Skip to main content
sharethis
(Backup) Prachatai Eyes View: สามเกลอ ทุ่ง-เล-ควน @ คนลุ่มทะเลสาบ

ชายหนุ่มนัดตัวเองกับร้านกาแฟ ทุกเช้า ก่อนจะเริ่มการงานประจำ คำว่า สภากาแฟ คงเริ่มต้นจากตรงนี้เองกระมัง ผมคิด – กาแฟ 1 แก้วกับจาโก๊ย(ปาท่องโก๋)สองถึงสามตัว ไม่มากไปกว่านั้น - - ที่มากไปกว่านั้น คือ การสนทนา เขายิ้มเห็นลิ้นโผล่ออกมาจากริมฝีปากบาง “วันนี้ เราจะไปที่ไหน” ผมถาม ชายหนุ่มซดกาแฟ โฮก กก กก กก ก เขาเมือง อุทยานเมืองเก่าชัยบุรี เขาชี้ลงแผนที่แทนคำตอบ พัทลุง ไม่ได้เป็นเมืองทางผ่านอย่างที่หลายคนคิด หากเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนลุ่มทะเลสาบสงขลา แหล่งอารยธรรมของชุมชนโบราณที่ยังคงกลิ่นอายจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ลุ่มทะเลสาบกินพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง อำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอระโนด อำเภอสะทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ย้อนเวลาไปหลายพันปี เมื่อน้ำทะเลลดระดับลง ปรากฏเกาะแก่งผสมอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดตะกอนทรายมาทับถม ผ่านกาลเวลา จนเกิดสันทรายงอกเป็นแผ่นดิน เกิดชุมชน- -เกิดวัฒนธรรม- -เกิดอู่อารยธรรม ชายหนุ่มเดินนำเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯตามที่ได้นัดหมายเอาไว้ เขาเมืองชัยบุรีเป็นพื้นที่สงวนในเขตอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี จุดสูงสุดของยอดเขาทำให้เรามองเห็นที่ตั้งเมืองพัทลุงได้สามร้อยหกสิบองศา เมื่อพร้อม ชายฉกรรจ์สามสี่คนเดินนำเราขึ้นไปตามทางลาดชัน เฟริ์นกับต้นตะเคียนหิน ทรงพุ่ม เป็นกอหนาตามรอยแตกของเทือกหินปูน บางช่วงร่องลึกจนน่าใจหาย เสียงพูดคุยแผ่วเบาลงตามระยะทางได้ยินเพียงลมหายใจหอบฟึดฟัด บางช่วงตอนต้องตะกายหินผา ไต่ลำไม้ไผ่ ราวหนึ่งชั่วโมงผ่าน ทุกคนถึงไปยืนอยู่บนจุดสูงสุด ดูเหมือนพัทลุงจะกลายเป็นสีเขียว แม้อากาศจะไม่ใสแต่พอมองเห็น ตัวเมืองพัทลุงตั้งประชิดถนนเพชรเกษม อีกด้าน แผ่นน้ำระยิบระยับ หนึ่งในเจ้าหน้าที่บอกว่า นั่นแหละ ลุ่มทะเลสาบสงขลา ยาวจรดเส้นขอบฟ้า กินพื้นที่หนึ่งในสามของแผ่นดินต่อแดนกับทะเลน้อย ในอดีตเมืองพัทลุงไม่ได้อยู่ในที่ตั้งปัจจุบัน พัฒนาการของชุมชนเริ่มต้นริมชายฝั่งทะเลสาบและทิวเทือกบรรทัดกั้นพัทลุงและตรัง ลำคลองหลายสายตัดผ่านทุ่งราบ เกิดชุมชน คน 3 วิถี ควน(คนภูเขา อยู่กับป่า ปลูกยางหาของป่า) เล(คนริมทะเล