Skip to main content
sharethis

 

วาระ 18 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์ คนงานแถลงจุดยืนขอให้ชะลอการพิจารณายกร่าง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอประชาพิจารณ์ก่อนร่าง พบปี 53 มีลูกจ้างป่วย-อุบัติเหตุจากการทำงาน วันละ 406.96 ราย เสียชีวิตจากการทำงานวันละเกือบ 2 คน

ในวาระครบรอบ 18 ปีโศกนาฎกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พ.ค. สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และองค์กรพันธมิตร 13 องค์กร ร่วมแถลงข่าว "18 ปี 188 ศพ โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กำลังจะสูญเปล่า? สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เป็นดั่งฝันของผู้ใช้แรงงาน" โดยระบุว่า กว่า 18 ปีของการผลักดันเคลื่อนไหวของเครือข่ายแรงงาน ล่าสุด พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะถูกบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ โดยในหมวด 7 มาตรา 52 จะนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณายกร่างของอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฯ กลุ่มคนงานมีมติเรียกร้องให้ชะลอการประชุมเพื่อยกร่าง พ.ร.ก.การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์กรมหาชน) พ.ศ.... และให้กระทรวงแรงงานดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและนำมาเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป

โดยมีความเห็นต่ออนุกรรมการยกร่างกฎหมายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ที่ 1/54 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2554 โดยมีนางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธาน ดังนี้

1.การมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานในอนุกรรมการยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีจำนวนน้อยมากเพียง 3 คนจาก 19 คน

2.เมื่อพิจารณาจากการประชุมยกร่างกฎหมายสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายผู้ใช้แรงงานและฝ่ายรัฐมีมุมมองที่ต่างกันอย่างชัดเจน ฝ่ายรัฐมองว่า สถาบันฯที่จะจัดตั้งขึ้นควรเป็นเพียงหน่วยงานระดับกองภายใต้กรมสวัสดิการ ซึ่งต่างจากความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้สถาบันฯ ที่เรียกร้องมายาวนานจะต้องเป็นองค์กรอิสระ ในการบริหารจัดการ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างฯ มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ และมีภารกิจในการยกร่างพระราชกฤษฎีกา ที่ใช้ พ.ร.บ.องค์กรมหาชน พ.ศ.2552 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ถูกบังคับใช้

3.การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อจะได้ข้อมูลสดเป็นองค์ความรู้ ในการติดตามการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานภาครัฐโดยตรงและสามารถเข้าไปในสถานประกอบการ เพื่อทำการศึกษาวิจัยวิเคราะห์และให้คำแนะนำด้านความปลอดภัย ทำการเผยแพร่รณรงค์ และเพื่อสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและพัฒนาบุคลากร รวมทั้งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเป็นทุนประเดิมอย่างเพียงพอและรับโดยตรงจากดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 ต่อไป

4.การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ มีหลักการสำคัญในประเด็นที่มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ที่มีสัดส่วน 11 คน แบ่งเป็นประธาน 1 คน เป็นกรรมการฝ่ายลูกจ้าง 2 คน นายจ้าง 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ต้องมาจากการสรรหา ไม่ใช่ราชการมีเงินเดือนประจำ กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คนคือ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเลขานุการต้องได้รับการคัดเลือกจากกรรมการสถาบันฯ)
 

พบคนงานเสียชีวิตจากการทำงาน เกือบ 2 คนต่อวัน
ด้านสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 18 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนสังคมจะเริ่มตระหนักในประเด็นเรื่องความปลอดภัย มีหน่วยงานอาชีวเวชศาสตร์-คลีนิกผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ผ่านการเรียกร้องของสมัชชาคนจนในหลายรัฐบาล แต่คนงานยังเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้ เพราะการส่งต่อของโรงพยาบาลประกันสังคม ไม่เอื้อให้คนงานเข้าสู่การวินิจฉัย บางส่วนที่ได้รับวินิจฉัยก็ถูกบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่โรคจากการทำงาน และถูกปลดจากการทำงาน ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ด้อยสิทธิ และเมื่อร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถขายแรงงานเลี้ยงครอบครัวได้อีก

โดยจากการรวบรวมตัวเลขของสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ สถิติการประสบอันตรายของลูกจ้างภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ปี 2553 มีลูกจ้างภายใต้การคุ้มครอง 8,177,618 ราย มีลูกจ้างที่เจ็บป่วยด้วยโรคหรือประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพและเสียชีวิตจากการทำงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเงินทดแทนทั้งสิ้น 146,511 ราย แบ่งเป็นลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงาน 619 ราย ลูกจ้างสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย 2,149 ราย ลูกจ้างทุพพลภาพจากการทำงาน 11 ราย ลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานหยุดงานเกิน 3 วันขึ้นไป 39,919 ราย ลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 103,813 ราย

โดยคิดเป็นมีลูกจ้างที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานทั้งสิ้น 12,209.25 รายต่อเดือน หรือวันละ 406.96 ราย ขณะที่มีลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงานเดือนละ 51.58 ราย คิดเป็นเสียชีวิตเกือบ 2 คนต่อวัน โดยสถิตินี้ยังไม่นับรวมคนงานที่ป่วยด้วยโรคจากสารเคมีมลพิษในโรงงานและเสียชีวิตจากการทำงาน ซึ่งหายไปอีกนับไม่ถ้วน เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้

สมบุญกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการและเอ็นจีโอ พยายามเรียกร้องคือสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อให้คนงานได้รับการคุ้มครอง ทำงานอย่างมีชีวิตที่ปลอดภัย เพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์ บ้านเมืองที่เจริญ แต่ดูเหมือนความเจริญของสังคมต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้ใช้แรงงาน

ต่อมา อดีตคนงานซึ่งเจ็บป่วยจากการทำงานได้เล่าถึงการเรียกร้องเพื่อให้ได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน โดยพบปัญหาตั้งแต่การที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นการเจ็บป่วยจากการทำงาน บ้างไม่ทราบสิทธิของตนเอง บางรายต่อสู้จนได้เงินจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว แต่ยังรักษาไม่หาย วงเงินก็หมดเสียก่อน จึงยื่นอุทธรณ์เพื่อขอขยายวงเงิน แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา เช่นกรณีของจันมณี กลิ่นถนอม ซึ่งทำงานในแผนกรีดของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกต่างประเทศแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2531 โดยต้องยืนรีดผ้าในท่าทางเดิมตลอด จนเกิดอาการปวดที่ซีกซ้ายของร่างกายทั้งแถบ เธอไม่ได้รับการรักษาต่อเพราะรักษาเกินวงเงิน เมื่อไปขอให้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 39 ที่ส่งเงินด้วยตัวเองมาตลอดหลังถูกเลิกจ้าง ก็กลับถูกปฏิเสธโดยถูกบอกให้รอรับสิทธิจากเงินกองทุนทดแทน ล่าสุด เธอจึงตัดสินใจฟ้องศาลแรงงาน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน แต่เมื่อไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และต้องทุพพลภาพ นายจ้างได้ตัดสินใจเลิกจ้างคนงานและไม่จ่ายค่าชดเชย โดยระบุว่าคนงานได้เงินทุพพลภาพไปแล้ว เช่นกรณีของสุบิน ศรีทอง ซึ่งพลัดตกจากหลังคาสูงสิบกว่าเมตร ข้อมือหักสองข้างและหลังหัก ที่ได้รับเงินทุพพลภาพเดือนละ 3,500 บาทในอัตราคงที่เป็นเวลา 15 ปี เขาระบุว่าจำนวนเงินเท่านี้ไม่เพียงพอดูแลลูกเมียได้ ขณะที่จะไปสมัครงานที่ก็ไม่มีใครรับ เพราะต้องใช้ไม้เท้าตลอด

ด้านอดีตคนงานที่สู้คดีจนชนะอย่างเตือนใจ บุญที่สุด หนึ่งในผู้ป่วยจากโรคบิสซิโนซิสหรือโรคฝุ่นฝ้าย เล่าถึงการต่อสู้ในชั้นศาลในคดีฝุ่นฝ้ายที่ใช้เวลาร่วม 15 ปีว่า ที่สุด ศาลฎีกาได้พิพากษายืนให้นายจ้างชดเชยค่าเสียหายให้อดีตคนงานที่เจ็บป่วยจากฝุ่นฝ้ายรายละประมาณ 1 แสนบาท เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราวสองเดือนก่อน หลังจากได้รับเงินชดเชย ปรากฎว่า นางทองใบ หนูมั่น ที่ร่วมกันเป็นโจกท์ก็ได้เสียชีวิตลง

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net