Skip to main content
sharethis

ต้นเดือนที่ผ่านมา ต้องไปงานแต่งงานเพื่อนสาวสมัยเรียนมัธยมที่หาดใหญ่ (เธอไปเรียนแพทย์ที่นั่น พบรักที่นั่น และกำลังจะลงหลักปักฐานที่นั่น พ่อเจ้าบ่าวเป็นหมอ พ่อเจ้าสาวก็เป็นหมอ เจ้าบ่าวก็เป็นหมอ เจ้าสาวก็เป็นหมอ !!!) จะไม่ไปก็ไม่ได้เนื่องด้วยครอบครัวเราทั้งสองรู้จักสนิทสนมกัน แม้จะโชคดีที่ไม่ต้องไปเป็นเพื่อนเจ้าสาว แต่การไปงานแต่งงานของเพื่อนสาวคนสนิท ที่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทุกคนรู้จักเราหมด ก็จะมีคำถามประดังประเดเข้ามาว่า “มีแฟนรึยังจ้ะ” ถ้าตอบว่ามีก็จะมีคำถามต่อไปว่า “แล้วเมื่อไหร่จะแต่งงานล่ะ” ดิฉันล่ะอยากจะบอกอาป๊า อาม๊า อาเจ็ก อากู๋ (คนละคนกับที่อยู่ตึกแกรมมี่นะคะ) อาโก อาอี๊ ฯลฯ ว่า การที่เพื่อนของดิฉันได้แต่งงาน ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทั้งโลกที่อยู่ในวัยเดียวกันจะต้องแต่งานพร้อมเธอนะคะ!!! ก็เข้าใจได้ว่าคงเป็นความภาคภูมิใจของชาติตระกูลที่ลูกสาวขายออก (เหมือนอย่างที่แห็นในหนังย้อนยุคไทยทั้งหลาย หรือง่ายๆ อย่างหนังอังกฤษย้อนยุค Pride and Prejudice ที่หากลูกสาวแก่สัก 20 กว่าปีแล้ว พ่อแม่จะกลุ้มใจ และรีบหาสามีให้ลูกอย่างเร็วด่วน ซึ่งไม่รู้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นทุกชาติทุกภาษาหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ เหมือนมันจะยังสืบต่ออุดมการณ์มาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบที่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง) สาววัยเดียวกันที่ (ยัง) ขายไม่ออกอย่างดิฉันจึงได้แต่เซ็งๆ นอนดูโทรทัศน์อยู่บนเตียงในโรงแรม ขณะรอเจ้าสาวแต่งหน้าทำผม แต่การดูทีวีครั้งนี้ก็มีเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อเปิดเจอรายการใหม่ ที่ชื่อ ‘Take Me Out’ อันเป็นรายการเฟรนไชส์ ที่โด่งดังมาจากอังกฤษ และมีสาขามากมายตามแต่ใครจะซื้อลิขสิทธิ์ แถบๆ บ้านเราก็จะมีที่จีน ญี่ปุ่น อินโดนิเซีย และล่าสุดประเทศไทย รูปแบบรายการ จะเรียกได้ว่าเป็นรายการ ‘หาผัวหาเมีย’ ก็ได้ แต่ขอเรียกน่ารักๆ ว่า ‘หาคู่เดท’ แล้วกัน ที่จริงรายการแบบนี้มีมากมาย และเห็นมาหลากหลายแล้วในประเทศไทย แต่รายการนี้มีลูกเล่นที่สนุกสนานแปลกใหม่ จึงทำให้ติดตลาด โดยเป็นการนำ 30 สาวโสดมาร่วมรายการ และก็จะมี 1 หนุ่มโสด มาเพื่อจะหาคู่เดท ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่าต่างคนต่างหามากกว่า โดยกิมมิคของรายการนี้คือ เมื่อชายหนุ่มปรากฏตัว หญิงสาวที่อาจไม่ชอบใจในรูปร่างหน้าตา โหวงเฮ้ง ฯลฯ ก็อาจ ‘ปิดไฟ’ ได้ นั่นหมายถึงคุณขอสละสิทธิ์ในการ ‘เลือก’ และเป็น ‘ตัวเลือก’ ผู้ชายคนนี้ โดยในภาคภาษาไทย ใช้คำว่า ‘ความโสดคืออำนาจ’ (อืมมม...