Skip to main content
sharethis

กรรมการสิทธิ์ฯ เตรียมแถลงจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่อง 11 กิจการรุนแรง พร้อมเสนอทางออกที่ควรจะเป็น 8 เม.ย.นี้ ด้าน “สุทธิ” แจงเวลา 6 เดือนที่ทำหนังสือร้องเรียน สถานการณ์ปัญหามาบตาพุดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น วานนี้ (6 เม.ย.54) นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. จะแถลงจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลในเรื่อง 11 กิจการรุนแรงซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อโครงการพัฒนาซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง อันเป็นข้อขัดแย้งในรอบปีที่ผ่านมา โดยจะนำเสนอข้อเสนอต่อรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ถึงทางออกที่ควรเป็น บนหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนและข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยนอกจากการแถลงด้วยการจัดทำรายงานทางการแล้วจะมีการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการ ราชการ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้าน ตลอดจนสาธารณะทั่วไป ต่อรายงานกสม. ในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ “รายงานฉบับนี้เป็นผลจากการทำงานหนักของทีมงาน กสม.ซึ่งใช้เวลากว่า 6 เดือนนับตั้งแต่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเมื่อ 6 กันยายน 2552 เรารวบรวมข้อมูลและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งด้านกฎหมาย ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ แล้วสังเคราะห์ออกมาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นตอโดยเฉพาะเชิงโครงสร้างมาจากอะไรบ้าง และควรมีทางออกอย่างไร ทั้งในสำหรับกรณีพื้นที่มาบตาพุดเองและพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศที่กำลังประสบหรือมีแนวโน้มจะประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน” นพ.ชูชัยกล่าว ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกล่าวว่า การแถลงเปิดรายงานของกสม. ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีในเชิงกลไกสำหรับแก้ปัญหาความขัดแข้งของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงในด้านต่างๆ เป็นแนวโน้มที่มีความหวังที่จะเกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาว “รูปธรรมทางออก ผมคิดว่าคงไม่คาดหวังขนาดนั้น จากประสบการณ์การเรียกร้องการแก้ปัญหาของเราบอกว่ามันไม่ง่าย แต่แม้จะไม่เห็นรูปธรรม เราเห็นว่ามันสำคัญในแง่การเปิดพื้นที่ให้องค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างกว้างขวางและพยายามหาข้อสรุปที่ใกล้เคียงกัน เป็นบทสรุปตรงกันว่าการดำเนินการแก้ปัญหามาบตาพุดและปัญหาลักษณะนี้ควรเป็นอย่างไร รัฐบาลควรทำอะไร” นายสุทธิกล่าว “น่าจะเป็นการเติมเต็มและเปิดพื้นที่สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ เพื่อเกิดข้อเสนอที่จะนำไปสู่การผลักดันการแก้ปัญหาในอนาคตสำหรับพื้นที่มาบตาพุดได้ เป็นการยกระดับปัญหามาบตาพุดให้ขึ้นสู่การรับรู้ของสาธารณะ ในส่วนเครือข่ายเราคาดหวังเรื่องประเด็นที่ผ่านการสังเคราะห์มากกว่าข้อเสนอรูปธรรม” “นี่คือประโยชน์อย่างหนึ่งของการแสดงบทบาทของ กสม.ที่จะร่วมกับนักวิชาการในการสังเคราะห์เชื่อมโยงปัญหาประชาชนที่ประชาชนไม่สามารถทำได้เอง เพราะเขาเห็นโครงสร้าง สาเหตุของปัญหา นี่เป็นลางบอกเหตุที่ดี ต่อไปใครมีปัญหาก็จะใช้กลไกนี้ได้เพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหาในพื้นที่ตัวเอง แก้ปัญหาของตัวเองด้วยมาตรการที่สังคมยอมรับ เป็นวิวัฒนาการ เป็นการยกระดับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเปิดพื้นที่เข้าสู่สาธารณะ ชี้แจงสังคมว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าของพื้นที่แต่เป็นปัญหาโครงสร้าง ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีปากมูล ตอนนี้มาบตาพุด ต่อไปก็จะมีพื้นที่อื่นๆ ที่สามารถแก้ปัญหาด้วยกลไกเช่นนี้” นายสุทธิให้ความเห็น หลังจากเกิดความขัดแย้งระหว่างโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดต่อผลกระทบด้านสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายมาบตาพุดและเรียกร้องการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้ตัดสินใจตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานเพื่อเสนอทางออกเรื่องนี้ นำมาสู่ข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศประเภทกิจการรุนแรง 18 ประเภทที่ผ่านมา โดยสาระคือโครงการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองระบุคือต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นภาคส่วนต่าง ๆ และให้องค์การอิสระให้ความเห็น แต่รัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศเพียง 11 กิจการรุนแรงที่ผ่าน ซึ่งได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายจากภาคส่วนต่างๆ ถึงการตัดสินใจดังกล่าวจนปัจจุบัน และหนึ่งในคำถามสำคัญคือการประกาศดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ นายสุทธิกล่าวเพิ่มเติมว่าในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ได้ทำหนังสือร้องเรียนยื่นให้ กสม.