Skip to main content
sharethis

ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ร้องขอความมั่นคงในที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกิน จากพัทลุงสู่ตรังเข้าพังงาสู่ภูเก็ต ปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก’54ภาคใต้ ขบวนองค์กรชุมชน ขอหลักประกัน ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน แรลลี่คนจน – ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ร้องขอความมั่นคง ในที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกิน จากพัทลุงสู่ตรังเข้าพังงา ไปปิดงานที่ภูเก็ต จบสิ้นลงไปด้วยดี สำหรับงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10–12 ตุลาคม 2554 ในรูปแบบขบวน Car Rally เดินทางมาจากจังหวัดพัทลุง–ตรัง–พังงา กระทั่งจบลงที่ภูเก็ต แม้ว่าการจัดงานที่พัทลุง และตรังฝนจะไม่ตก แต่การจัดงานที่พังงา ฝนกลับกระหน่ำตกอย่างหนัก จนขบวน Car Rally ต้องเดินทางฝ่าสายฝนมายังภูเก็ต ฝนมาหยุดตกก็ตอนใกล้รุ่งของวันที่ 12 ตุลาคม 2554 แทบไม่มีใครคาดคิดว่า การจัดงานวันสุดท้ายที่สนามหญ้าหน้าชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา จะรอดพ้นจากสายฝน เต็นท์ในสนามหญ้าที่เปียกแฉะไปด้วยโคลน ขณะน้ำทะเลเอ่อปริ่มเต็มป่าชายเลน แต่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้ร่วมงานก็ช่วยกันปลูกป่าชายเลน และปล่อยปู จนพิธีการสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงร่วมกันได้กินข้าวกลางวัน ก่อนแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ทุกพื้นที่มีการเสวนาแลกเปลี่ยนและพูดคุย พร้อมกับยื่นข้อเสนอในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในประเด็นที่แตกต่างกัน เริ่มจากช่วงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พื้นที่เปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ที่นี่มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ลำสินธุ์ตำบลแห่งการเรียนรู้” นายอุทัย บุญดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง นำเสนอความเป็นมาของการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชาวลำสินธุ์ว่า ทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน ชาวลำสินธุ์จะนัดกันมานั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาของชาวบ้านตำบลลำสินธุ์ โดยเน้นกระบวนสร้างคนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ โดยไม่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง “มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของแต่ละกลุ่มในแต่ละชุมชน กระทั่งเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรเกษตรพอเพียง เป็นศูนย์กลางของการอบรมเรียนรู้แลกเปลี่ยนของคนในตำบลลำสินธุ์ นำไปสู่การสามารถจัดการตนเองได้” นายอุทัย กล่าว จากนั้นนายวิเชียร มณีโชติ ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่านนายประดิษฐ์ ทิพย์สุมาลัย ปลัดจังหวัดพัทลุง มีเนื้อหาว่าให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการของขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากภาคส่วนในจังหวัดตามสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นการมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชน และให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติงาน ให้จังหวัดให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล รวมทั้งประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณสมทบร่วมตามความเหมาะสม, ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัด (กบร. จังหวัด) โดยให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และให้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการแก้ปัญหาที่ดินในระดับพื้นที่อำเภอ ตำบล โดยมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐระดับจังหวัด ให้จังหวัดตั้งคณะทำงานประสานงานข้อมูลระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาครัฐในจังหวัด ทำหน้าที่ประสานข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ปัญหาชุมชน หรือโครงการต่างๆ ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก แม้จะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน เช่น การร่วมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินเขตป่าก็ตาม, ให้จังหวัดจัดระบบสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เช่น โครงการขุดลอกคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน โรงไฟฟ้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น รวมทั้งต้องศึกษาผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมชุมชน ระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ก็เคลื่อนขบวนมายังบ้านปากคลอง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ที่นี่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อสิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอะไรคือคำตอบ มีนายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน นายเกษม บุญญา ประธานองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน นายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นำเสวนา