จับปูปลา ล่องเรือเก็บรังนก) ทุ่ง(คนทำนา ปลูกข้าว ทำไร่) จากเมืองสะทิงพาราณสีถึงลำปำและเขตเมืองเก่าชัยบุรี ค้นพบ ซากกำแพงเก่าและหม้อชามรามไหที่ระบุถึงเส้นทางค้าขาย คนหลายถิ่น เทศ จีน ฝรั่ง ต่างเดินทางถึงเมืองท่าแห่งนี้พร้อมอารยธรรม ความเชื่อและศรัทธา คุณยายเจ้าของรีสอร์ทก้มตาต่ำ เมื่อผมถามถึงอดีต “เมื่อก่อนคน ‘เลน้อย ทำนาชายเลน ต้องพายเรือเกี่ยวข้าว” นางยิ้มให้กับอดีต แม้วันนี้ นางไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเกี่ยวข้าวริมเลน ถมที่นามาทำรีสอร์ทรับนักท่องเที่ยวแต่ในหน้าเหี่ยวย่น บ่งถึง ริ้วรอยแห่งชีวิต - - รอลูกชายและหลานๆ กลับมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา ทิวตาลโตนดบางต้นยืนตายพร้อมกับหนุ่มสาวที่ออกไปหางานทำในโรงงานปลากระป๋องและเดินเข้าห้องเรียนในคาบวิชาต่อไป ไม่มีวิชา ‘ปีนตาล’ ภายในห้องเรียนของเด็กๆ หญิงชราสานเสื่อจูดในเงาของร่มไม้ ราคาค่าฝีมือของนางไม่มากมายไปกว่า ‘เลย์’ หนึ่งซองเท่าไรนัก เด็กหนุ่มแล่นเรือจ้าง ปลาไม่ชุมเหมือนคำกล่าวของ ‘พ่อเฒ่า’ - - เมื่อก่อนข้าหาปลาริมฝั่ง น้ำลึก กุ้งชุม จับไม่หวาดไม่ไหว เด็กหนุ่มไม่อยากเชื่อ เขาสงสัยว่า สติของพ่อเฒ่าอาจจะเลอะเลือน จากยุคตาลโตนดถึงยุคนากุ้ง - - ชีวิตรูปแบบใหม่มาถึงพร้อมถนนและโทรทัศน์ คนอยากรวย มากกว่า คนอยากมีความสุข ความทรงจำ - - คนควนหอบของป่ามาแบ่งปันคนเล กลายเป็นเพียงตำนานของยุคและหมดสิ้นพร้อมกับลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพ่อเฒ่า ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำรายได้งาม คนนิยมเป็นข้าราชการ ทำร้านอาหาร ร้านกาแฟ มากกว่าเป็นชาวประมงและทำนา พวกเขาให้เหตุผลว่ามันเหน็ดเหนื่อยและไม่เป็นเจ้าคนนายคน ชายฉกรรจ์สามสี่คนเดินนำหน้า เส้นทางค่อยๆ ดิ่งลง หนึ่งในนั้นเคยเป็นพรานมืออาชีพก่อนจะผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลหน่วยรักษาป่า – ไม่จำเป็นต้องถามถึงเหตุผล “ต้นไม้มันเหลือน้อย คนถางป่า ปลูกยาง สร้างหมู่บ้านจัดสรร” มันไม่ใช่ชุมชน คนต่างถิ่นเข้ามาซื้อที่ ตั้งรกรากและเปิดร้านคาราโอเกะอย่างไม่ใยดีต่อสภาพชีวิตดั้งเดิม บางคนลงทุนทำสนามชนโคจนเลื่องชื่อ “ที่เห็นจูงกันเต็มถนน นี่เป็นของคนมีเงินเขาทั้งเพ” อดีตพรานหนุ่มชี้ หากเลือกได้ เขาอยากกลับไปเป็นพราน ‘พราน ในโลกไร้พรมแดน หน้าตาจะเป็นอย่างไร ผมทำได้แค่ความคิด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net