น่าคิด) และหลังจากนั้นก็จะให้ผู้ชายแนะนำตัว และในระหว่างแนะนำตัว หากผู้หญิงคนไหนไม่ชอบใจ ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยา การพูดการจา โปรไพล์ หรือลักษณะนิสัยผ่านการแนะนำนั้นก็อาจ ‘ปิดไฟ’ ได้ ทำไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 รอบ ก็ถึงคราวผู้ชายใช้ ‘ความโสดคืออำนาจ’ ด้วยการ ‘สะบั้นอารมณ์’ เดินไปปิดไฟบนแท่นที่ผู้หญิงยืนอยู่ ไม่ว่าไฟหรือผู้หญิงนั้นจะเหลือจำนวนเท่าไหร่ ให้ผู้ชายเลือกปิดไฟผู้หญิงที่คิดว่า ‘ไม่ใช่สเป๊ก’ ของเขา ให้เหลือตัวเลือกเพียง 2 คน จากนั้นก็เป็นคำถามสุดท้ายคือให้ผู้ชายถามอะไรก็ได้ ให้ผู้หญิงที่เหลือทั้งสองคนตอบ แล้วก็ให้ผู้ชายเดินไปปิดไฟผู้หญิงที่ตัวเองไม่เลือก เหลือเพียงหญิงสาวที่เขาเลือก และทั้งคู่ก็จะได้เดทกัน ซึ่งหลังจากนั้น เป็นเรื่องหลังรายการแล้วว่าเดทแล้วจะชอบพอกัน จนถึงขั้นพัฒนาเป็นแฟน หรือแต่งงานอะไรยังไงก็แล้วแต่ทั้งคู่ แต่ในเดทแรกก็จะมีการสัมภาษณ์ทั้งคู่ออกอากาศท้ายรายการ ให้ผู้ชมได้ดูด้วย กรี๊ดดด...ต้องรีบส่งไปสมัครไปร่วมรายการซะแล้ว ในขณะที่ดิฉันกำลังไล่ดูว่ายังมีเจ้าชายประเทศไทยที่ยังโสด และอาจสนใจจะแต่งงานกับ ‘หญิงสามัญชน’ บ้าง (ปีนี้มีหญิงสามัญชน ที่พิจารณาแล้วก็ไม่ ‘สามัญ’ สักเท่าไหร่ แต่งงานกับเจ้าชายถึง 3 คน!) รายการ Take Me Out ก็ยังแสงสว่างมาให้สาวโสดทั้งประเทศ (?) ให้มีโอหาสหาสามี แม้จะไม่เริ่ดหรูไฮโซถึงกับเป็นเจ้าชาย หรือนักแสดงหนุ่มรูปหล่อ แต่โปรไพล์ก็ไม่ขี้เหร่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจคิดกันอยู่ก็คือ วิธีการ ‘หาคู่เดท’ แบบนี้ มันดูไม่โรแมนติกเลย หรือเลยเถิดไปถึงผิดธรรมชาติของความรัก ดิฉันจะไม่พูดพร่ำทำเพลง ย้อนประวัติศาสตร์ไปไกลมากว่าเราเคยมีการแต่งานแบบคลุมถุงชน ซึ่งบางคู่ก็อยู่รอด มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง หรือการจับคู่โดยแม่สื่อที่พ่อแม่เป็นคนจ้าง หรือแม้กระทั่งการแต่งงานในรูปแบบอื่นๆ เพราะแค่ว่าเจอกันเพราะเรียนที่เดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน แล้วแต่งงานกัน ดิฉันว่ามันก็ไม่โรแมนติกแล้วนะคะ (แน่จริงมันต้องแบบในหนังเกาหลีสิ! ปล. ณ ที่นี่คือเราจะไม่พูดถึงเรื่องมายาคติของความโรแมนติก