Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พิธีรับน้องที่มีลักษณะ “ป่าเถื่อน” ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในมหาวิทยาลัยและสังคมในวงกว้างมาเป็น เวลานานแล้ว ล่าสุดการประท้วงพิธีรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ถูกนำมาเผยแพร่ทาง YouTube ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในวงกว้างอีกครั้ง มีการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์จำนวนหลายชิ้น รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อและรณรงค์ให้มีการปฎิรูปวิธีการรับน้องเสียใหม่ ทว่าในทางกลับกันไม่เพียงแต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะออกมาให้ สัมภาษณ์ในเชิงปกป้องพิธีรับน้องพร้อมกับกล่าวหานักศึกษาที่ต่อต้านว่าเป็น พวก “ร้อนวิชา” หากแต่ยังมีนักศึกษาและบุคคลทั่วไป (ซึ่งล้วนแต่ผ่านพิธีรับน้องของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย) จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่จาระไนให้เห็นว่าพิธีรับน้องมีประโยชน์ทั้งต่อปัจเจก บุคคล สถาบัน และสังคมอย่างไร ฉะนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าพิธีรับน้องที่ดู “อนารยะ” ในมหาวิทยาลัยไทยจะไม่อันตรธานหายไปอย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางมานุษยวิทยา พิธีรับน้องสามารถเทียบเคียงได้กับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rite of Passage) หรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพ (Initiation Rite) ของบุคคลในสังคมชนเผ่า ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 3 ช่วง คือ ช่วงแยกตัว ช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงผนวกรวม โดยช่วงแยกตัวหมายถึงการแยกตัวผู้เข้าพิธีออกจากชีวิตปกติ คือ จากพ่อแม่และญาติพี่น้องไปอยู่ยังสถานที่อีกแห่ง เช่น กระท่อมกลางป่านอกเขตหมู่บ้าน เป็นเวลาชั่วคราวเพื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในช่วงนี้ผู้เข้าพิธีทุกคนจะถูกปลดเปลื้องสถานภาพดั้งเดิมจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกหัวหน้าเผ่าหรือลูกคนธรรมดาต่างมีสถานะเท่าเทียมกันและขึ้น ต่อผู้มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้มีอำนาจสูงสุดมักเป็นผู้อาวุโสของเผ่า สวมหน้ากากสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณบรรพบุรุษพร้อมกับถือไม้เรียว เฆี่ยนตีผู้เข้าพิธีที่ไม่เชื่อฟัง มีหน้าที่ถ่ายทอดตำนานชนเผ่าและอบรมสั่งสอนระบบคุณค่าและระเบียบกฎเกณฑ์ ต่างๆ ของเผ่าให้ผู้เข้าพิธีได้ซึมซับเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นผู้เข้าพิธีจะเดินทางกลับหมู่บ้านเพื่อเข้าสู่ช่วงการผนวกรวม ซึ่งพวกเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะสมาชิกคนใหม่ที่สมบูรณ์ของ เผ่า มีการเฉลิมฉลองด้วยการกิน ดื่ม ขับร้อง และเต้นรำเป็นเวลาหลายวันหลายคืน นอกเหนือจากระบบความเชื่อ สัญลักษณ์ และภาวะกลับหัวกลับหางในช่วงเปลี่ยนผ่าน พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านหรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพ (เช่นเดียวกับพิธีกรรมโดยทั่วไป) มักถูกวิเคราะห์ในกรอบของการทำหน้าที่จรรโลงโครงสร้างสังคม กล่าวคือ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านให้หลักประกันว่าสมาชิกใหม่จะไม่ท้าทายหรือรื้อทำลาย ระบบคุณค่าและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ เพราะกิจกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเน้นการอบรมสั่งสอนผู้เข้าพิธีให้เคารพเชื่อ ฟังมากกว่ากระตุ้นให้ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ และเน้นให้ผู้เข้าพิธียอมรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานแทนที่จะต่อต้านขัดขืน ขณะเดียวกันความที่ช่วงเปลี่ยนผ่านเน้นความเสมอภาคในหมู่ผู้เข้าพิธีและมี การกลับหัวกลับหางระเบียบกฎเกณฑ์ก็ส่งผลให้ความตึงเครียดซึ่งเกิดจากความ เหลื่อมล้ำในโลกปกติลดลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่เป็นภัยคุกคามระเบียบสังคม ภราดรภาพในหมู่ผู้เข้าพิธีแม้จะเกิดขึ้นในเวลาสั้นแต่ก็อาจส่งผลช่วยระงับ ความบาดหมางระหว่างคนที่มีสถานภาพต่างกันในโลกปกติได้ นอกจากนี้ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านช่วยให้ผู้เข้าพิธีผ่านพ้นความสับสนกระวนกระวายใจกับการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนได้ ผู้ผ่านพิธีมีความมั่นใจว่าชีวิตใหม่ข้างหน้าไม่อ้างว้างเพราะรู้ว่าตัวเอง เป็นใคร อยู่ตรงไหน สังกัดอะไร มีใครเป็นเพื่อน รวมทั้งไม่รู้สึกเคว้งคว้างเพราะมีหลักให้ยึดและมีกรอบให้เดินตาม และเพราะเหตุที่มีหน้าที่ทั้งต่อปัจเจกบุคคลและสังคมเช่นนี้ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านหรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพจึงมีให้เห็นในแทบทุกสังคมและ วัฒนธรรม เช่น พิธีบวชในสังคมพุทธ และพิธีขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศในสังคมมุสลิม เป็นต้น อย่างไรก็ดี การอธิบายพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้าง-หน้าที่เช่นนี้มีข้อจำกัด เพราะไม่เห็นความตึงเครียดที่แฝงอยู่รวมทั้งแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง และข้อจำกัดดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมขนาดใหญ่หรือสังคมร่วมสมัย ที่ไม่มีระบบคุณค่าหรือระเบียบกฎเกณฑ์ใดเป็นตัวแทนของสังคมโดยรวมได้อีก ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ได้ส่งผลให้สถาบันทางสังคมตามประเพณี (ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่) ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังกรณีรัฐไทย สถาบันทางสังคมตามประเพณี เช่น วัด ส่วนใหญ่หากไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ ก็หันเข้าสู่โลกภายในมากขึ้นหรือไม่ก็มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งจนมีเวลาให้กับ พันธกรณีทางสังคมน้อยลงอย่างมาก ในทางกลับกัน กลไกรัฐที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น สถานศึกษา และกองทัพ ก็ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นสถาบันทางสังคมเพื่อเป็นกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ มาตั้งแต่ต้น การณ์จึงกลายเป็นว่าพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันทางสังคมเหล่านี้ไม่ได้ทำ “หน้าที่” จรรโลงสังคมโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความตระหนักรู้ของผู้ปฏิบัติ หากแต่ถูกจงใจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์จำเพาะของสถาบันซึ่ง มักสอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ พิธีกรรมในสถาบันเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียดมากนักหากว่าเป็นไปใน ทิศทางเดียวกับสภาวะปกติของสถาบัน เช่น โรงเรียนนายร้อยทหารและตำรวจมีประเพณี “รับน้อง” และระบบอาวุโสที่เข้มงวด นักเรียนปีหนึ่งต้องเคารพเชื่อฟังและปรนนิบัติรุ่นพี่ในระดับที่นักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่สามารถเทียบได้ แต่สาเหตุที่ไม่สู้จะมีข่าวคราวการต่อต้านหรือการประท้วงประเพณีรับน้องใน สถานศึกษาประเภทนี้ นอกจากจะเป็นเพราะประเพณีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายความ สัมพันธ์เชิงพึ่งพาที่สำคัญในอนาคต ยังเป็นเพราะประเพณีเหล่านี้สอดคล้องกับการจัดความสัมพันธ์แบบลำดับขั้นหรือ ตามสายการบังคับบัญชาของสถานศึกษาและสถาบันที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษาซึ่ง มีสถานะเป็นกลไกความมั่นคงของรัฐโดยตรง ในทางกลับกัน พิธีรับน้องในมหาวิทยาลัยในลักษณะ “ป่าเถื่อน” มักเป็นข่าวคราวขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยถูกคาดหวังให้เป็นดิน แดนแห่งสิทธิและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ไม่ใช่สถานที่บังคับฝึกฝนพลเมืองให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ประเพณีรับน้องที่เน้นการเคารพเชื่อฟังหรือการยอมจำนนต่ออำนาจดิบหยาบของ รุ่นพี่ (ผู้มาแทนครูและอาจารย์ในระบบโรงเรียน) โดยดุษณีแม้จะเป็นลักษณะชั่วคราวจึงไปไม่ได้กับอุดมคติของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไทยจึงเป็นแหล่งของความลักลั่นเรื่อยมาเมื่อมาถึงปัญหาว่าสมาชิก ในชุมชนแห่งนี้จะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง พิธีรับน้องไม่ได้ดำรงอยู่โดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการที่สถานศึกษาในฐานะสถาบันทางสังคมถูกแปรสภาพให้ เป็นกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ เพราะนอกจากความกลัวในอำนาจตามกฎหมาย รัฐไทยปกครองและควบคุมพลเมืองโดยอาศัยการปลูกฝังความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ผ่านทางพิธีกรรม พิธีรับน้องอาจมีความเข้มข้นในช่วงแรกของการมีชีวิตเป็นนักศึกษา ทว่าพิธีกรรมที่นิสิตนักศึกษามักถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องมากกว่า มักเป็นเรื่องที่มีรัฐมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ การยกเลิกการ “ว้าก” ที่ดู “ป่าเถื่อน” ไร้ “อารยธรรม” และเป็นเผด็จการแทบจะไม่มีความหมายหากการบังคับให้แสดงความรักและความภักดี ที่ดูวิจิตรบรรจงในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ถูกตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน ที่มา:คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน เดือน มิถุนายน 2554 ที่มาภาพ:http://blog.spu.ac.th/spufcontent5/2008/11/03/entry-14

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net