Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ด้วยความแรงของการโฆษณา ฉันเชื่อว่าความคาดหวังของฉันต่อหนังวัยรุ่นเรื่อง “รักจัดหนัก” ก็คงคล้ายๆ กับอีกหลายๆ คน คือหวังจะได้เห็นอะไรแรงๆ อะไรที่แหกแหวก อะไรที่อื้อฉาวเร้าใจ แบบที่ไม่เคยจะมีหนังไทยเรื่องไหนกล้าทำมาให้เห็น (ส่วนมันจะได้แก่อะไรคงแล้วแต่ว่าจินตนาการของใครไปถึงไหน) และหลังจากดูจบ ฉันคิดว่าความรู้สึกของฉันก็คงไม่ต่างจากอีกหลายๆ คนนั่นแหละ คือ “ผิดคาด” และ “ไม่สมหวัง” แต่แม้จะไม่ได้เจอสิ่งที่แอบหวังแบบตื่นเต้นว่าอยากจะเจอ ฉันก็พบด้วยความตื่นเต้นด้วยในเวลาเดียวกันว่า ฉันกลับได้เจอสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้ว่าจะเจอ หรือพูดได้ว่า ถึงจะ “ผิดคาด” แต่ไม่ “ผิดหวัง” หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของใคร เจออะไร ฉันคงไม่มาเล่าให้เปลืองที่ในที่นี้เพราะเป็นข้อมูลที่หลายคนคงได้ผ่านตาแล้ว และหลายคนก็อาจจะได้ดูหนังแล้วด้วยซ้ำไป (ฉันเองแอบได้ดูล่วงหน้าไปก่อนตั้งแต่ในงานกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศงานหนึ่งซึ่งเขาฉายหนังเรื่องนี้ประกอบ) แต่สิ่งที่ทำให้ฉันเกิดอาการ “ติดใจ” จนต้องมานั่งเขียนบรรยายก็คือ ถึงแม้ประเด็นของหนังจะเล่นกับเรื่องที่หนังวัยรุ่นไทยๆ ทั่วไปแทบไม่เคยพูดถึงตรงๆ อย่างเรื่องการมีเซ็กซ์, ท้อง, ทำแท้ง, ฯลฯ แต่แทนที่จะเล่าออกมาด้วยน้ำเสียงหดหู่ ไร้ความหวัง หรือประดังประเดฉากรุนแรงสะใจ หนังกลับเล่าเรื่องเครียดๆ พวกนี้แบบผ่อนคลายสบายๆ ขนาดที่ว่าในหลายช่วงดูเรื่อยๆ ชนิด “ไม่พีค” เลยด้วยซ้ำ (เอ๊ะ หรือฉันควรใช้คำว่า “ไม่ถึง” คริคริ) ถ้าคิดตามความคุ้นเคยของเราจากการดูหนังปกติทั่วไป การที่หนังทั้ง 3 เรื่องใน “รักจัดหนัก” เป็นหนังสั้นที่เล่าประเด็นหลายอย่าง แถมแต่ละเรื่องก็ไม่ได้เล่าถึงขั้นพีคอย่างที่ว่า อาจทำให้รู้สึกว่าหนังไม่เต็มอิ่มสักเท่าไหร่ แต่ที่น่าสนใจคือ ฉันพบว่าขณะที่ฉันมักจะฟินสุดๆ ในโรงกับหนังหลายๆ เรื่องที่เล่าครบตามสูตรเป๊ะนั้น เมื่อเดินออกจากโรงฉันกลับแทบไม่ได้นึกถึงหรือรู้สึกอะไรกับหนังนั้นอีกนอกจากจำได้ว่ามันสนุกดี แต่กับเรื่องนี้ ฉันกลับยังมีความรู้สึกหลงเหลืออยู่มากมายและมีอะไรต่ออะไรให้นึกถึงต่อเนื่องเต็มไปหมด คิดดูแล้ว ฉันพบว่า การที่หนังมันเล่าเรื่องไปแบบไม่โฉ่งฉ่างโครมครามนี่แหละ ที่ทำให้มันยิ่งดู “จริง” ไม่ได้หมายถึงจริงแบบพาเราไปเห็นฉากเด็กเอากันชัดๆ อะไรแบบนั้น แต่จริงในแง่ที่มันพาเราไปนั่งจับเข่าวัยรุ่นแต่ละคนและคอยสังเกตหรือรับฟังความรู้สึกของเขา (แม้บางทีพวกเขาก็ไม่ได้พูดออกมา) โดยเฉพาะคนที่กำลังเจอปัญหา (แถมเป็นปัญหาที่พวกเขาบอกใครไม่ค่อยได้ ปรึกษาพ่อแม่ก็ไม่ได้ บอกสังคมก็ไม่ได้) และเป็นการรับฟังที่ไม่ได้มาพร้อมคำตัดสินพิพากษาเลย หนังไม่ได้ชี้นำให้เราเข้าใจบทสรุปประเภทง่ายๆ ด่วนทันใจว่า อ๋อนี่ไง ก็เพราะนังคนนี้ใจแตกสำส่อน ก็เพราะนายคนนั้นมันโง่มันหื่น สมน้ำหน้า ฯลฯ ไม่มีการบอกว่าทางเลือกของแต่ละคนผิดหรือถูก