เอาเท้าเขี่ยไปไว้ข้างๆ ก่อน) ไม่ค่อยต่างอะไรกับรูปแบบที่กล่าวมาเท่าไหร่ หรือหลายคนก็อาจจะคิดว่า ทำไมเหรอ หญิงสาวเหล่านี้ (หรือหนุ่มคนนี้) หมดหนทางในการหาผัวหาเมียในชีวิตจริงแล้วหรือ จึงยอมมาออกรายการทีวีเพื่อหาคู่ ? (จากวงใน ได้ข่าวว่าไม่ค่อยมีใครอยากมาออกเท่าไหร่หรอกค่ะ โดยเฉพาะฝ่ายชาย หาผู้ร่วมรายการยากเหลือเกิน) หรือแม้กระทั่งพวกที่ต้องพึ่งพาเว็บไซต์หาคู่ คนพวกนี้ไม่มีน้ำยา หรือว่ามีปมด้อยอะไรหรือ ? จากรายการ (เดี๋ยวจะลงรายละเอียดอีกที) หรือจากประสบการณ์ของดิฉันที่เคยลงสนามไปงานนัดบอดของเว็บไซต์หาคู่ชื่อดังของประเทศไทยมาแล้ว (เพื่อเขียนคอลัมน์ค่ะ) มันทำให้ความคิดของดิฉันที่เคยคิดว่าคนพวกนี้ต้อง ‘บกพร่อง’ อะไรสักอย่างแน่ๆ นั้น (เกือบ) หมดไป เพราะที่เจอคือชายหนุ่มหน้าตาดี การศึกษาดี จบนอกกันทั้งนั้น หน้าที่การงานดี (เงินเดือนคาดว่าจะหลักแสนเลยล่ะ) รวมถึงสาวๆ ที่มานัดบอด (หมู่) จากการ ‘ใช้บริการของเว็บไซต์หาคู่’ นั้น ก็มีหน้าตา โปรไฟล์ดีเริ่ด! ไม่ต่างกัน จากการวิเคราะห์ (เอาเอง) เหมือนว่าพวกเขาไม่มีเวลาที่จะไปเสียเวลากับ ‘เส้นทางเดิมๆ’ อย่างเจอกันตามผับ งานปาร์ตี้ (ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดให้มีการเฟลิร์ตกันได้อย่างไม่เก้อเขินมากนัก ไม่เหมือนร้านกาแฟในตอนบ่าย หรือเดินสวนกันที่พารากอน) และมันอาจจะเสี่ยงเกินไปที่จะได้คนที่ ‘ไม่ดี’ มา อย่างน้อยการที่ใช้บริการจากเว็บไซต์หาคู่นั้น ก็มีการการันตีโปรไพล์มาแล้วระดับหนึ่ง มีการคัดกรองมาแล้วระดับหนึ่ง (ในการจะเข้าไปใช้บริการ นอกจากจะต้องเสียเงินแล้ว คุณยังต้องกรอกประวัติอีกมากมาย ทั้งหน้าที่การงาน เงินเดือน การศึกษา ฯลฯ) ซึ่งหากคุณไม่อยากระทึกขวัญกับการผจญภัยหาคู่ แต่พร้อมจะสร้างความรัก สร้างครอบครัวกับคน ‘โปรไฟล์ดีๆ’ ไฉนเลยไม่ยอมเสียเงินสักน้อยนิด มาใช้บริการหาคู่ล่ะ นอกจากจะปลอดภัย ได้คนหน้าตาดี โปรไฟล์ดี การศึกษา หน้าที่การงานดีเริ่ด! แล้ว วิธีการในการ ‘เลือกคู่’ ก็ไม่ได้ผิดธรรมชาติแต่อย่างใด ไม่ต่างจากการไปเที่ยวกลางคืน ไปผับไปบาร์หรอก (ช่วงแรกจะมีเกมส์ให้เล่น คือมีเวลาให้คนละ 10 วินาทีในการบอกอะไรสักอย่างแก่คู่ของคุณ แล้วหมุนเวียนไปเป็นเก้าอี้ดนตรี โดยห้ามพูด แต่ใช้การแลกกันเขียนบนสมุดโน้ต หลังจากนั้นพอเกมส์พวกนี้จบแล้ว ก็จะให้เราเขียนชื่อคนที่เราประทับใจใส่กระดาษ เจ้าหน้าที่ก็จะเก็บไว้ หลังงานเลิก เจ้าหน้าที่เขาก็จะบอกเราเอง ว่ามีใครสนใจเราบ้าง ถ้าเราคิดตรงกันก็อาจจะมีการจัดเดทแบบสองต่องสองต่อ ซึ่งที่จริงเกมส์มีมากกว่านี้ ไม่ได้น่ากลัว หรือต้องเขินอายอะไรเลย แล้วก็จะเป็นเหมือนงานเลี้ยงทั่วไปมากกว่า เพราหลังจากนั้นก็จะปล่อยฟรีสไตล์ใครประทับใคร หรืออยากรู้จักใครมากขึ้น ก็เดินถือแก้วไวน์เข้าไปคุยกันต่อได้) นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการหาคู่เท่านั้น และเป็นรูปแบบที่แฝงไปด้วยเรื่อง ‘ชนชั้น’ ที่น่าสนใจ เห็นไหมว่า เราเลือกชนชั้นก่อนที่จะถามหาความรัก ความโรแมนติกเสียอีก Take Me Out ก็ไม่ต่างกัน เพียงแค่งานนี้มีคนดูทางบ้าน และอาจจะมีบทที่ต้องแสดงมากขึ้นเท่านั้นเอง หรือบางคนที่อยู่ในรายการก็แค่มาร่วมรายการ อาจไม่ได้มาหาคู่จริงๆ ในจำนวนหญิงสาว 30 คนที่มาในรายการ จะเห็นได้ว่า สวยๆ แต่งหน้าแต่งตาเช้งกะเด๊ะ แต่งตัวเก๋ไก๋กันทั้งนั้น และส่วนมากก็เป็นหญิงสาวที่มีการศึกษา จบระดับมหาวิทยาลัย พิจารณาจากอาชีพที่พวกเธอทำ ไม่ว่าจะเป็นทนาย สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี พนักงานธนาคาร ดีเจ นักร้อง ธุรกิจส่วนตัว พนักงานบริษัทเอกชน ฯลฯ ส่วนชายหนุ่มก็ไม่ต่างกัน หล่อเหลา หน้าตาดี ไม่ถึงขั้นพระเอก แต่ก็ไม่ขี้เหร่แน่นอน (แน่ละ...เอาคนขี้เหร่มาผู้หญิงก็ดับไฟกันหมดน่ะสิ) มีทั้งทหาร (ยศสูง และดูมีฐานะ) ทันตแพทย์ ธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ หรือเราอาจจะพูดได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือ ‘ชนชั้นกลาง’ ก่อนอื่น ดิฉันต้องขอออกตัวก่อนว่า ที่ใช้ชื่อบทความว่า ‘สลิ่ม’ นั้น นอกจากจะเป็นการเล่นคำ เพื่ออารมณ์ความสนุกแล้ว คำๆ นี้มีนัยยะบางอย่าง ที่เราๆ ท่านๆ รู้กัน แต่แน่นอนว่า เพียงแค่ ‘โปรไฟล์’ ที่เราเห็นในรายการ ไม่อาจเคลมว่าพวกเธอ คือ ‘สลิ่ม’ เพราะหนึ่งเรายังไม่อาจนิยามลงไปได้อย่างแน่นอน ว่าแท้จริงแล้วสลิ่มนั้นมีองค์ประกอบ (ทั้งทางอุดมการณ์ พฤติการณ์ ไลฟ์สไตล์ ชนชั้น ฯลฯ) อย่างไร แม้แต่คำว่าชนชั้นกลางเองก็ยังคลุมเครืออยู่ แต่ก็มีความหมายที่กว้างกว่าสลิ่ม (?) และในกรณีนี้น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าว่าพวกเธอ (เขาด้วย) คือชนชั้นกลาง แต่ที่มีการยั่วล้อในการใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ อยู่ด้วยนั้น เป็นเพราะภายใต้บทความนี้ งานก่อนหน้านี้ หรืองานชิ้นต่อไป มันคือความพยายามของดิฉันที่จะค้นหาสารัตถะ องค์ประกอบ หรือความน่าสนใจของ ‘ชนชั้นกลาง’ ภายใต้อุดมการณ์แบบหนึ่ง (หรือหลายๆ แบบ แต่ไม่ทั้งหมด) ซึ่งอาจจะเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงในการปักธงโดยใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ตั้งแต่แรก แต่นั่นแหละ นี่คือความพยายามและการทำงานในโปรเจ็กต์นี้บนพื้นที่นี้ค่ะ อย่าเพิ่งมาเถียงกันเรื่องสลิ่มคืออะไรในตอนนี้เลย (คาดว่ายังอีกยาว และอาจหาคำตอบไมได้ มาดูกันเป็นเรื่องๆ ทีละปรากฏการณ์และคำอธิบาย ‘ปรากฏการณ์’ กันก่อน) ค่อยๆ ดูกันไป ทั้งคนอ่านและดิฉันเองด้วย (อย่าไปซีเรียสค่ะ ว่าอ่านแล้วจะได้อะไรที่เป็นวิชาการ ตัวคนเขียนยังไม่ซีเรียสเลย เพราะเขียนแบบนั้นไมได้อยู่แล้ว นี่ประชาไท ‘บันเทิง’ ค่ะ) กลับมาที่รายการ Take Me Out อย่างแรก จำนวนผู้หญิง 30 คน ต่อผู้ชาย 1 คน หากจะพิจารณาจากวิชาสถิติ ก็จะเห็นว่าถูกต้องแล้ว (แม้จะไม่ใช่อัตราส่วน 30 ต่อ 1 ก็เหอะ) ประชากรชายไทยตอนนี้อยู่ที่ 31,451,801คน ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 32,426,466 คนซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อเทียบสัดส่วน ‘วัยเจริญพันธุ์’ นั้นอยู่ที่เท่าไหร่ นี่ยังเป็นแค่การแยกตาม ‘เพศ’ แต่หากแยกตาม ‘ความสนใจทางเพศ’ แล้วละก็ คาดว่าอัตราส่วนคงแตกต่างกันสูงกว่านี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ผู้หญิงถึงต้องมากระดี๊กระด๊าพรีเซนต์ตัวเสียเหลือเกินเพื่อที่จะให้ผู้ชายเลือกในรายการนี้ เพราะลำพังแค่ผู้ชาย ‘แท้’ ก็หายากแล้ว มิพักต้องถามหาผู้ชาย ‘ดีๆ’ เลยค่ะ และแม้กระแสเฟมินิสต์จอมปลอมจะบอกว่า สมัยนี้ผู้หญิงไม่ง้อผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมีงานทำ มีเงินใช้ อยู่ด้วยตัวเองได้ ไม่จำเป้นต้องแต่งงาน สถานะ ‘โสด’ เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน มีรายได้เลี้ยงชีพ ซึ่งก็คือผู้หญิง ‘ชนชั้นกลาง’ ฟังดูเหมือนจะจริง แต่ทำไมผู้หญิงที่มาออกรายการ ‘Take Me Out’ นั้นถึงเป็น ‘ผู้หญิงชนชั้นกลาง’ ทั้งนั้นล่ะ บางคนอาจบอกว่าเพราะเขาเลือกหน้าตามาออกทีวี ไม่จริงหรอก หญิงชนชั้นแรงงานพนักงานเสิร์ฟเอ็มเคสวยๆ มีถมไป ทำไมเหล่าทนายความ สถาปนิก วิศวกร นักบัญชี นักร้อง ดีเจ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ฯลฯ เหล่านี้ถึงได้ต้องมาออกรายการหาคู่รัก ในยุคสมัยที่เค้าบอกกันว่าผู้หญิงโสด ที่สวย การศึกษาดี มีหน้าที่การงาน มีอาชีพ มีรายได้ อยู่เป็นโสดก็ได้ ไม่เห็นต้องแต่งงานหรือง้อผู้ชายเลย ทำไมและทำไม จากงานศึกษา 3 ชิ้น ทั้งที่อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย ของ David