พิจารณาทบทวนการประกาศ 11 กิจการรุนแรงและติดตามตรวจสอบการดำเนินการแก้ปัญหาของภาครัฐในพื้นที่มาบตาพุดนั้น สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ยังคงรุนแรงอยู่เหมือนเดิม โดยไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่อย่างใด “อุบัติภัยก็ยังเกิดขึ้นบ่อย ๆ มีก๊าซรั่วตลอด สองวันก่อนก็เพิ่งรั่วที่โรงงานไบเออร์ บริษัทโกรว มีชาวบ้านบาดเจ็บด้วย น้อยครั้งที่เรื่องราวจะเป็นที่รับรู้ในสาธารณะวงกว้าง แต่ชาวบ้านต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา สถานการณ์ก็ยังเหมือนเดิมก่อนที่เราจะร้องเรียน ไม่เห็นการแก้ไขอะไร มันซ้ำซาก ยังคงมีการแอบทิ้งน้ำเสียที่มีคราบน้ำมันลงทะเลตลอดเวลา” “ชาวบ้านก็อยู่ไปอย่างหวาดหวั่น ไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราจะทำอะไรได้มาก หลายฝ่ายก็บอกชัดเจนว่าการลงทุนเหล่านี้ควรต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67วรรคสอง แต่ก็ไม่มีการบังคับเข้มงวดให้ทำจากภาครัฐ ทำให้ไม่มีการติดตามตรวจสอบอย่างเป็นระบบ แล้วชาวบ้านอย่างเราจะมั่นใจได้อย่างไร” “ตอนนี้สำหรับเราประเด็นเรื่องประกาศกิจการรุนแรง 11 ประเภทที่ควรเป็น 18ประเภทก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับพื้นที่เราคือ มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ความหมายคือมีความอ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่ใน 11 กิจการรุนแรงหรือไม่ก็ควรต้องทำตามมาตรการของรัฐธรรมนูญ 67 วรรคสอง” นายสุทธิกล่าวชี้แจง 11 กิจการรุนแรงที่รัฐบาลประกาศในนามคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกอบด้วย 1. กิจการถมทะเลหรือทะเลสาบนอกเขตชายฝั่งเดิม 300 ไร่ขึ้นไป (ไม่รวมการฟื้นฟูสภาพชายหาด ทุกขนาด ถ้าอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม-แหล่งธรรมชาติอนุรักษ์-แหล่งท่อง เที่ยว และแหล่งอาชีพ) 2. เหมืองต่าง ๆ ได้แก่ เหมืองใต้ดิน ทุกขนาด-เหมืองแร่ตะกั่ว/สังกะสี/ทองคำทุกขนาด, เหมืองถ่านหินขนาด 2.5 ล้าน ตัน/ปี และเหมืองแร่ในทะเล 3. นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับโรงงานปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงแร่เหล็ก ส่วนขยาย 4. โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นทุกขนาด หรือการขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ 35% ขึ้นไป (โรงงานปิโตรเคมีขั้นกลางขนาดกำลังการผลิต 100 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 และขนาดกำลังผลิต 700 ตัน/วัน หรือขยายกำลังการผลิต 35% ขึ้นไป ในส่วนที่ใช้สารเคมีเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่ม 2A) 5. โรงงานถลุงแร่หรือ หลอมโลหะ (โรงถลุงแร่เหล็กขนาด 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่เหล็กที่มีการผลิตถ่านโค้กทุกขนาด, โรงถลุงแร่ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี กำลังการผลิต 1,000 ตัน/วันขึ้นไป, โรงถลุงแร่ตะกั่วทุกขนาด, โรงหลอมโลหะขนาด 50 ตัน/วัน และโรงหลอมตะกั่วขนาด 10 ตัน/วันขึ้นไป) 6. กิจการผลิตหรือกำจัดหรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสีทุกขนาด 7. โรงงานฝังกลบหรือเผาของเสียอันตรายทุกขนาด 8. กิจการสนามบินที่มีการขยายทางวิ่งตั้งแต่ 3,000 เมตรขึ้นไป 9. ท่าเทียบเรือ (ยกเว้นท่าเทียบเรือที่ชาวบ้านใช้อยู่) 10. เขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ตั้งแต่ 100 ลบ.ม.ขึ้นไป 11. โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป, โรงไฟฟ้าชีวมวล 150 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ก๊าซธรรมชาติ 700 เมกะวัตต์ขึ้นไป, ความร้อนร่วม 1,000 เมกะวัตต์ขึ้นไปและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกขนาดปรับปรุงโดยตัดโรงไฟฟ้าก๊าซ ธรรมชาติออก และ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมเพิ่ม 3,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป 7 กิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอให้เป็นกิจการรุนแรงแต่รัฐบาลไม่ได้ประกาศ ประกอบด้วย 1. กิจการชลประทานตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป 2. กิจการสูบเกลือใต้ดินทุกขนาด 3. กิจการที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อยู่ในพื้นที่อ่อนไหว เช่น แหล่งมรดกโลก-อุทยานประวัติศาสตร์-ป่าอนุรักษ์ เป็นต้น 4. กิจการก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างถาวรนอกชายฝั่งทะเลเดิม เพื่อกันคลื่นหรือกระแสน้ำในทะเลทุกขนาดในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม-แหล่ง ธรรมชาติอนุรักษ์-แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาชีพ 5. เตาเผาขยะติดเชื้อ ทุกขนาด 6. กิจการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก ทุกขนาด 7. กิจการสิ่งก่อสร้างกั้นขวาง การไหลของน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกขนาดหรือประตูระบายน้ำ ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net