Skip to main content
sharethis

โดยไม่แจ้งข้อหา ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมแล้วใส่กุญแจมือไขว้หลัง ขณะที่เขากำลังทำหน้าที่พนักงานท่ารถที่ตลาดวารินชำราบ… “มึง อย่าฟ้าวโทร.มาตอนนี้ กูกำลังซ่อยคนถืกยิง – เขาตะโกนบอกฉันที่โทรไปถามว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง” เธอทวนความทรงจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่พี่ชายของเธอไปอยู่ในนั้น “เขา ไม่หนี เพราะเขาไม่ได้เป็นคนเผา เขาไปอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น เพราะอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น” ภรรยาของเขาเล่าว่า ปกติสามีของเธอจะไปตกปลาหลังจากเลิกงาน แต่วันนั้นได้ข่าวว่า มีการเผาศาลากลางก็เลยแวะไปดูก่อน เพื่อนบ้านและคนรู้จักต่างบอกเตือนว่า มีรูปของเขาในประกาศของทางการว่า เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี หลายคนในภาพหลบลี้หนีไป แต่เขายืนยันมั่นใจไม่หลบ ไม่หนี เพราะไม่ได้เผา เขาเพียงไปดูและช่วยเหลือคงที่ถูกยิง… เขาก็กลับมาทำงานแลก เงินวันละ 300 บาท ยังทำหน้าที่ลูกชายของแม่วัย 71 ปี พ่อของลูก 2 คน สามีของภรรยาร่วมชะตากรรม เป็นพี่ชายของน้องสาวและเป็นลุงของหลาน จนวันที่ 9 มิถุนายน 2553 เขาก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับโดยไม่ได้แจ้งข้อหาและจับเขาใส่กุญแจมือไขว้ หลัง ก่อนที่เขาจะขอให้เอาแขนเขาไว้ข้างหน้าแล้วค่อยใส่กุญแจ จากนั้นเขาถูกนำตัวส่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี…. “มึงเป็นคนเผา นี่เป็นภาพของมึง” เขาเล่าผ่านกรงขังให้เราฟังว่า เมื่อถูกควบคุมตัวไปยังโรงพัก เขาถูกข่มขู่ด้วยวาจาและบังคับให้รับสารภาพว่า เผาศาลากลางจังหวัด “มึงชี้มือสั่งการใช่ไหม ?” ตำรวจใช้ภาพถ่ายยืนยัน แต่เขาให้การปฏิเสธ เพราะเขาไปที่นั่นเพื่อดูว่า ถ้ามีการเผาศาลากลาง รถประจำทางสายที่เขาทำงานอยู่จะวิ่งผ่านเส้นทางนั้นได้ไหม แล้วก็พบกับตำรวจนอกเครื่องแบบและทหารสายข่าวนอกเครื่องแบบขอร้องให้เขาไป ช่วยห้ามมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปเผาอาคารธนารักษ์ “ผมก็เข้าไปห้ามได้และยังช่วยดับไฟด้วย” แต่นั่นเป็นเหตุให้เขาถูก ร.ต.อ.คนหนึ่งถ่ายภาพไว้และใช้มันเป็นหลักฐานมัดตัวเขา และต่อมา ร.ต.อ.คนนั้นให้การว่า “ได้ยินตำรวจแต่งกายครึ่งท่อนเจรจากับนายสนองว่า ให้ไปช่วยห้ามไม่ให้เผาอาคาร” การณ์กลับพลิกผัน เมื่อตำรวจที่พิมพ์คำร้องจากคำให้การของเขาที่ว่า “อย่าเผาอาคารธนารักษ์ เผายงเผายางอะไรก็เผาไป”ที่เขาปรามผู้ชุมนุม แต่กลับพิมพ์เป็น “ให้ไปเผาศาลากลาง”… “แต่ก่อนฉันกะมักไปฟังการ ปราศรัยของคนเสื้อแดง เพราะฉันบ่มักบักอภิสิทธิ์ บ่มักรัฐบาลที่บ่ได้มาจากการเลือกตั้ง มันบ่ถืกต้อง ฉันซังมันแฮง” และยิ่งสามีของเธอถูกจับกุมด้วยข้อหาที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ยิ่งทำให้เธอเกลียดรัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารมากขึ้น เมื่อรายได้วันละ 300 บาทหายไปพร้อมอิสรภาพของคนเป็นสามี หนี้สินในครัวเรือน ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยรายวัน ดอกเบี้ยลอยตัวที่สูงท่วมเงินต้น เป็นภาระที่หญิง 3 คน ในวัย 72 ปีผู้เป็นแม่ กับเมีย 43 ปี และน้องสาววัย 42 ปีต้องแบกรับร่วมกัน การงานที่ทำให้พวกเธอยังพอต่อชีวิตได้ก็คือ ขายกล้วยแขก ขนมครก ขนมไข่หงส์ ข้าวเม่าทอด “วันนั้นฝนตก เป็นวันที่กลุ่มผู้ช่วยเหลือเขานัดจะไปรับเงินเยียวยา เวลาผ่านไปเห็นเมียของเขากับน้องสาวของเขาขี่มอเตอร์ไซค์ตากฝนกลับมา พร้อมความช่วยเหลือเยียวยายังมาไม่ถึง แล้วสองคนก็นั่งร้องไห้ คนเป็นแม่อย่างฉันก็ร้องไห้ตามไปด้วย” ผู้เป็นแม่ตัดพ้อว่า หลังจากลูกชายถูกจับแล้วครอบครัวได้รับผลกระทบไปหมด อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา “ถ้าลูกชายฉันถูกปล่อยออกมาเป็นอิสระ ฉันจะไม่ขอความช่วยเหลืออะไรจากใครเลย” ฝ่ายเมียเคยถอดใจว่า ต่อไปจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือการชุมนุมใด ๆ ทั้งสิ้น ครั้นพอเวลาทอดออกไปยาวนานเกินกว่าจะหาคำตอบเรื่องความเป็นธรรมในกระบวนการ ยุติธรรมได้ เธอก็พบว่า น้ำใจในกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนที่มองออกว่า อะไรคือความเที่ยงธรรม อะไรคือความอยุติธรรมและพวกเขาได้แสดงน้ำใจต่อเธอ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า “ฉันจะต้อง “แดง” ต่อไป” “ตั้งแต่เขาถูกจับ ฉันไปทุกที่ที่มีเวทีของคนเสื้อแดง เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนเสื้อแดงยังไม่ตาย คุณยิ่งฆ่า คนเสื้อแดงยิ่งเพิ่ม คุณยิ่งจับกุม คนเสื้อแดงยิ่งเพิ่ม” ขณะที่เธอบอกเล่าความคิดสีแดงของเธอนั้น เราก็พบว่า ตัวเลขหนี้สินของครอบครัวก็พอกพูนท่วมเงินต้น คนเป็นน้องสามีซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวและร้านขนมทอดบอกว่า อยากให้กลางคืนมันยาวนาน ไม่ต้องมีกลางวันก็ได้ “ไม่รู้ว่าทำไมเราต้องตื่นขึ้นมาทำงานทั้งวันเพื่อใช้หนี้ดอกเบี้ยรายวัน ดอก(เบี้ย)ลอยทุกวัน ๆ และไม่รู้ว่า ทำไม ขณะที่เวลาผ่านไปเนิ่นนาน คำตอบเรื่องอิสรภาพของพี่ชายเราจึงถูกยืดออกไปไม่รู้จบสิ้น” “บักอภิสิทธิ์ มันสิขังคนเสื้อแดงไว้เฮ็ดหยัง?” ผู้เป็นแม่วัย 72 ฝากถามด้วยความงึดง้อ ..................................................................................................................................... หมายเหตุ 1 – ผมเขียนเรื่องนี้ เพื่อต้องการสะท้อนชะตากรรมของคนเสื้อแดงในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะคนที่ถูกคุมขังยาวนานด้วยข้อหาทางการเมืองและต้องการสะท้อนผลกระทบ นอกจากจะเกิดขึ้นกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว ก็ยังพบว่า ครอบครัวของเขาต่างได้รับชะตากรรมสาหัสสากรรจ์ยิ่งนัก หมายเหตุ 2 – ขณะที่ผู้ที่ได้ประกันตัวไปก่อนหน้านี้ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะการตั้งวงเงินหรือหลักทรัพย์สำหรับการประกันตัวไว้สูง ทำให้บางรายมีหนี้สินล้นพ้นตัว เกินกว่าคนจน คนสามัญที่มีสำนึกทางการเมือง (ต่างจากรัฐบาลที่มาจากค่ายทหาร) จะแบกรับไหว หมายเหตุ 3 – จากหมายเหตุ 1 และ 2 นั่นคือ คำตอบของการปฏิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ สามัคคี รักชาติ ขอความสงบสุขคืนมา และ นอกเหนือจากคนที่ถูกจองจำและคนที่ถูกประกันตัวแล้ว คนที่ถูกตามล่า ตามคุกคามอีกจำนวนมาก ล้วนทำให้คำตอบถึงความจริงใจในหมายเหตุ 3 ชัดเจนมากขึ้น หมายเหตุ 4 – ผม ได้หารือเพื่อนบางคนจากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เมษายน – พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ว่า เราจะหาทางนำเสนอเรื่องราวของคนเสื้อแดงและหาทางช่วยเหลือทั้งในเชิงหลักการ ในภาพรวมและลงในรายละเอียดเป็นรายกรณี ดังนั้น การที่ผมเขียนบันทึกเรื่องราวของพวกเธอและเขา ผมนึกถึง หมอลำขอข้าว ศิลปินเปิดหมวก กวีแลกข้าว บทความแลกข้าว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะนำไปสู่การเยียวยาเหยื่อคดีทางการเมืองของแผ่นดินนี้เท่าที่ความสามารถและพลังงานผมจะเอื้ออำนวย หมายเหตุ 5 - เพื่อให้ความช่วยเหลือจากท่านผู้อ่านได้เดินทางไปถึงครอบครัวของผู้ต้องคดี ทางการเมืองในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบรุนแรง ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของพวกเขาไว้ตอนท้ายบันทึก เพื่อให้การช่วยเหลือจากท่านไปถึงพวกเขาโดยตรง กรณีนี้ หากท่านต้องการช่วยเหลือ สามารถโอนเงินเข้าบัญชี ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาวารินชำราบ ชื่อบัญชี น.ส.สมพัน มีมวล (เธอเป็นภรรยาของผู้ต้องขัง) เลขที่บัญชี 314 – 0 – 37494 – 1 ………………………………………………………………………………………………… ส่วนกรณีก่อนหน้านี้ ท่านสามารถสืบค้นเรื่องย้อนหลังตามลิงค์ข้างล่างนี้ 1) อยุติธรรมซึ่งหน้า http://www.prachatai.com/journal/2011/04/33991 2) ฅนนอกคุก http://www.prachatai.com/journal/2011/04/33882

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net