Villetts, June Carbone และ Naomi Cahn และ Angela Shanahan ต่างให้ข้อมูลและนำสู่บทวิเคราะห์ที่ตรงกันว่า แท้จริงแล้ว ผู้หญิงชนชั้นกลาง ผู้มีการศึกษา (จบมหาวิทยาลัย) มีหน้าที่การงาน ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้ต้องการอยู่เป็นโสด ทำงานเลี้ยงตัวเอง เป็นสาวเปรี้ยวยุคใหม่ เฟมินิสต์อะไรหรอก (ดูอย่าง 4 สาว ใน Sex And The City สิ มีใครโสดไหม ? ...ไม่มี!) พวกเธอแค่ ‘ชะลอ’ การแต่งงานให้นานออกไปกว่าเดิมเท่านั้นเอง จากสถิติที่ผู้หญิงเคยแต่งงานในราวๆ อายุ 20 ต้นๆ ก็ถูกยืดออกไปเป็น 20 ปลายๆ จนถึง 30 ต้น และในกระบวนการการยืดระยะเวลานี้ ไม่ใช่ว่าเธออยากเห็นโลกกว้าง ใช้ชีวิตโสดให้คุ้ม หรืออยากทำงานอะไรหรอก มันคือการเปิดโอกาสให้พบผู้ชายที่พอแต่งงานกันไปแล้ว (หรือเริ่มตั้งแต่จะแต่งงานว่า จะจัดงานได้อย่างที่อยากได้หรือไม่) เขามีบ้าน มีรถ มีเงินพอถ้าเธอจะลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก มีเงินพอจะส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ และมีเงินพอที่เขาจะยังให้เธอซื้อลูบูแตง (รองเท้าแบรนด์ Louboutin) สักคู่มาใส่ได้ (ดูอย่างยัยแครี่ แบรดชอว์ ใน Sex And The City สิ เขียนคอลัมน์ได้คำละ 2 ดอลลาร์ ยังต้องรอให้มิสเตอร์บิ๊กซื้อมาโนโล บลาห์นิค (รองเท้าแบรนด์ Manolo Blahnik) ให้เลย! โดยเฉพาะงานศึกษาของ David Villetts ที่สรุปว่า การแต่งงานนั้นกลายเป็นสถาบันของ ‘ชนชั้นกลาง’ ในอังกฤษไปแล้ว ซึ่งนอกจากประเด็นการชะลออายุเพื่อเข้าสู่พิธีแต่งงานแล้ว ยังมีองค์ประกบอื่นๆ อย่างการเสียภาษี สิ่งที่จะได้จากรัฐ ค่านิยมของสังคม ฯลฯ และในงานทั้งสามชิ้นก็ยังได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับหญิงสาวชนชั้นแรงงานอีกด้วย ซึ่งหากมองในสังคมไทย กระแส Wedding Studio, ธุรกิจของชำร่วย, ถ่ายภาพ, พรีเซนเตชั่นในงาน, เพลงประกอบการแต่งงาน (หรือแม้กระทั้งเพลง ‘Will You Marry Me’ ของพี่ปั๊ป โปเตโต้กับสาวลุลาที่กลายเป็นเพลงฮิตอันดับหนึ่งของงานแต่งงานไปแล้ว งานเพื่อนดิฉันก็เปิดค่ะ!) ก็พอจะเห็นภาพออกในกรณีการเปรียบเทียบคล้ายๆ กัน ผู้หญิงชนชั้นกลางจึงเป็น ‘ตัวดี’ เลยล่ะ ในการเฝ้าฝันถึงการแต่งงาน การได้ถ่ายรูป Wedding Studio สวยๆ (และแปลกๆ ซึ่งเริ่มจะครีเอทมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ใครถ่ายในสตูดิโอ เชยมากกก...) ชุดเจ้าสาว (อาจจะไม่ใช่วีรา แวง หรือถ้าอยากได้ก็แค่เอาแบบในหนังสือไปให้ร้านตัดให้ อยากได้แบบของเคท