตท. เกือบหมด ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในฐานะผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ก็ไม่แยแสต่อราคาค่าก๊าซที่รับซื้อเพราะต้นทุนทั้งหมดสามารถ “ผ่านต่อ” ไปยังค่าไฟฟ้าซึ่งผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ ในขณะที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลมิให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจพลังงานก็มิได้ดำเนินการแต่อย่างใดเพื่อที่จะสลายอำนาจผูกขาดของ ปตท. เช่น โดยการออก กฎ กติกาเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถเชื่อมต่อและเช่าใช้โครงข่ายท่อก๊าซที่ ปตท. ผูกขาดในปัจจุบันแม้จะปฏิบัติหน้าที่มาแล้วถึง 4 ปี ผู้เขียนยังไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลไหนที่จะกล้าหรืออยากที่จะสลายขุมทรัพย์ของ ปตท. เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าการผูกขาดของ ปตท. นั้นเป็นเพียงระเบิดเวลา เพราะความไม่พอใจนั้นยิ่งนับวันยิ่งแพร่หลายในกลุ่มประชาชนในวงกว้างมากขึ้นดังที่สะท้อนจาก blog ต่างๆ หรือ comment ในบทความในสื่อที่เกี่ยวกับ ปตท. ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ เป็นมุมมองในด้านลบเกือบทั้งหมด ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วเมื่อแผนที่จะลดการถือหุ้นของภาครัฐใน ปตท. ให้เหลือร้อยละ 49 นั้นเป็นอันต้องพับไป ผู้เขียนหวังว่ารัฐบาลคงจะตระหนักถึงปัญหาที่กล่าวมานี้ และคลายข้อกังขาของสาธารณชนโดยการให้กระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนก๊าซ NGV และ หลักเกณฑ์ในการขึ้นราคาก๊าซ LPG ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจปิโตรเคมีโดยเฉพาะ ตามที่ คุณ รสนา โตสิตระกูล สว. กทม. และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตั้งคำถาม ชะตากรรมของคนไทยและธุรกิจไทย (ที่ไม่ผูกขาด แต่ต้องแข่งขัน) จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทนอยู่กับระบบที่มีอยู่ไปได้อีกนานเพียงใด. [1] เมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 ปปช. ได้มีข้อเสนอแก่ ครม. มิให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ เป็นประธานกรรมการ และ เจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือ ด้วยเหตุผลของการทับซ้อนของบทบาทหน้าที่และผลประโยชน์ทางการเงิน [2] บทที่ 5 กรณีศึกษาบริษัท ปตท (มหาชน) จำกัด ใน รายงานฉบับสมบูรณ์ “ธรรมาภิบาลในองค์กรของรัฐ: กรณีศึกษารัฐวิสาหกิจไทย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 2552"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net