Skip to main content
sharethis

22 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ศวปถ.ร่วมกับภาคีลดอุบัติเหตุทั่วประเทศ ได้จัดให้มีการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานภาคีเครือข่าย และก่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการเปิดงานโดยการปล่อยขบวนจักรยานยนต์ร่วมรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ณ ลานเอนกประสงค์ ดร.มัวรีน อี.เบอร์มิ่งแฮม ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก กล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบ 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บ 20-50 ล้านคน อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนอายุ 15-29 ปี และจากจำนวนการเสียชีวิตบนท้องถนนทั้งหมดนี้ เป็นการเสียชีวิตที่มาจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ถึง 49 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ของการตายและบาดเจ็บ ก็เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้มีจำนวนยานยนต์ที่ขึ้นทะเบียนเพียง 48 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนยานยนต์ที่ขึ้นทะเบียนทั่วโลกฃ ดร.มัวรีน เปิดเผยด้วยว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนนั้น เคยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 9 ในปี 2547 และด้วยอัตราการเติบโตของจำนวนยานยนต์ที่เป็นอยู่ จะทำให้ในปี 2573 อุบัติเหตุทางท้องถนนจะเลื่อนขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 5 ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา จึงมีการประชุมระดับรัฐมนตรี ณ กรุงมอสโก และเป็นที่มาของปฏิญญามอสโก กระทั่งในเดือนมีนาคม 2553 องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2534-2563 โดยเป้าประสงค์ของทศวรรษนี้คือ การทำให้จำนวนคนตายจากการจราจรทางถนนทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้น หรือลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่งใน พ.ศ. 2563 ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ได้เสนอยุทธศาสตร์หลักเพื่อการลงมือทำและผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายว่า ลำดับแรกต้องจัดการความปลอดภัย ในรูปแบบการเสริมสร้างสมรรถนะของหน่วยงานที่ดำเนินการให้ปฏิบัติตามข้อตกลงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน โดยจัดตั้งหน่วยงานหลักและจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยปลอดภัยทางถนน รวมถึงทำให้ถนนและจราจรปลอดภัย โดยแผนที่ว่านี้ เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการถนน และการประเมินความปลอดภัยของถนนอย่างสม่ำเสมอ โดยค้นหาแบบแผนการจัดการในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้ นอกจากนี้ยังต้องจัดให้ยานพาหนะมีความปลอดภัย โดยยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ให้รถยนต์ใหม่ทุกคันอย่างน้อยต้องมีระบบความปลอดภัยพื้นฐาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ โดยนำกฎหมายความปลอดภัยมาใช้ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหลังเกิดเหตุ ต้องพัฒนาระบบการดูแลผู้ประสบเหตุก่อนนำส่งโรงพยาบาล จัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์รับแจ้งเหตุทั่วประเทศเป็นระบบเดียว จัดให้มีการฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยที่บาดเจ็บบนท้องถนนอย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างระบบและกระบวนการสอบสวนอุบัติเหตุ ด้านนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด โดยถือเป็นนโยบายสำคัญและบรรจุไว้ในนโยบายด้านสังคมที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติได้จัดทำแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนขึ้นมา และไทยก็ได้เข้าร่วมโดยยึดหลักปฏิบัติภายใต้ 5 เสาหลัก คือ ลดอุบัติเหตุ สร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดยานพาหนะที่ปลอดภัย สร้างวินัยจราจร และการตอบสนองหลังการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะช่วยลดความสูญเสียได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า คือ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยจะต้องไม่เพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้.-

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net