มิดเดิลตันก็ได้ค่ะ ในราคาที่ถูกกว่า!) เพลงในงาน ของชำร่วยน่ารักๆ รวมถึงพรีเซนต์เตชั่นที่ต้องไปขุดรูปตั้งแต่สมัยออกจากท้องแม่มาประกอบ หรือทำเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นได้ยิ่งดี ในขณะที่ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน อย่างที่มักเห็น ‘ภาพเสนอ’ ในมิวสิค วิดีโอเพลงลูกทุ่งทั้งหลาย ที่อาจจะแค่อยากได้มือถือสักเครื่องไว้รอให้หนุ่มโทรหา (โท้หาแหน่เด้อ...จำเบอร์ของน้องได้บ่) หรือการได้ใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อแชร์ห้องเช่า เพราะต่างคนต่างเดินทางมาจากต่างจังหวัด การได้พบ ‘คนบ้านเดียวกัน’ เพื่อพอที่จะได้พูดคุยเอื้ออาทรกัน ความในของพวกเธอมักเป็นไปในลักษณะการได้เกื้อกูลกันทั้งทางใจและทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตดำรงอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ หรือบางทีเธออาจจะฝันแค่ค่าแรงวันละ 300 บาทอยู่ก็ได้ ส่วนผู้หญิงชนชั้นสูงไฮโซ นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง งานแต่งงานแบบไหนก็สามารถเนรมิตได้ แต่ผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับเธอนั้น นามสกุลอะไรจ้ะ พ่อแม่ทำธุรกิจอะไร เด็กอังกฤษหรือเปล่า แม้ในวงสังคมตอนนี้จะปะปนไปด้วยชนชั้นกลางที่มีเงินพอจะไปดื่มไปเที่ยวในสถานที่เดียวกันกับสังคมไฮโซ แม้ความสวยจะเป็นต้นทุนหนึ่งของสาว (ชนชั้นกลาง) ในการไต่เต้าข้ามชนชั้นได้แต่งงานกับชนชั้นสูง (ต้นทุนนี้คือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจความงามงอกเงย) แต่การแต่งงานของชนชั้นสูง หรือไฮโซทั้งหลายมันก็คือ ‘เงินต่อเงิน’ เป็นการดำรงไว้ซึ่งสถานะและเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจ (และแน่นอน...ชนชั้น) บางคนอาจจะแต่งเอานามสกุล (ผู้ดีเก่าแต่ไม่มีเงิน) เพื่อไปต่อยอด หรือบางคนก็อาจแต่งกับดารา (แต่อย่าลืมว่าดาราอย่างอั้ม พัชราภา นุ่น วรนุช ณเดชณ์ หรือ เป้ อารักษ์ ระดับท็อปพวกนี้ทำเงินปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านนะจ้ะ...พวกเขาก็ไม่ใช่ชนชั้นกลางหรอก!) ไหน...ใครบอกว่าผู้หญิงยุคใหม่ การศึกษาดี มีงานทำ มีเงินใช้ อยากอยู่เป็นโสดมากขึ้น....ไม่จริ๊งงง...