Skip to main content
sharethis

29 มิ.ย.54 เวลา 13.00 น.กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและราษีไศล ฯลฯ จำนวน 50 องค์กร ในนาม “เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน” ได้มารวมตัวกัน ณ บริเวณหน้า สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อยื่นหนังสือทวงถามจุดยืนต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้าน พร้อมกระตุ้นเตือนให้สถาบันการศึกษาตระหนักถึงสภาพปัญหา และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับทุกฝ่าย สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านในหลายกรณี ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ถูกให้ความสำคัญจากสถาบันอุดมศึกษา แต่สถานศึกษากลับมุ่งเน้นการสร้างผลกำไร และผลิตบัณฑิตเข้าไปรับใช้ระบบทุน อีกทั้งล่าสุดยังมีปัญหาภายในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม นายประดิษฐ์ โกศล แกนนำชาวบ้านจาก สมัชชาคนจน เขื่อนราศีไศล ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการเดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ว่า ต้องการมาฟังผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาว่าท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจุดยืนอย่างไร และจะมีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายในขณะนี้ “ที่พวกเรามากันในวันนี้ ก็เพื่อที่จะทวงถามถึง สาเหตุของการสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรมต่ออดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มข.ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ลงไปช่วยเหลือพวกเราด้านคดีความในการเรียกร้องต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน และอยากจะทราบถึงทิศทางข้างหน้าของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าต่อไปจะเป็นไปอย่างไร” นายประดิษฐ์ กล่าว ส่วน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามจะนำปัญหาที่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริง แต่มหาวิทยาลัยกับมาท่าทีที่เพิกเฉยต่อปัญหาของชาวบ้าน พวกเขาจึงต้องพากันมาทวงถามจุดยืนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษา “ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องยืนเคียงข้างประชาชนต้องรับใช้ชุมชน ต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มชาวบ้านที่มากันในวันนี้เป็นชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาได้รับผลกระทบจากการพัฒนา” นายสุวิทย์ กล่าว สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในปัจจุบันนี้ กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เต็มไปด้วยบรรดานักธุรกิจ พ่อค้า และนักลงทุน ซึ่งกลุ่มคมเหล่านี้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางในการบริหารหลักสูตรการศึกษา จึงทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ระบบทุนนิยมเป็นหลัก ทั้งที่มหาวิทยาลัยน่าจะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคม ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ปรีเปรม รองอธิการฝ่ายการคลังและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ออกมารับหนังสือในครั้งนี้ได้กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถตอบคำถามของชาวบ้านแทนอธิการบดีฯ ได้ แต่จะรับหนังสือไว้ แล้วจะนำไปมอบให้อธิการบดีฯ อีกครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลุ่มชาวบ้านทำการยื่นหนังสือเสร็จ ตัวแทนชาวบ้านจากแต่ละพื้นที่ได้ร่วมสรุปผลและกำหนดทิศทางร่วมกัน โดยได้กำหนดนัดหมายว่าจะกลับมาทวงถามข้อคำตอบจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 54 เครือข่ายองค์กรประชาชนอีสานได้ออกแถลงการณ์ ประณามอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นใช้อำนาจเผด็จการสั่งปลดคณบดีคณะนิติศาสตร์ให้ไปเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดทางให้คนของตนนั่งในตำแหน่งแทน พร้อมระบุว่าการทำงานของคณบดีคนเดิมที่มุ่งปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้ชุมชนรักษาสิทธิของตนเอง และคอยยืนเคียงข้างชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิฯ เป็นมูลเหตุสำคัญสำหรับการถูกปลดในครั้งนี้ ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net