Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอต่อ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ครั้งเมื่อสมัยศึกษาอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษา ได้รับคำแนะนำจากท่านเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเริ่มเขียนบทความเชิงวิชาการก็ว่าได้ แต่ความสำคัญของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เรื่องนั้นแต่มันอยู่ที่ประเด็นที่นำเสนอมากกว่า ซึ่งผู้เขียนนำมาเรียบเรียงและนำเสนอใหม่อีกครั้งในที่นี้ “กรอบคิด” เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากต่อการที่จะกำหนดแนวทางต่างๆของสังคมหรือโลกนี้ก็ว่าได้ การกระทำสิ่งใดของมนุษย์นั้นก็มักจะอิง “กรอบคิด” ที่ตนเองได้รับและถูกปลูกฝังมา ซึ่งอาจจะมาจากวัฒนธรรม ศาสนา หรืออะไรก็ได้ที่มากระทบตัวเราหรืออยู่รอบๆตัวเรา ที่มาที่ไปของ “กรอบคิด” นั้น มาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ขนบธรรมเนียม ประเพณี ไม่เว้นแม้เรื่องที่กำหนดโดย การเมือง (การเมืองเชิงวัฒนธรรม) หากแต่มีการผลิตซ้ำของข้อมูลเหล่านี้เรื่อยๆและต้องเป็นที่เห็นควรของสังคมโดยรวมแล้วละก็ สิ่งต่างจะค่อยๆซึมผ่านและตกผลึกเป็น “กรอบคิด” ฝังอยู่ในความคิดไปในที่สุด และจะอยู่ไปจนกว่ามีข้อมูลใหม่ที่สังคมยอมรับเข้ามาแทนที่ หากจะยกตัวอย่างในสังคมไทยแล้วละก็ ผู้เขียนก็จะพูดถึง “การเมืองเชิงวัฒนธรรม” แล้วกัน ซึ่งตรงนี้ทุกคนจะได้เห็นภาพว่ากรอบคิดถูกกำหนดและสร้างขึ้นมาและก็กลายเป็นรากฐานของสังคมที่จะปฏิบัติสืบต่อกันมาในที่สุด ครั้งเมื่อสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยยุคนั้น คณะราษฎร์ฯ ยังมีอำนาจอยู่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดที่ให้นำรูปของตนติดบนฝาผนังขึ้นเป็นการบ่งบอกซึ่งความศรัทธาที่มีต่อผู้นำและแสดงพลังให้เห็นว่าตนเองสำคัญ เพื่อที่จะลดอำนาจของฝ่ายตรงข้ามลง (คงไม่สะดวกในการอธิบายรายละเอียด) จน “กรอบคิด” เรื่องรูปที่ติดฝาผนังนั้นมีมาจนถึงปัจจุบันโดยที่จุดมุ่งหมายก็ยังมิได้เปลี่ยนไปแต่ประการใด ซึ่งเห็นได้ว่า “กรอบคิด” มีความสำคัญมาก ยิ่งหากผู้ใดสร้างจนนำไปสู่การกำหนดเป็น “กรอบคิด” ของสังคมได้แล้วถือว่าผู้นั้นมีความสามารถเป็นอย่างมาก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การที่เราจะเปลี่ยนอะไรของสังคม สิ่งแรกที่ควรจะเปลี่ยนเหนือสิ่งอื่นใด นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลง “กรอบคิด” นั่นเอง หากพูดกันให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า คงต้องทำลาย “กรอบคิด” เดิมๆที่กำหนดสังคมให้อยู่ในรูปแบบที่ตายตัว ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “กรอบคิดแบบเรขาคณิต” หากเปรียบแล้ว “กรอบคิด” ก็คงเหมือนกับสี่เหลี่ยมทรงเรขาคณิตที่คงตัวและไม่มีวันที่จะเปลี่ยนรูปร่างได้ ขาดซึ่งความยืดหยุ่นและความเป็นธรรมชาติราวกับเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว หากจะยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เอาที่ใกล้ตัวเราๆมากที่สุดก็คือ หากเรากล่าวถึงชาวนา ลองจินตนาการดูว่าคุณเห็นอะไรในสมองของคุณ เชื่อแน่ว่าร้อยทั้งร้อยก็คงหนีไม่พ้นภาพ ชาย หรือ หญิง แต่งตัวซอมซ่อ ถือเคียว พร้อมควายและคันไถ หรือหากนึกถึง พนักงานธนาคาร ก็จะนึกถึงภาพ ชาย หรือ หญิง ใส่สูทผูกไทด์ ทำงานอยู่ในห้องแอร์ เป็นแน่ หากกล่าวถึงโครงสร้างทางสังคมในที่สุดแล้วกรอบคิดแบบนี้ เป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นกระดูกชิ้นโตต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อผู้คนพอใจที่จะมีกรอบคิดแบบนั้นก็ย่อมส่งผลต่อสังคมว่า ชาวนา ก็ต้องเป็นแบบที่เขาคิดเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เมื่อคุณเป็นชาวนาคุณก็ต้องยอมรับหลักนี้ เพราะแม้แต่ตัวชาวนาเอง ก็ยอมรับหลักนี้เช่นกันไม่เช่นนั้นก็คงไม่จำเป็นต้องส่งลูกส่งหลานมาเรียนหนังสือในเมือง จนถึงกระทั่งการขายหรือจำนองที่ดินเพื่อให้ลูกหลานของตนได้เรียนสูง จะได้ไม่ลำบากเช่นตน ดังนั้นการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือ การทำลายกรอบคิดรูปทรงเรขาคณิตที่อยู่ในสมองก่อนเป็นสิ่งแรก โดยส่งเสริมให้คนลบภาพที่นิยามในสมองทิ้งไป เลิกใช้ภาพเดิมๆแทนคำเหล่านั้น เลิกจำกัดความคิดว่า สิ่งนี้ต้องคู่กับสิ่งนี้เท่านั้นจึงจะเหมาะสม ชาวนาควรจะคู่กับความจนเท่านั้นจึงจะเหมาะสม หรือแม้แต่ความคิดที่ว่าเราผลิตข้าวก็ควรกินข้าวราคาถูก เราบ่นกันมากเมื่อข้าวขึ้นราคาโดยที่เราไม่เคยบ่นเลยในยามที่ กระเป๋าหลุยส์ มันจะแพงมากแค่ไหน ลองเปิดกว้างทางความคิด ชาวนาควรจะเป็นอะไรก็ได้ ชาวนาเป็นคนจนก็ได้ เป็นผู้ที่มีเครื่องบินส่วนตัวก็ได้ มีรถยนต์หรูๆขับก็ได้ สรุปแล้วก็คือ เป็นได้ทุกอย่างนั่นเอง ต้องไม่ลืมว่ากรอบคิดแบบเรขาคณิตนี่แหละเป็นตัวการสำคัญที่ผู้เขียนเชื่อว่าทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก หากไม่เปลี่ยนความคิดเหล่านี้ความเหลื่อมล้ำก็จะมีอยู่ต่อไป กรอบของสังคมถูกบล็อกด้วยกรอบทางความคิด จนในที่สุดแล้วไม่อนุญาตให้ผู้ใดออกจากกล่องความคิดสี่เหลี่ยมนี้ไปได้ เป็นการแสดงถึงสังคมนั้นๆยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ แต่ก็ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ยากมาก ยากมากกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ยากมากกว่าการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯเสียอีก สิ่งต่างๆเหล่านี้คงไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆภายในวันเดียงเป็นแน่ เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยของบ้านเราผ่านมา 78 ปี ก็ยังคงไม่สมบูรณ์นัก และปัญหาอีกประการที่สำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดนี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตและสงสัยล่วงหน้าว่า แล้วผู้คนที่อยู่ในสังคมที่สูงกว่าชาวนาเล่าจะยอมรับและเปลี่ยนแปลงกรอบคิดแบบเรขาคณิตนี้หรือเปล่า หรือว่าจริงๆแล้วเขาเหล่านั้นไม่อยากที่จะให้ชาวนาขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวหรือสูงกว่าเขา เขาพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นก็แสดงให้เห็นว่าเขาก็พอใจเช่นกันที่จะปล่อยให้สังคมเหลื่อมล้ำอยู่ต่อไป ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net