และบางทีเธออาจะไม่ได้ตั้งต้นหา ‘รัก’ แต่เป็นการหาคนที่จะมาเติมเต็ม ‘ฝัน’ แบบสลิ่มๆ ของเธอ ที่มีความรักปะปนอยู่นั้นด้วยเท่านั้นเอง แน่นอนความพยายามเลื่อนฐานะทางชนชั้นของสาวชนชั้นกลางก็อีกเรื่องหนึ่ง ถึงแม้ไม่สำเร็จ พวกเธอก็พร้อมจะเลือกหัวกะทิของหัวกะทิในชนชั้นเดียวกัน (เหมือนอย่างผู้เข้าแข่งขันหนึ่งบอกว่าผู้ชายที่เธอชอบต้องหน้าตาดี มีรถขับ) เพื่อตอบสนองความฝันแบบ ‘สาวสลิ่ม’ ภายใต้ชนชั้นเดียวกัน ที่การศึกษาสูงสี ฐานะทางบ้านสูสี (หรือผู้ชายต้องดีกว่า ไม่งั้นไม่มีเงินจัดในแบบที่ฝัน) หน้าที่การงานสูสี (หรือผู้ชายต้องดีกว่า) สิ่งที่เหลือที่พอจะต่อรองกันได้ก็เหลือเพียงแค่หน้าตา รูปลักษณ์ ที่ต้องช่วงชิงกัน และนั่นก็คือสาเหตุแห่งธุรกิจความงามที่กำลังเติบโตอย่างสุดขีด ไม่ว่าจะเป็นโบท็อกซ์ วิตซี กลูต้าไทโอน ดัดฟัน เลเซอร์ ฯลฯ ไม่ผิดแปลกที่คนเราจะฝันถึงสิ่งที่ดีกว่า เพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น และความฝันของสาวสลิ่มก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมบรรดาสาวๆ ในรายการ Take Me Out จึงมีแต่สาวสลิ่ม น้องนางฉันทนาก็อาจอยากได้หนุ่มรูปหล่อ หน้าที่การงานดี เป็นหมอ เป็นทหาร เป็นนักธุรกิจเหมือนกัน ทำไมจึงไม่มีพวกเธอเหล่านั้นเป็น 1 ใน 30 สาวในรายการ อาจจะบอกว่าในเมื่อหนุ่มที่มาออกรายการก็สลิ่มไม่แพ้กัน กลัวว่าสาวฉันทนาอาจจะไม่ได้ถูกเลือก เดี๋ยวแห้งคารายการ ไปทำงานทำการเย็บผ้า แกะกุ้ง เก็บเงินดีกว่าจะมาเสียเวลาแบบนี้ แต่แท้จริงไม่ใช่เช่นนั้นหรอก ความฝันของสาวสลิ่มไม่ได้ลอยฟุ้งแค่ในรายการ Take Me Out แต่ยังลอยอยู่หน้าจอทีวีสำหรับสาวสลิ่มอีกหลายคนที่ไม่ได้ไปออกรายการ เพราะในโทรทัศน์ของเรายังเต็มไปด้วยรายการแนะนำร้านอาหารเก๋ๆ ชิคๆ เปิดใหม่ ไวน์บาร์น่านั่ง ช้อปปิ้งแบรนด์เก๋ๆ ที่ไหนดี ละครสอนศีลธรรมซึ่งคงไว้ซึ่งอุดมการณ์อันสูงส่งแบบชนชั้นกลาง มีรายการธรรมะ มีพระนักเทศน์ เอาอย่างนี้แล้วกัน รายการว่าด้วยการทำนาเกี่ยวข้าว ยังไม่ใช่การทำนาในแบบที่ชาวนาที่เป็นหนี้ค่าปุ๋ยทั้งประเทศเขาทำกันเลย (เพราะเขาไม่ได้ทำในชาวนาดูไงคะ...อย่ามาโวยวาย) รายการโทรทัศน์จึงเป็นรายกายที่คิดโดยสลิ่ม ทำเพื่อสลิ่ม สนองอุดมการณ์แบบสลิ่มๆ และรายการ Take Me Out ก็เช่นเดียวกัน หลังจากเพิ่งคิดได้ว่าตัวเองชักจะดูโทรทัศน์มากไปแล้ว ก็รีบปิด เปิดอินเตอร์เนตเสิร์จหาว่ายังมีเจ้าชายประเทศไหนที่ยังโสดอยู่บ้าง ได้ความว่าเจ้าชายแห่งโมนาโคนี่แหละ นอกจากจะยังโสดและหล่ออีกด้วย เอ๊ะ! หรือว่าดิฉันจะเก็บกระเป๋าไปใช้ชีวิตที่โมนาโคสักปีสองปี เผื่อจะได้เป็นหญิงสามัญชนที่ได้แต่งงานกับเจ้าชายบ้าง เอ๊ะ! คิดแบบนี้เขาจะหาว่าเราเป็นสลิ่มไหมนะ...คริคริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net