Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.ภาค 4 เผยกลางเวทีสมัชชาปฏิรูป ชี้ความไม่เป็นธรรมเพียบ สามีต้องขึ้นไปสู้คดีไฟใต้ที่ขอนแก่น เหตุทหารไม่ยอมมาขึ้นศาลปัตตานี สุดท้ายยกฟ้อง พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 4 มกราคม 2554 มีการอภิปราย หัวข้อ มุมมองข้อคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน เวทีอภิปรายมีนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี และพ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมอภิปราย โดยมีนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะกรรมการจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นชายแดนใต้ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ดำเนินรายการ พ.อ.ฐกร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยังจำเป็นต้องใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อยู่ แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการการใช้กฎหมายพิเศษฉบับนี้ หากส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก แม้ว่าเป็นกฎหมายที่จะมาใช้กับคนจำนวนน้อย คือกลุ่มก่อความไม่สงบก็ตาม และเห็นด้วยที่จะให้ทยอยยกเลิกทีละอำเภอ โดยจะมีการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ให้ผู้ต้องหาอบรมแทนการถูกจำขังขึ้นมาแทน สตรีผู้เข้าร่วมรายหนึ่งกล่าวในการแสดงความเห็นว่า การนำทหารจากนอกพื้นที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ส่งผลให้สาววัยรุ่นมุสลิมในพื้นที่เสียคนจำนวนมาก เพราะทหารทำให้สาวมุสลิมท้อง จึงขอให้ถอนทหารออกนอกพื้นที่ พ.อ.ฐกร กล่าวตอบเรื่องนี้ว่า ทหารได้ออกกฎระเบียบสำหรับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า แค่การมองสาวในเชิงชู้สาวก็ผิดวินัยแล้ว เพราะเรื่องเป็นมีปัญหามาก เมื่อปีที่แล้วมีหญิงสาวจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หนีตามทหารที่มาจากภาคอีสานถึงหนึ่งพันคน แต่ตามไปแล้วก็ต้องกลับมา เพราะทหารพวกนั้นมีลูกมีเมียแล้ว เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะสาวๆ ชอบทหารเพราะแต่งตัวหล่อ “เรื่องนี้เป็นปัญหาของทหารเอง ผมรับที่จะไปแก้ไขเพราะผมดูแลเรื่องนี้อยู่ จะไม่ให้มีการละเมิดและมีการดูถูกดูหมิ่นคนในพื้นที่” พ.อ.ฐกร กล่าว นางคำนึง ชำนาญกิจ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากสามีถูกควบคุมตัวจากนั้นถูกดำเนินคดีความมั่นคง แต่ปัจจุบันศาลยกฟ้อง แต่ขณะคดีขึ้นศาล พยานที่เป็นทหารได้กลับไปอยู่ที่ภาคอีสานแล้ว ไม่ยอมมาขึ้นศาลที่ปัตตานี แต่โอนไปพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่น และนครศรีธรรมราชทำให้ต้องสามีเดินทางไปขึ้นศาลที่นั่น ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการสู้คดีสูงมากจนต้องขายบ้าน ถามว่ายุติธรรมหรือไม่ นางมุมตัส หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ได้นำสตรีมุสลิมคนหนึ่งมาแสดงพร้อมกับกล่าวว่า สามีเธอถูกศาลตัดสินประหารชีวิตจากคดีอุบัติเหตุรถยนต์ทหารพลิกคว่ำ มีทหารเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้หักพวงมาลัยเพื่อหลบหนี ระหว่างเดินทางด้วยรถยนต์ซึ่งทหารเป็นคนขับ โดยขณะนั้นสามีเธอถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยสามีเธอยืนยันว่า ขณะเกิดอุบัติเหตุกำลังหลับอยู่ ส่วนสาเหตุของอุบัติเหตุเพราะทหารขับรถเร็วและประมาท ไม่ได้หักพวงมาลัยตามที่ถูกกล่าวหา คำถามคือพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยไม่มีนำหนักพอรับฟังเท่ากับพยานของโจทก์หรือ ส่วนผู้เข้าร่วมอื่นๆ มีข้อเสนอเช่น ให้มีการทำประชามติในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไว้ในสถานที่เดียวกัน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net