แต่หนังแค่นำให้เราเข้าไปร่วมรับรู้ว่าวัยรุ่นทุกคนก็มีความสนุกและความทุกข์ในชีวิตตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าสังคมภายนอกจะประณามสิ่งที่พวกเขาทำหรือกำลังเจออย่างไร สิ่งที่เราควรทำคือคอยอยู่ใกล้ๆ เขาโดยไม่ต้องเอาชุดความคิดใดๆ ทั้งนั้นไปตัดสินเขาหรือคิดแทนเขาต่างหาก ด้วยความที่งานอาชีพของฉันเกี่ยวข้องกับเด็ก (ซึ่งก็ไม่ได้มีวัยหรือวุฒิภาวะห่างจากฉันเท่าไหร่นัก) ฉันคิดว่า หนังเรื่องนี้เหมาะกับการชวนให้เด็กหรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาดูแล้วคุยกัน การที่หนังเล่าแบบไม่ยอมเป็นดราม่าสุดๆ ไม่มีตอนจบที่คลี่คลายความรู้สึกของคนดูอย่างกระจ่างหมดเกลี้ยงสุดๆ อย่างหนังทั่วๆ ไป (ฉันขอไม่เล่าว่าแต่ละเรื่องจบยังไง บอกได้แค่ว่าความไม่พีคของหนังที่กล่าวไปนั้นหมายถึงการที่มันไม่มีฉากจบที่รุปให้เราสบายใจไร้ข้อติดค้างหมดเลยว่าใครเป็นยังไงต่อไป “ยัยคนนี้นายคนนั้นมันรอดแล้วนะ ไม่ต้องห่วงมันอีกหรอก” หรือ “ชีวิตมันป่วงไปแบบนี้ๆ แล้วล่ะ รู้แล้ว โอเคนะ” จบ.) มันเลยทำให้เราเดินออกจากโรงแบบไม่ “จบ” คือรู้สึกเหมือนยังอยากถามไถ่ต่ออีกว่า “เพื่อน” แต่ละคนในหนังของเราเป็นยังไง อยากรู้เรื่องก่อนหน้านั้นว่าอะไรทำให้พวกเขามาเจอวิกฤติพวกนี้ อยากรู้ว่าแล้วถ้าเป็นเราล่ะจะทำยังไง สังคมจะคิดยังไง อยากรู้ว่าผู้หญิงควรทำยังไงถ้าท้องแบบไม่พร้อม ผู้ชายควรทำยังไง อยากรู้ว่าความจริงคืออะไร และทางออกในโลกแห่งความเป็นจริงมันมีไหม อะไรบ้างนะ ความอยากรู้ที่เกิดขึ้นพวกนี้ล่ะที่ฉันคิดว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้ “ทำงาน” มากแค่ไหน สำหรับฉันแล้ว หนังเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีพลังมากๆ ในการใช้เปิดการถกเถียงเกี่ยวกับเซ็กซ์ของวัยรุ่นและเรื่องการท้องแบบไม่พร้อมให้สังคมเราหันมาเริ่มต้นคุยถึงมันแบบเปิดใจจริงๆ จังๆ โดยไม่ประณามและเลิกมองว่ามันเป็นสิ่งสกปรกต้องหุบปากกันเอาไว้แล้วปัญหาจะหายไปเองอย่างมหัศจรรย์ ฉันอยากให้หนังเรื่องนี้ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปด้วยการเป็นสื่อที่ช่วยเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้พูด พ่อแม่ได้ฟัง ครูอาจารย์ได้ฟัง ฟังแล้วแลกเปลี่ยนกัน มาคุยเรื่องเพศกันอย่างไม่ต้องเอาศีลธรรมมาวัด คุยเพื่อให้เข้าใจความจริง และถ้าความจริงตรงไหนเป็นปัญหา ก็มาคิดกันว่าเราจะต้องช่วยกันอย่างไร ต้องใช้วิธีไหนที่ไม่ใช่การไปดุด่าโยนบาปให้เด็กหรือโทษสังคมโทษวัตถุนิยมโทษโลกาภิวัตน์อะไรไปโน่นแบบเรื่อยเจื้อยอย่างที่เราทำกันมาตลอด (แล้วก็ไม่ได้เกิดการแก้ไขอะไรเลย) หนังเรื่องนี้ไม่พีคในโรง แต่ฉันอยากบอกว่าฉันเดินออกจากโรงด้วยความฟิน และหวังมากด้วยว่า หลังจากนี้ หนังจะได้ทำงานของมันต่อไปในการทำให้สังคมเปิดใจยอมรับความจริงของวัยรุ่น ให้เกียรติวัยรุ่น และเห็นวัยรุ่นเป็นคนเท่าๆ กับเหล่าบรรดาผู้ใหญ่ ถ้าได้แบบนั้นฉันก็ว่าหนังเรื่อง “รักจัดหนัก” ได้ไปถึงจุดพีคเสียยิ่งกว่าพีค

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net