Skip to main content
sharethis
(Backup) Prachatai Eyes View: มโนราห์โรงครู วิถีคน วิถีความเชื่อ - 2011

งานพิธีสมโภชสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวและงานตายายย่าน 16-19 พฤษภาคม 2554 วัดท่าคุระ ต.คลองรี อ.สทิงพระ จ.สงขลา ถูกกำหนดขึ้นทุกวันพุธแรกข้างแรมในเดือนที่หกของทุกปี พระครูพิพัฒน์ ธรรมจารี เจ้าอาวาสวัดท่าคุระ บอกว่า แต่ละปีมีคนเข้าร่วมพิธีมากขึ้นเป็นพันธะสัญญาทางวัฒนธรรมของคนรอบทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าใกล้หรือไกล ลูกหลานจะกลับมาไหว้เจ้าแม่อยู่หัวโดยทางวัดท่าคุระได้อำนวยการในเรื่องห้องน้ำ ที่จอดรถ เปิดเต็นท์ขายสินค้าพื้นเมือง ตั้งแต่ ขนมลา(ขนมพอง) ขนมโค กาละแมร์ ข้าวเหนียว(แดง)กวน ฯลฯ เต็มพื้นที่วัด โดยเฉพาะ การรำมโนราโรงครู แก้บนถวายที่มีคนให้ความสนใจมาก งานตายายย่าน สรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวเริ่มทำตั้งแต่บ่ายวันพุธจนย่ำค่ำของวันพฤหัส (18-19 พ.ค. 54) ผู้คนจากทุกสารทิศเข้าแถวเพื่อรอสรงน้ำทั้งหนุ่มสาวไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในมือถือแก้วน้ำลอยดอกไม้ประพรมน้ำอบ แม้ว่า อากาศเดือนพฤษภาคมจะร้อนอบจนเหงื่อไหลไคลย้อยแต่ทุกคนต่างอดทนด้วยแรงศรัทธา การสรงน้ำจัดขึ้นในโบสถ์วัดท่าคุระ หลังจากเจ้าอาวาสและพระผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวออกมา ประชาชนต่างเบียดเสียดรอสรงน้ำเจ้าแม่อย่างใจจดจ่อ เจ้าแม่อยู่หัวเป็นพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น(พ.ศ.1900)ตำนานเล่าว่า เจ้าแม่อยู่หัวเป็นตัวแทนของ ‘พระหน่อ’ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนลุ่มทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ ระโนด สทิงพระถึงกระแสสินธุ์ มาแต่โบราณกาล องค์เจ้าแม่วางอยู่บนพานเงินล้อมองค์ด้วยดอกไม้สด ข้างเคียงเป็นพระพี่เลี้ยงวางอยู่ในหีบเหล็กที่ทางวัดท่าคุระจัดไว้บนฐานปูนต่อท่อให้น้ำไหลลงไปยังสระนอกโบสถ์ให้ประชาชนนำกลับไปบูชาถือเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้เกิดความสุขกายสบายใจ ระหว่างประชาชนสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว พระสงฆ์จะสวดให้พรและแก้บนด้วยการรำมโนราโรงครูถวายหรือด้วยวิธีการอื่นๆ อย่างเช่น การบวชพระและสามเณร บวชชีหรือถวายข้าวตอก-ดอกไม้และบริจาคทานเพื่อสร้างอุโบสถวัด การแก้บนที่สำคัญซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งที่เจ้าแม่โปรดปรานที่สุด คือ การรำมโนราถวาย เรียกกันว่า การรำโรงครู ตามแบบฉบับดั้งเดิม เล่ากันว่า หากไม่รำถวายจะเกิดเหตุไม่ดีแก่ตนเองและครอบครัว การเบิกโรงของมโนรา เริ่มด้วย ตั้งเครื่องโหมโรงประกาศราชครู รำเบิกโรง-รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ แทงจระเข้ เฆี่ยนพราย ดังนั้น คณะมโนราที่ออกโรงในงานประเพณีตายายย่านจะต้องมีความเจนจัดในนาฏศิลป์แขนงนี้เป็นพิเศษ ปีนี้ มโนราคณะสมพงษ์น้อย ศ. สมบูรณ์ศิลป์ จ.พัทลุง เป็นคณะเบิกโรงในงานพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แก่คนลุ่มทะเลสาบสงขลา ระหว่างการแสดง ลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัวที่เข้าร่วมพิธีจะสลับขึ้นมารำถวายตลอดทั้งวัน ในวัย 24 ปี ครูแอน จิราวรรณ ชะนีทอง ครูอนุบาล1-2 โรงเรียนบ้านท่าคุระ ผู้ดูแลคณะมโนราเด็ก บอกว่า งานตายายย่าน บ้านท่าคุระ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่เธอมีความภาคภูมิใจ ความศรัทธาต่อเจ้าแม่อยู่หัวทำให้คณะครูโรงเรียนบ้านท่าคุระก่อตั้งคณะมโนราโดยการคัดสรรเด็กตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 3-6 มารำมโนรา ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทำกันทุกปีโดยมีครูมโนราจริงๆ เป็นผู้สอน การฝึกมโนราเด็กโรงเรียนบ้านท่าคุระถูกจัดอยู่ในรายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้านแต่การรำมโนราแก้บนในงานตายายย่านยังแฝงไว้ด้วยความศรัทธาในเจ้าแม่อยู่หัว เด็กๆ ที่เข้ารับการฝึกฝนมีความเต็มใจและภาคภูมิที่ได้รำถวายเจ้าแม่อยู่หัว รวมถึง ครอบครัวของพวกเขาเอง ครูแอนเล่าว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและศรัทธาแก่คนในชุมชน ไม่ว่า คนในชุมชนจะออกไปทำงานไกลแค่ไหนเมื่อถึงเวลางานประเพณีในแต่ละปี ลูกเจ้าแม่อยู่หัวจะกลับบ้านเพื่อร่วมสรงน้ำและรำมโนราถวาย ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่อยู่หัวขจรขจายสู่จิตใจคนลุ่มทะเลสาบเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางวัฒนธรรมเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา การรำมโนราถวาย มีทั้งรำมโนราทรงเครื่อง รำออกพรานร่วมกับบนบวชนาค-บวชชี รำกระบี่กระบอง ใครบนอย่างไร รำถวายอย่างนั้น บ้างว่า หากมีลูกชายให้จัดทำขนมพอง(ขนมลา) 1 สำรับ ถ้าเป็นลูกผู้หญิงให้ทำขนมโค ขนมขาว ขนมแดง หากไม่กระทำการดังกล่าวจะทำให้ประสบเหตุเภทภัยและทุกขเวทนาต่างๆ สิ่งที่สำคัญ คือ สำนึกในสายเลือดของคนที่ถือตนว่าเป็นลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัว การกลับมาร่วมพิธีถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสิ่งศรัทธา นอกจากนี้ ทุกปี ช่วงเวลานี้เครือญาติสนิทมิตรสหายต่างกลับมาพบหน้าค่าตาเป็นความผูกพันโดยมีเจ้าแม่อยู่หัวเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและรักษาสืบทอดการรำมโนราให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานที่ครูแอน จิราวรรณ ชะนีทอง ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ลูกหลานองค์เจ้าแม่อยู่หัวทุกคนเชื่อว่า องค์เจ้าแม่มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องการบนบานสานกล่าว ใครขออะไรแล้วทำความดีร่วมจะสมดังความปรารถนา ใครบนบานอะไรไว้แล้วมารำมโนราถวายจะประสบความสำเร็จไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายในชีวิต ยึดเหนี่ยวจิตใจคนสองฝั่งทะเลสาบสงขลามานับร้อยปี การบนบานหรือ ‘เหมรย’ ในคำพื้นถิ่นแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เหมรยปากอันเป็นการสัญญากันด้วยวาจาและเหมรยห่อ หมายถึง การสัญญาโดยมีห่อเครื่องสังเวย เมื่อประสบผลแล้วจึงมาแก้ห่อแล้วรำมโนราห์ถวาย การรำโนราเป็นศิลปะที่อ่อนช้อยและเป็นที่นิยมของคนลุ่มทะเลสาบกินพื้นที่ตั้งแต่สงขลาถึงพัทลุงซึ่งถือตนว่าเป็นลูกหลานของโนรา เครื่องดนตรีประกอบไปด้วยกลอง ทับ ฉิ่ง โหม่งและปี เร้าอารมณ์ผู้คนที่รำถวายเจ้าแม่อยู่หัวราวกับต้องมนต์สะกด นอกจากนี้ ยังมีการเหยียบเสน เป็นการบำบัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บซึ่งจะกระทำโดยโนราใหญ่ที่ผ่านพิธีกรรมและกระทำพร้อมกับการร่ายรำโนราโรงครู ผู้เข้ารับการเหยียบเสนจะต้องเตรียมถาดรองน้ำ หมากพลู รวงข้าว หญ้า ธูปเทียน โนราใหญ่จะเริ่มร่ายรำพร้อมมีดหมอในมือ ก่อนใช้ฝ่าเท้าจุ่มน้ำโดยมีผู้ช่วยจับหัวแม่เท้าของโนราใหญ่อังกับเทียนไข พออุ่น ก่อนร่ายรำอีกครั้งแล้วนำไปแตะที่บริเวณศีรษะ ฝ่าเท้าหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เชื่อว่า เป็นการปัดเป่าโรคภัยและช่วยให้รอดพ้นจากวิบัติ งานตายายย่าน สรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวเริ่มตั้งแต่บ่ายวันพุธ(ข้างแรม-เดือนหก)จนย่ำค่ำของคืนพฤหัสบดี คณะมโนราจะทำพิธีรำส่งครูก่อนปิดพิธีการ ในหลายเหตุผล ชาวบ้านเรียกพระหน่อ(ผู้ชาย)ว่าเจ้าแม่อยู่หัวด้วยความนับถือพระหน่อดั่งแม่กับตำนานผู้มอบแผ่นทองคำสลักรูปพระหน่อ คือ พระราชินีแม่ของพระหน่อ ความเชื่อเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในสำนึกร่วมของชุมชนมานานนับร้อยปีและไม่ว่าใครจะเชื่อเหตุผลใด ประเพณีตายายย่านหลอมละลายหัวใจคนลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นหนึ่งเดียวฝังลงในแผ่นทองขององค์เจ้าแม่อยู่หัวโดยมีมโนราเป็นสื่อกลางแสดงออกซึ่งความศรัทธา ปีหน้า คนสองเลจะกลับมารวมกันอีกครั้ง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net