Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากน้ำท่วมบ้าน ผมได้ไปจ่ายค่าน้ำประปาเดือนที่ก่อน แล้วถามเจ้าหน้าที่การประปานครหลวง ว่าบ้านน้ำท่วมใช้น้ำไม่ได้ต้องจ่ายค่าบริการ พวกเขาบอกว่าต้องจ่าย ทำให้เกิดความสงสัยว่า ในเมื่อส่งมอบบริการให้ไม่ได้ แล้วทำไมผมต้องจ่าย ในเมื่อหมู่บ้านมีการตัดน้ำและไฟฟ้าไปแล้ว ผมคิดว่า การสนทนากับเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ จึงกลับบ้าน แล้วถามผ่านเว็บบอร์ดรับเรื่องราวร้องทุกข์ในวันที่ 20 ตุลาคม และโพสต์ข้อความว่า “ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ กปน. ว่าบ้านผมถูกน้ำท่วม ไม่สามารถใช้น้ำประปาได้ ต้องเสียค่าบริการหรือไม่ ถ้าต้องเสีย โปรดส่งมอบน้ำประปาไปที่บ้านเลขที่ ...ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง นนทบุรี มิฉะนั้นถือว่าการบริการไม่ครบถ้วน” ผมเสียเวลาเฝ้าติดตามมาหลายวัน ทั้งไม่มีอีเมล์ตอบกลับและการโพสต์ขึ้นเว็บบอร์ด เนื่องจากการโพสต์บนเว็บบอร์ด กปน. ต้องให้แอดมินพิจารณา ผมเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ กปน. คงจะน้ำท่วมหมดแล้วจึงไม่สามารถตอบได้ บนเว็บไซต์ของ กปน. ก็แสดงความห่วงใยกับผู้ประภัยอย่างสูง มีข่าวการส่งน้ำดื่มมากถึง 50,000 ขวด มูลค่าน่าจะประมาณ 100,000 บาท ไปให้ผู้ประสบภัยภาคเหนือที่อยู่นอกเขตบริการ แต่ยังไม่มีข่าวสารใดมาถึงผู้อยู่ในพื้นที่บริการ ต่อมาผมติดต่อไปที่ TRUE เพื่อขอพักการใช้อินเตอร์เน็ตชั่วคราวประมาณ 2 เดือน เขาบอกว่า ต้องเสียบริการเดือนละ 300 บาท ครึ่งหนึ่งของค่ารายเดือน ผมจึงตัดสินใจอย่างไม่ลังเลว่ายกเลิกการใช้บริการถาวร เพราะมีทางออกหลังน้ำลดคือไปใช้บริการอินเตอร์เน็ตของ 3BB แทน ส่วนการไฟฟ้านครหลวง น่าจะเป็นเหมือนกับ กปน. ความจริง ผมเข้าใจถึงปัญหานี้สำหรับพื้นที่ประสบภัยดี เพียงแต่ครั้งนี้ผมขอร้องเรียนในฐานะผู้เดือดร้อน ซึ่งผมคิดว่าในเมื่อการส่งมอบบริการไปไม่ถึง ก็ไม่ควรเก็บบริการ โดยเฉพาะขณะนี้ ได้ตัดน้ำและไฟฟ้าที่หมู่บ้านของผมไปแล้ว ในประสบการณ์ครั้งนี้ กับบริการที่มีการแข่งขันบ้างคือ อินเตอร์เน็ต ผมมีทางเลือกระหว่าง TRUE กับ 3BB ดังนั้น ไม่ลังเลใจที่ยกเลิกบริการ TRUE และไปใช้ 3BB แทนภายหลังน้ำลด ซึ่งอาจจะนานถึง 3 เดือน ประหยัดเงินเกือบสองพันบาท บริการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ เราไม่มีทางเลือกใดที่จะเปลี่ยน ผมไม่ขอความเห็นใจจากพวกเขา แต่พวกเขาไม่ควรเก็บค่าบริการ ถ้าพวกเขายังต้องการเก็บที่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนแล้ว ผมขอเสนอทางออกของการให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาให้มีการแข่งขันมากขึ้น การไฟฟ้าผลิต เป็นผู้จัดส่งไฟฟ้า ด้วยการเป็นเจ้าของระบบสายส่ง เพราะพื้นที่ระบบสายส่งมาจากการเวรคืนในราคาถูกและมีการผูกขาด และรับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศ เพราะพื้นที่สร้างเขื่อนเป็นพื้นที่สาธารณะและบางส่วนมาจากการเวรคืนจากชาวบ้านในราคาถูก โรงงานผลิตไฟฟ้าต่างๆ ประมูลให้เอกชนทำ การไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาครับผิดชอบสถานีจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่และระบบส่งย่อย แต่จะยุบเป็นองค์กรเดียวกับผู้รับผิดชอบระบบสายส่งกลางก็ย่อมทำได้ การประปานครหลวงและการประปาภูมิภาค เป็นผู้จัดส่งน้ำ ด้วยการเป็นเจ้าของระบบท่อ การผลิตน้ำเป็นของเอกชนทั้งหมด การให้เอกชนผลิตต้องไม่มีการผูกขาดในระดับพื้นที่ ทุกคนมีสิทธิเลือกบริการของใครก็ได้ แน่นอนพวกเขาสามารถจัดระบบพูลที่ขายผ่านระบบจัดส่งกลาง มีการวัดปริมาณส่งเข้าและออก และบริหารค่าบริการ สิ่งเหล่าควรจัดการได้ ด้วยกฎหมายผูกขาดในปัจจุบัน การประปานครหลวงและภูมิภาคเท่านั้นที่จะเป็นผู้วางท่อ การไฟฟ้านครหลวงและภูมิภาคเท่านั้นเป็นผู้ปักเสาและวางสาย หมู่บ้านบางแห่งใน อ.บางกรวย อยู่ห่างจากโรงงานผลิตน้ำคลองมหาสวัสดิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร ไม่สามารถใช้น้ำประปาได้ เพราะ กปน. แจ้งว่า จำนวนประชากร 100 หลังคาเรือนไม่คุ้มค่าการวางท่อ เมื่อ อบต.จะวางก็ทำไม่ได้ เนื่องจาก กปน. อ้างกฎหมายผูกขาดที่ให้ กปน. เป็นผู้วางเท่านั้น ในที่สุด อบต.ต้องจ่ายค่าก่อสร้างให้กับ กปน. ซึ่งราคาประเมินของ อบต. เป็นเพียง 2/3 ของ กปน. ขอยกตัวเลข เช่น อบต. ใช้งบเมตรละ 1,000 บาท แต่ กปน. จะใช้งบ 1,500 บาท และทรัพย์สินต้องโอนให้ กปน. เมื่อมีการปรับโครงสร้างการให้บริการสาธารณูปโภคใหม่จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ย่อมสามารถจัดการตัวเองในยามวิกฤติได้ โดยไม่ต้องวิงวอนร้องขอ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net