Skip to main content
sharethis

รัฐบาลเยอรมนีประกาศว่า ความสามารถในการจดจำใบหน้าในรูปถ่ายโดยอัตโนมัติของเฟซบุ๊กนั้น ผิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของทั้งเยอรมนีและสหภาพยุโรป และสั่งให้เฟซบุ๊กยุติการใช้ รวมถึงลบข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยทันที ด้วยเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์รูปถ่ายล่าสุด ทำให้เฟซบุ๊กสามารถแนะนำเราได้ว่า ในภาพที่เราเพิ่งอัปโหลดขึ้นไปนั้น มีเพื่อนเราอยู่หรือไม่ เทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่า การรู้จำใบหน้า (face recognition) โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดใช้งานการแนะนำชื่อเพื่อนในรูปถ่ายโดยอัตโนมัตินี้อย่างเงียบๆ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ใช้ทราบ สิ่งนี้ทำให้เกิดความวิตกในหมู่ผู้เป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว ว่าเฟซบุ๊กกำลังบันทึกข้อมูลชีวมาตร (biometric) ซึ่งสามารถใช้ระบุตัวตนของคนได้ แม้ผู้ใช้จะสามารถบอกเลิกไม่ใช้บริการดังกล่าวได้ แต่การบอกเลิกดังกล่าวก็เป็นเพียงการบอกให้เฟซบุ๊กเลิกระบุโดยอัตโนมัติว่ามีหน้าของพวกเขาอยู่ในภาพ แต่มันไม่ได้บอกให้เฟซบุ๊กหยุดเก็บข้อมูล โยฮานเนส คาสพาร์ กรรมการคุ้มครองข้อมูลของฮัมบูร์ก ในเยอรมนี กล่าวเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของผู้ใช้ในการที่จะตัดสินใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับข้อมูลบุคคลของพวกเขา โดยละเมิดทั้งกฎหมายของเยอรมนีและของสหภาพยุโรป “ถ้าข้อมูลดังกล่าวตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี ใครก็ตามที่มีรูปถ่ายที่ถูกถ่ายโดยกล้องมือถือก็จะใช้รูปดังกล่าวในการเปรียบเทียบกับรูปต่างๆ และระบุตัวตน” “สิทธิในการไม่เปิดเผยตัวตนกำลังตกอยู่ในอันตราย” “ถ้าเฟซบุ๊กยังต้องการเก็บความสามารถนี้ไว้ เฟซบุ๊กจะต้องทำให้แน่ใจได้ว่า จะมีเฉพาะข้อมูลของคนที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้เก็บข้อมูลชีวมาตรของใบหน้าของพวกเขา” เขาเสริมว่าหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของฮัมบูร์กระบุว่าได้ร้องเรียนไปยังเฟซบุ๊กหลายครั้งแล้วให้ปิดบริการดังกล่าว และหน่วยงานต่างๆ ของเยอรมนีจะดำเนินการทางกฏหมายต่อไปกับเฟซบุ๊ก หากเฟซบุ๊กยังไม่หยุดการกระทำดังกล่าวและลบข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกไป มาตรการทางกฎหมายนี้รวมถึงค่าปรับสูงสุด 300,000 ยูโร (ประมาณ 12.77 ล้านบาท) อย่างไรก็ตามโฆษกประจำเยอรมนีของเฟซบุ๊กได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และกล่าวว่าเฟซบุ๊กไม่ได้ละเมิดกฎของสหภาพยุโรป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในเยอรมนี ที่มีข้อเป็นห่วงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวกับบริการออนไลน์ต่างๆ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศว่าบริการ Street View ของกูเกิล ซึ่งบันทึกและแสดงรูปถ่ายตามถนนหนทางต่างๆ รวมไปถึงรถยนต์และผู้คนบนท้องถนน นั้นละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน กูเกิลตอบสนองต่อเรื่องนี้โดยทำการยุติการเก็บข้อมูลดังกล่าวในเยอรมนี ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายชาติในยุโรปได้คัดค้านความสามารถรู้จำใบหน้าของเฟซบุ๊ก โดยเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ประกาศอย่างชัดเจนว่าความสามารถดังกล่าวนั้นผิดกฎหมาย กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในเยอรมนีและสหภาพยุโรปนั้นถือว่าเข้มงวดมาก เนื่องด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ที่ภูมิภาคนี้มีประสบการณ์ฝันร้ายจากการที่นาซีและตำรวจสตาซีของเยอรมนีตะวันออกใช้ข้อมูลบุคคลไปในทางที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แนวคิดพื้นฐานของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของเยอรมนีก็คือ จะไม่มีข้อมูลใดที่ถูกบันทึกหากผู้ใช้ไม่ได้ทำการยินยอมโดยชัดเจนเสียก่อน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมายเหตุ: ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถปิดการแนะนำแท็กใบหน้าของตัวเอง ได้โดยการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวดังนี้ … (ที่มุมขวาบนของจอ คลิก) บัญชีผู้ใช้ -> ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว -> ปรับแต่งการตั้งค่า -> แนะนำรูปภาพของฉันไปยังเพื่อน -> แก้ไขการตั้งค่า -> เลือก “ปิดการใช้งาน” (*เฟซบุ๊กยังเก็บข้อมูลใบหน้าของเราอยู่ แม้จะปิดการแนะนำการแท็กแล้วก็ตาม) ปิดการแนะนำแท็กใบหน้า เรียบเรียงจาก Facebook facial recognition called illegal, The Local, 3 ส.ค. 2554, Germany’s War on Facebook, The Atlantic Wire, 3 ส.ค. 2554, และ Facebook facial recognition tech ‘violates’ German privacy law, The Register, 4 ส.ค. 2554. ผ่าน Slashdot ------------------------------------------- “My Computer Law” เป็นโครงการเพื่อการเสนอร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์จากภาคประชาชน โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและกฎหมายคอมพิวเตอร์, การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชน, การเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา, และการผลักดันร่างดังกล่าวในสภา เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://mycomputerlaw.in.th/2011/08/facebook-face-recognition-illegal-germany/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net