Skip to main content
sharethis

คลิปสัมภาษณ์ \จินตนา แก้วขาว\" ก่อนศาลฎีกาตัดสินจำคุกคดีล้มโต๊ะจีน บ.โรงไฟฟ้าบ้านกรูด 4 เดือนไม่รอลงอาญา 0000000000000000000 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 คดี “จินตนา แก้วขาว” ล้มโต๊ะจีน บริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ฯ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง 10 ปี ได้เป็นที่สิ้นสุด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา โดยโทษจำคุกดังกล่าวลดลง เนื่องจากจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 จากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน คำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ต่างจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 ที่มีคำสั่งยกฟ้อง ซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อหาในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ได้อ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 44 และ 46 ที่กล่าวถึงสิทธิในการชุมนุมและสิทธิชุมชน ในขณะที่คำพิพากษาอุทธรณ์และคำพิพากษาฎีกาไม่ได้พูดถึง “สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” นั้นคือข้อสังเกตหนึ่งของคดี คำพิพากษาฎีกา ที่ 13005/2553 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 คดีหมายเลขแดงที่ 2355/2548 คำพิพากษาศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศาลชั้นต้น) คดีหมายเลขแดงที่ 3283/2546 สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ขึ้นเวทีพูดคุยกับชาวบ้านกรูด-บ่อนอก และกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ ที่มาให้กำลังใจ จินตนา แก้วขาว ในคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554 คงต้องยอมรับว่าคำพิพากษาฎีกา จำนวน 6 หน้า ในคดีดังกล่าว “ไม่ถูกใจ” ชาวบ้านประจวบฯ ที่ร่วมกับจินตนา คัดค้านโครงการขนาดใหญ่มายาวนาน และ “ไม่เป็นที่น่าพอใจ” สำหรับใครหลายคนที่ติดตามคดีนี้มาโดยตลอด สำหรับแง่มุมข้อกฎหมาย สุรชัย ตรงงาม นักกฎหมายด้านคดีสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ตั้งข้อสังเกตในทัศนะของเขาว่า จินตนาได้มีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา โดยมีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.จินตนา ได้กระทำความผิดจริงหรือไม่? 2.คดีนี้ไม่ได้เป็นคดีข้อพิพาทส่วนตัว แต่เป็นคดีที่กระทำการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ศาลจะมีความเห็นอย่างไร? ในคดีนี้ จินตนาถูกกล่าวหาว่า พาพวกเข้าขัดขวางงานเลี้ยงของบริษัทฯ ด้วยการ “บุกรุกโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร” เข้าไปในบริเวณงานของบริษัท แล้วนำของโสโครกไปขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และเวทีจัดงานเลี้ยง “อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข” ต่อประเด็นแรก “จินตนามีความผิดจริงหรือไม่” สุรชัย กล่าว่า ศาลฎีกามีความเห็นทำนองเดียวกันกับศาลอุทธรณ์ กล่าวคือ พยานหลักฐานและพยานบุคคลหลายปากที่ยืนยันว่าจินตนาเป็นคนสั่งการนั้น ศาลเชื่อว่ามีน้ำหนัก เบิกความสอดคล้องต้องกัน และน่าเชื่อว่าไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่น่าจะมีเหตุปรักปรำใส่ร้ายจำเลย ดังนั้นจึงฟังได้ว่าจินตนามีความผิดจริง ฐานสั่งการให้มีการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของบริษัทฯ และมีการปาสิ่งปฏิกูลคือน้ำปลาวาฬเน่า อย่างไรก็ตาม ความเห็นของศาลฎีกาแตกต่างจากความเห็นของศาลชั้นต้นในสาระสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ แม้ว่าพยานเบิกความสอดคล้องกันอยู่จริง แต่ในศาลชั้นต้นจะลงรายละเอียดว่า มีการเบิกความในลักษณะที่แตกต่างกันอยู่บ้าง อย่างไร รวมถึงศาลชั้นต้นเห็นว่า พยานโจทก์น่าจะมีเหตุโกรธเคืองกับจินตนา เนื่องจากเคยมีการฟ้องร้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับโรงไฟฟ้ากันอยู่ก่อนแล้ว ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่เชื่อในเหตุเหล่านี้ ดังนั้น ตามคำพิพากษาจึงวินิจฉัยว่าจินตนาได้กระทำความผิดจริง สุรชัย กล่าวถึงประเด็นต่อมาที่ว่า การต่อสู้และใช้สิทธิของจินตนา ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน คุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่นั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ โดยให้เหตุผลว่า “เป็นประเด็นที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย” ซึ่งศาลมีความเห็นดังกล่าวได้เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่คำพิพากษานี้มีคำถาม เพราะการที่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ โดยไม่ได้ให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง ผอ.โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม อธิบายถึงการให้เหตุผลไม่ชัดแจ้งว่า เนื่องจากในคำวินิจฉัยใช้ถ้อยคำเพียงแค่ว่า ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย แต่คนทั่วไปไม่เข้าใจว่า “ไม่เป็นสาระ” มีความหมายว่าอย่างไร เช่น อาจหมายถึงนอกประเด็น หรือในความเป็นจริงต้องพิจารณากฎหมายในระดับรองมากยิ่งกว่าการคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้ศาลไม่ได้ให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง เขาคิดว่า ในทางกฎหมายการเขียนคำพิพากษาคือการให้เหตุผล การไม่ให้เหตุผลอย่างชัดแจ้งจะทำให้คำพิพากษานั้นมีความไม่ชัดเจน นักกฎหมายด้านคดีสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อมาว่า ศาลได้วินิจฉัยว่าจินตนามีความผิดจริงตามที่สืบพยาน และไม่ได้ฟังว่าการกระทำเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นศาลจึงตัดสินว่ามีความผิดจริง และลงโทษจำคุกโดยกำหนดโทษคือ 6 เดือน เพียงแต่ได้วินิจฉัยว่ามีการมอบตัว เป็นเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ตรงนี้นำมาสู่ประเด็นที่ 3 ว่า เหตุใดคดีซึ่งมีการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม ศาลจึงไม่ยกเอาเหตุการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เจตนาอันดีในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมาพิจารณา เพื่อเป็นเหตุในการรอการลงโทษ สุรชัยให้ข้อมูลว่า ในทางกฎหมายระบุว่า ถ้ากรณีใดศาลกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ศาลมีอำนาจกำหนดว่าคดีดังกล่าวควรรอการลงโทษหรือไม่ คำถามจึงมีว่า เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่ได้พิจารณาเหตุในการรอการลงโทษในคดีของจินตนา ซึ่งจะพบว่าในคดีของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมหลายๆ คดี เช่น คดีของชาวบ้านหนองแซงซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ก็มีการรอลงอาญา โดยมีเหตุในการรอลงอาญาที่อ้างถึงเจตนาอันแท้จริงของชาวบ้านที่ทำเพื่อปกปักษ์รักษาชุมชนและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาฎีกาในคดีของจินตนาไม่ได้กล่าวถึงเหตุในการรอการลงโทษแต่อย่างใด สุรชัย กล่าวต่อมาว่า โดยส่วนตัวเขาคิดว่า คำพิพากษาฎีกาในคดีของจินตนาแม้จะเป็นที่สิ้นสุดแล้วในทางกฎหมาย แต่ในทางสังคมนั้นถือเป็นการเริ่มต้น โดยผู้ที่ได้เห็นและได้อ่านคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวสามารถที่จะมีความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเหตุผลได้ว่า คำพิพากษามีความไม่ถูกต้อง หรือคิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างไร คำพิพากษานี้จะเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้และปกปักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และจะเป็นคดีที่ก่อให้เกิดการถกเถียงในทางสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลต่อคดีหรือการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากในฐานะทางกฎหมายแล้ว คำพิพากษาฎีกา ประชาชนสามารถให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการได้ เพราะคำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นคำพิพากษาดังกล่าวเมื่อออกมาสู่สังคมและเกิดผลกระทบต่อผู้คน ย่อมสามารถให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้ “เรามีคดีของพี่น้องจำนวนมากที่อยู่ในชั้นศาล เรามีคดีของพี่น้องจำนวนมากที่ตัดสินไปแล้วแล้วยกฟ้อง เรามีคดีของพี่น้องจำนวนมากที่ตัดสินแล้วว่าผิด ให้รอการลงโทษ เพราะเป็นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เรามีคดีของพี่น้องอีกจำนวนมากอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เรามีคดีอีกจำนวนมากอยู่ในชั้นฎีกา ซึ่งคดีเหล่านี้รอการตัดสิน กระแสของการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมจะทำให้กระบวนการยุติธรรมได้หันมาทบทวนว่า สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นได้นำมาซึ่งการสนับสนุนการต่อสู้ หรือการเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของพี่น้องประชาชนที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่” สุรชัยกล่าว สุรชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันศาลยุติธรรมและศาลปกครองได้มีการตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งจะมีการใช้ผู้พิพากษาที่มีความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม และมีวิธีพิจารณาในรายละเอียดมากกว่าศาลทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือคดีของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้อยู่ในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เนื่องจากคดีของชาวบ้าน ไม่ว่าการแสดงความคิดเห็น การใช้เสรีภาพในการชุมนุม การดำเนินการกีดกันใดๆ เพื่อปกป้องสิทธิ ฯลฯ ไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นคดีด้านสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะคดีของชาวบ้านไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตที่ศาลตีกรอบว่าเป็นคดีสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากนั้น มีเหตุผลซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า มาจากการที่ทางฝ่ายรัฐและทุนพยายามทำให้ประชาชนเกิดความเกรงกลัว หรือต้องได้รับภาระยุ่งยากในการต่อสู้ทางคดี จนไม่มีเวลาที่จะไปต่อสู้คัดค้าน หรือเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับการปกป้องชาวบ้านที่ใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สุรชัย มีข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ทบทวนกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีของชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมมุ่งพิจารณาแต่ว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาประการใดประการหนึ่งหรือไม่ เช่น บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ฯลฯ แต่ไม่พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่ สุรชัย เสนอว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การใช้และการตีความนั้น จำเป็นที่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดต้องมีการทบทวน คดีใดๆ ที่เป็นการใช้สิทธิภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใช้สิทธิจนเกินเหตุ ชาวบ้านต้องไม่ถูกดำเนินคดีทางอาญา แม้จะมีการแจ้งความ แต่ในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ต้องมีการกลั่นกรองเพื่อจะสั่งไม่ฟ้อง ไม่ให้คดีเข้าสู่ศาลตั้งแต่ต้น โดยตัวอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น ในกรณีชาวบ้านบางสะพานถูกฟ้องข้อหาลักทรัพย์เป็นขี้เหล็ก มูลค่า 25 บาท เพื่อนำไปตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโรงถลุงเหล็ก ซึ่งได้มีการแจ้งความดำเนินคดี โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้มีความผิด แต่ปัจจุบันศาลอุทธรณ์ยกฟ้องและไม่ทราบว่ามีการฎีกาหรือไม่ “เราอาจจะห้ามไม่ให้มีกลั่นแกล้งโดยฝ่ายทุนหรือฝ่ายรัฐ อาจห้ามยากหากคนมันต้องการแกล้งกัน แต่ว่ากระบวนการกลั่นกรองเหล่านี้ในทางกฎหมาย จะกลั่นกรองให้การกลั่นแกล้งนั้นไม่มีผล ผมคิดว่าเราต้องมาทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่มากขึ้น” สุรชัย ให้ความเห็น สุรชัย กล่าวถึงข้อเสนอต่อมาว่า เราอาจจะต้องพิจารณาถึงการคุ้มครองนักต่อสู้ด้านสิทธิให้มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ และอาจต้องคิดเรื่องกองทุนเพื่อป้องกัน ต่อสู้คดี หรือเยี่ยวยาความเสียหายให้กับชาวบ้าน ซึ่งอาจต้องพูดคุยกับนักวิชาการว่าจะดำเนินการได้อย่างไร และสุดท้ายอาจต้องมีการคิดค้นเรื่องการออกกฎหมาย เพื่อที่จะพิทักษ์ ปกป้องนักต่อสู้ด้านสิทธิ “เราไม่อาจปล่อยให้คนที่มีเจตนาดีต้องการจะปกป้องสิทธิชุมชนนั้น ได้รับการกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกต่อไป” สุรชัยกล่าวทิ้งท้าย 0000000000000000000 เท้าความ ปมความขัดแย้ง 19 มีนาคม 2539 คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชน ได้พิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีข้อเสนอดีที่สุด 7 ราย เป็นโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 4 ราย และใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 3 ราย โดยโครงการโรงไฟฟ้าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์เจเนอเรชั่น (โรงไฟฟ้าบ่อนอก) และบริษัทยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ (โรงไฟฟ้าหินกรูด) เป็น 2 ใน 7 โครงการที่ได้รับการ คัดเลือก โครงการไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนอก ของบริษัทกัลป์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 800 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net