Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.ระยอง จัดเวทีรับฟังความเห็นเตรียมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 19-21 ธ.ค.นี้ พบประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแรง เผยน้ำท่วมภาคกลางทำหวั่นย้ายฐานการผลิตมามาบตาพุด ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม-แรงงาน เมื่อวันที่ 14 ต.ค.54 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.ระยอง จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ พบประเด็นสิ่งแวดล้อมมาแรง เสนอจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติและศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมจังหวัด เน้นประชาชนร่วมจัดการลุ่มน้ำ เวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน จากภาครัฐ ประชาสังคม นักวิชาการ เอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อหารือเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้ประเด็นหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจังหวัดระยอง กล่าวถึงความสำคัญของเวทีครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐ การเมือง และภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขึ้นในจังหวัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนระยอง แม้จะเป็นผลกระทบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม แต่ก็ต้องถือเป็นผลกระทบทางสังคมด้วย “การที่คนระยองมารวมตัวกันครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาถูกจุดยิ่งขึ้น เพราะเราจะได้ข้อเสนอที่มาจากเสียงของคนระยองเอง” รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองกล่าว ด้าน ดร.วัฒนา บรรเทิงสุข รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจังหวัดระยอง กล่าวว่า เวทีวันนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง ‘การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน’ เพราะที่ผ่านมา ชาวระยองต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางน้ำ ทั้งจากน้ำฝนปนเปื้อนสารเคมี และแหล่งน้ำต่างๆ ถูกแย่งไปใช้ “ชาวระยองคิดตามและคิดต่อจากร่างข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า ทุกภาคส่วนในจังหวัดจะเข้ามาช่วยกันจัดการลุ่มน้ำอย่างไร ให้ชาวระยองมีความสุข อยู่กินกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย และร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมที่รุกเร้าพวกเราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อเสนอจากเวทีว่า ให้ภาครัฐเปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำให้มากขึ้น โดยได้ชักชวนประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ครอบครัว ชุมชน ภาคการศึกษา และเยาวชน” ดร.วัฒนากล่าว ดร.วัฒนากล่าวต่อถึงข้อเสนอสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ คนระยองเห็นร่วมกันว่า จำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติและศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวล้อมของจังหวัด “ศูนย์ภัยพิบัติตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ และฝึกอบรมประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และคอยเตือนภัยในภาวะวิกฤต ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดระยองถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากน้ำทะเลหนุนและอุบัติเหตุจากภาคอุตสาหกรรม ส่วนศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัด จะทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งกระตุ้นเตือนภาครัฐให้มีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม และร่วมสร้างนวัตกรรมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อลดภัยจากมลพิษ” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมเวทีสนใจสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะข่าวน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีการวิเคราะห์ร่วมกันว่า แม้ระยองไม่ใช่พื้นที่ประสบอุทกภัยโดยตรง แต่หลังจากนี้ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเป็นไปได้สูงที่ภาคอุตสาหกรรมในอยุธยาจะย้ายฐานการผลิตมาที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนระยอง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาคแรงงาน อนึ่ง กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดระยอง เกิดขึ้นจากผลกระทบของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปี 2532 ซึ่งทำให้ชาวระยองเจ็บป่วยจากมลพิษอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2542 ประชาชนจึงได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายสมัชชาสุขภาพเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และทำงานต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพที่เป็นผลมาจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดระยองได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน และปัจจุบัน จ.ระยองกำลังเตรียมนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะของจังหวัดด้วย กลุ่มเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดระยองที่มาร่วมให้ความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ รายงานโดย: สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net