นายเกษมเล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อนในการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน และองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน “ผลจากการร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐ นำไปสู่การออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน กำหนดกฏเกณฑ์การแบ่งแนวเขตการทำประมงพื้นบ้าน ไม่ให้ใช้อุปกรณ์ประมงประเภททำลายล้าง ทั้งยังขับเคลื่อนปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่เกิดจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์” นายเกษม กล่าว นายธรรมฤทธิ์ เปิดภาพบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นว่า จากการที่ตนเป็นคนพื้นที่ที่รู้ปัญหา จึงรู้ว่าคนในตำบลรวมตัวต่อสู้เรื่องทรัพยากรชายฝั่ง ก่อนเคลื่อนมาสู่ประเด็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จึงนำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนร่วมกันไปกับชุมชน โดยคอยหนุนเสริมในส่วนที่สามารถช่วยได้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนในตำบล จากนั้นนายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เน้นให้มีการจัดการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมาตรการโฉนดชุมชน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามหลักฐานตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และมีการจัดทำผังชุมชน สนับสนุนการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และให้มีการเฝ้าระวังการเผชิญภัย และฟื้นฟูหลังประสบภัยธรรมชาติ ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 เคลื่อนมาถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ตอนบ่ายของวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่นี่ตั้งวงเสวนาเรื่อง “กระบวนชุมชนบทเรียนการแก้ปัญหาที่ดิน” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นางทัศนา นาเวศน์ นายสัญชัย ครุฑธามาศ นายวิษณุ เหล่าธนถาวร และนายแนบ ชามทอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา มีนายไมตรี กงไกรจักร นำเสวนา นางทัศนา นำเสนอกรณีปัญหาชุมชนทับยาง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงาว่า เดิมเป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ ที่เอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยูอาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธ์ที่ดิน จนพิสูจน์ได้ว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ชาวบ้านต้องการที่จะครอบครองที่ดินภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วมในรูปของโฉนดชุมชน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการผลักดันในระดับนโยบายอยู่กับทางรัฐบาล นายสัญชัย นำเสนอกรณีปัญหาชุมชนแหลมป้อม ตำบลน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาว่า เดิมชุมชนแหลมป้อมเป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ เช่นเดียวกับชุมชนบ้านทับยาง มีการออกโฉนดทับที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน รวมทั้งเส้นทางสัญจรภายในชุมชน จนชาวบ้านไม่สามารถเข้า–ออกจากชุมชนได้ มีการพิสูจน์สิทธิ์จนพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ พอเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล ชาวบ้านยอมรับข้อเสนอของนายทุน ที่รับว่าจะคืนที่ดินบางส่วนให้กับชาวบ้าน โดยแบ่งแยกโฉนดยกให้ชาวบ้านแต่ละหลัง “ต่อมานายทุนคู่พิพาทก็มากว้านซื้อกลับไป บีบให้ชาวบ้านต้องขาย ปัจจุบันชาวบ้านชุมชนแหลมป้อม ย้อนกลับไปเจอปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอีกครั้ง” นายสัญชัย กล่าว นายวิษณุ นำเสนอกรณีปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังาว่า อำเภอคุระบุรีอยู่ในเขตที่ดินของรัฐเกือบทั้งอำเภอ นับตั้งแต่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน เขตป่าชายเลน ฯลฯ ปี 2550 ชาวบ้านเข้าไปโค่นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก “ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่ดินจังหวัดพังงา มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด มีมติให้พิสูจน์สิทธิ์โดยการกันพื้นที่ป่าชายเลนออกจากชุมชน ทำให้สามารถออกเอกสารโฉนดที่ดินได้แล้ว 1 หมู่บ้าน” นายวิษณุ กล่าว จากนั้น นายสมาน ทองเทือก ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนางพิมพร ขอศานติวิชัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา มีเนื้อหาระบุว่า ให้จังหวัดกำหนดการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นวาระจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 โดยร่วมกันดำเนินการสำรวจ กั้นแนวเขตป่าออกจากที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนภายในปี 2560 ให้รัฐยกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชนเป็นพระราชบัญญัติโฉนดชุมชน ให้รัฐชะลอแผนพัฒนาภาคใต้ โดยต้องให้ประชาชนร่วมกำหนดแผนพัฒนาที่เหมาะสม ก่อนการดำเนินงานต่อไป ให้มีการยุบรวมหน่วยงานแก้ปัญหาและฟื้นฟูภัยพิบัติให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว ให้รัฐกระจายการจัดการระบบการป้องกัน และฟื้นฟูภัยพิบัติ ทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติระดับตำบลทุกพื้นที่ ให้ภาครัฐแยกการฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติออกจากปัญหาที่ดิน หรือข้อพิพาทเดิมของชุมชนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังเสนอเกี่ยวกับประเด็นสวัสดิการ แรงงาน ผู้พิการ ประเด็นอาชีพ การเกษตร ประเด็นเกี่ยวกับสตรี เด็ก เยาวชน ทรัพยากรและการท่องเที่ยวด้วย แม้ว่าการจัดงานที่พัทลุง และตรังฝนจะไม่ตก แต่การจัดงานที่พังงา ฝนกลับกระหน่ำตกอย่างหนัก จนขบวน Car Rally ต้องเดินทางฝ่าสายฝนมายังภูเก็ต ฝนมาหยุดตกก็ตอนใกล้รุ่งของวันที่ 12 ตุลาคม 2554 แทบไม่มีใครคาดคิดว่า การจัดงานวันสุดท้ายที่สนามหญ้าหน้าชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา จะรอดพ้นจากสายฝน แต่ก็รอดมาได้ชนิดหวุดหวิด ที่ภูเก็ตมีการจัดเวทีเสวนา “ย้อนมองการพัฒนา สังคม ชุมชน ท้องถิ่น นโยบายกับความเป็นจริง” เกี่ยวกับการจัดการที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย สู่การจัดการกองทุนเมือง สวัสดิการชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายขนิฐ คงทอง ตัวแทนเครือข่ายที่ดินภาคใต้ นางวารุณี ธารารัตนากุล ตัวแทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต นางละออ ชาญกาญจน์ ตัวแทนเครือข่ายเมืองสงขลา นายสมยศ วิจักขณาวุธ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีนายสุวัฒน์ คงแป้น ผู้ชำนาญการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นำเสวนา บนเวทีเสวนานายขนิฐ พูดถึงระบบราชการที่ยุ่งยาก รัฐบาลแต่ละชุดค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องเริ่มจากชาวบ้าน ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลของชุมชน ถ้าชาวบ้านไม่ลุกขึ้นผลักดัน ปัญหาทุกอย่างแทบจะไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากลุกขึ้นมาผลักดันแล้ว ชาวบ้านยังต้องร่วมกันติดตาม และเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาลแก้ไข ขณะที่นางละออมีความเห็นว่า ชาวบ้านควรหาแนวทางในการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และหน่วยงานรัฐ เพราะถึงแม้ชุมชนจะผลักดันอย่างไร ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่นต่างๆ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากนางวารุณีว่า ชุมชนควรจะเข้าร่วมทำแผนพัฒนาทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระกับประเทศ เธอยกตัวอย่างเรื่องกระจายอำนาจ ที่ทางจังหวัดภูเก็ตกำลังผลักดัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น นั่นหมายถึงการดึงงบประมาณกลับมาพัฒนาชุมชน “การดำเนินการของชุมชน ควรมองแผนพัฒนาของตำบล อำเภอ จังหวัด และคำนึงถึงการวางผังเมืองด้วย ที่ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีการสร้างถนนใหม่รอบชุมชน ทำให้ชุมชนกลายเป็นแอ่งน้ำ เนื่องจากชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมวางแผนพัฒนา และจัดทำผังเมืองมาตั้งแต่ต้น” เป็นความเห็นของนายศักดา พรรณรังษี เลขานุการสหกรณ์เคหสถานบ้านน้ำเค็มพัฒนา จำกัด นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชาวบ้านต้องเรียนรู้กฎหมาย เพื่อจะได้รู้ว่ามีช่องทางไหนทำได้ ช่องทางไหนทำไม่ได้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตพร้อมจะให้การสนับสนุนชุมชน ถ้าเป็นไปได้อยากคุยกับชาวบ้านทุกเดือน เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาร่วมกัน นางสาวฒุฒิพร ทิพย์วงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีเนื้อหาขอให้ชุมชนในเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต สามารถขอรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ได้ ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวชุมชน ในการแก้ปัญหาของแต่ละชุมชนให้มีการเจรจาโดยมีตัวแทนของเครือข่ายฯ เข้าร่วมทุกครั้ง ให้ยุติการไล่รื้อชุมชนในทันที โดยเฉพาะการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือในการไล่รื้อชุมชน ชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้สามารถพัฒนาชุมชนได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และให้ดำเนินการตามมติที่มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินแล้ว โดยหน่วยงานของรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และให้ใช้มาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกลุ่มชาวเล (5 ชุมชนในจังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนดั้งเดิมของเมือง และมีการพัฒนาและแก้ปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เต็นท์ในสนามหญ้าที่เปียกแฉะไปด้วยโคลน ขณะน้ำทะเลเอ่อปริ่มเต็มป่าชายเลน แต่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้ร่วมงานก็ช่วยกันปลูกป่าชายเลน และปล่อยปู จนพิธีการสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงร่วมกันได้กินข้าวกลางวัน ก่อนแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาน เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ท่ามกลางเสียงร้องขอหลักประกัน “ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน” ที่หล่นออกจากปากชาวบ้านตลอดรายทาง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net