Skip to main content
sharethis

ฌาปนกิจศพแกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง ‘เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย’ แถลงเปลี่ยนชื่อ ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย’ ประกาศกำหนดอนาคตตนเอง วันที่ 13 ต.ค.54 เวลาประมาณ 13.00 น.ที่วัดโนนสว่าง บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่แห่งประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร อาทิ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน, ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี, กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ชุมชนบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, กลุ่มนักศึกษาเผยแพร่กฎหมายและสิทธิมนุษยชน (ดาวดิน), เครือข่ายนักศึกษาคนรุ่นใหม่เฝ้าติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่แห่งประเทศไทยและสากลโลก จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมงานฌาปนกิจศพ นายคำจิตร พานุรักษ์ แกนนำคนสำคัญของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์เพื่อสานต่ออุดมการณ์การต่อสู้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อชาวบ้านในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาชนต่างทยอยมาร่วมงานอย่างไม่ขาดสาย เพื่อแสดงความอาลัยต่อการจากไปของนายคำจิตร โดยในงานเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมใจกันในการแต่งกายด้วยเสื้อสีเขียว เพื่อแสดงออกและย้ำจุดยืนต่ออุดมการณ์การต่อสู้ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ยืดหยัดมั่นคงตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตของนายคำจิตร สำหรับ นายคำจิตร พานุรักษ์ หรือที่พี่น้องเครือข่ายภาคประชาชนมักเรียกกันว่า “พ่อวิท” หรือ “ลุงวิท” เป็นแกนนำคนสำคัญ 1 ใน 5 ของผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต่อสู้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคนในชุมชนบริเวณพื้นที่ตั้งดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ ทั้งในด้าน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย ร่วมรำลึกถึงความกล้าหาญและการต่อสู้ ของคำจิตร พานุรักษ์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ผู้จากไป การต่อสู้ของพี่น้องภาคประชาชนกับฝ่ายผู้ประกอบการ ทุน และหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ภายในประเทศไทย ได้ก่อเกิดขึ้นหลังจากมีพื้นที่หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอันเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ชนิดต่าง ๆ ดังปรากฏและสร้างปัญหาอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ ส่งผลกระทบทางตรงต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นปัญหาอยู่ในพื้นที่หลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทยรวมถึงบ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย อยู่ในขณะนี้ ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา เยียวยาผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ คัดค้านการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบ โดยมีพี่น้องเครือข่ายเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ต่างทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สรรพกำลังเท่าที่มีเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมนำไปสู่การทบทวนกฎหมาย ตลอดจนการทบทวนหรือระงับโครงการพัฒนาเหมืองแร่ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน ถือเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานสืบมาจนถึงปัจจุบัน การต่อสู้ดังกล่าว จำเป็นจะต้องใช้ความกล้าหาญ ความอดทน และอุดมการณ์อันแน่แน่ว ที่จะฝ่าฟัน อันเนื่องจากกระแสการพัฒนาที่เอื้อไปในทิศทางที่เบียดบังและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นฐานการดำรงชีพและสุนทรียภาพที่สำคัญไปจากชุมชนท้องท้องถิ่นดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ในการต่อสู้ที่ผ่านมา คำจิตร พานุรักษ์ เป็นบุคคลอีกผู้หนึ่งที่มีความเสียสละและดำรงตนเป็นผู้ประสานงานในนาม ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อต่อสู้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การติดตามการตรวจเฝ้าระวังมลพิษที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์เผยแพร่ข้อมูล จัดทำข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนชุมชนในการเรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ที่คำจิตร พานุรักษ์ ได้ดำเนินร่วมกันในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด และร่วมกับเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย นับว่าเป็นการเสียสละและเป็นแบบอย่างของผู้ตื่นรู้ที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรบนถิ่นฐานบ้านเกิด ส่งมอบเป็นมรดกอันอุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานสืบต่อไป วันนี้จะเป็นวันสำคัญของพลังคนเล็กคนน้อยในสังคม ที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้คัดค้านการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของประเทศไทย เนื่องจากว่าพวกเราได้ร่วมกันสถาปนา ‘สิทธิความเป็นเจ้าของแร่’ ใหม่ ซึ่งก้าวหน้าและทันสมัยยิ่งกว่าตัวบทกฎหมายและนโยบายว่าด้วยแร่ของประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ ‘แร่คือสินทรัพย์และดอกผลของเจ้าของที่ดิน’ การนิยามใหม่เช่นนี้จะนำพาพวกเราขับเคลื่อนผลักดันไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อรองรับสิทธิของบุคคลและชุมชนท้องถิ่นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคลหรือดูแลบำรุงรักษาที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเสียใหม่ รัฐจะไม่สามารถผูกขาดอำนาจการตัดสินใจในเรื่องการอนุญาตให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่อีกต่อไป แต่จะเป็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินเองที่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่ให้อนุญาต วันนี้จะเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้คัดค้านการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของประเทศไทย เป็นวันที่พวกเราเปลี่ยนชื่อเครือข่ายจาก ‘เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย’ เป็น ‘เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย’ แร่ของเรา เราจะกำหนดอนาคตตนเอง ! ขอแสดงความอาลัย และสดุดีความกล้าหาญและความเสียสละของคำจิตร พานุรักษ์ เพื่อนผู้จากไป เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย ประกอบด้วย ๑) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง ๒) พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ๓) พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ๔) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง ๕) พื้นที่เหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ๖) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ๗) พื้นที่เหมืองแร่สังกะสี อ.แม่สอด จ.ตาก ๘) พื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ๓ จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก ๙) พื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ๑๐) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองแดง อ.เมือง จ.เลย ๑๑) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย ๑..) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ๑๒) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ๑๓) พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช จ.มหาสารคาม ๑๔) พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช จ.ขอนแก่น ๑๕) พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช จ.สกลนคร ๑..) พื้นที่สูบน้ำเกลือใต้ดินและเหมืองแร่เกลือหิน จ.นครราชสีมา ๑๖) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ต.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ๑๗) พื้นที่เหมืองหินเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ๑๘) พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.ลี้ จ.ลำพูน ๑๙) พื้นที่ลำเลียงและลานกองแร่ถ่านหินจากพม่า จ.เชียงราย เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ประเทศไทย ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net