Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ กว่า 1,000 คน รวมตัวร่วมประชุมรับฟังความเห็น-ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รองผู้ว่าฯ พบผู้ชุมนุมยืนยันบริษัทฯ ยกเลิกเวทีวันนี้แล้ว ด้านชาวบ้านร้องให้ทำหนังสือตอบข้อร้องเรียนภายใน 15 วัน วันนี้ (7 เม.ย.54) ตั้งแต่เวลา 07.00 น.ประชาชนจากพื้นที่โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ของบริษัทภูเทพ จำกัด ในเครือบริษัทผาแดง อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) จาก ต.นาดินดำ, ท่าสะอาด, นาอาน และนาโป่ง อ.เมือง จ.เลย กว่า 1,000 คน ในนามกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ ณ โรงแรมเลยพาเลซ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักหน้าห้องประชุม ต่อมาได้มีการเจรจาต่อรองกันหลายรอบระหว่างตัวแทนบริษัทฯ ตำรวจ และฝ่ายจังหวัด ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่าจะจัดเวทีก็ต่อเมื่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ส่งตัวแทนเข้าไปในห้องประชุมไม่เกิน 100 คน และที่เหลือต้องอยู่นอกห้องประชุม แต่การเจรจายืดเยื้อไม่ได้ข้อยุติ นายสำรวย ทองจันทร์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ กล่าวว่าวันนี้ตนและกลุ่มฯ มาเพื่อที่จะขอเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเหมืองทองแดงฯ ที่อยากจะขุดที่ภูหินเหล็กไฟเป็นโครงการเหมืองทองแดงที่จะระเบิดเปิด “ภูหินเหล็กไฟ” ในพื้นที่ของประทานบัตรรวมกว่า 15,600 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบลกว่า 40 หมู่บ้านซึ่งจะเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “ผมและชาวบ้านมาขอเข้าร่วมเวที เพราะห่วงกังวลว่าถ้าจะมีเหมืองขนาดใหญ่ในท่ามกลางชุมชน แต่บริษัทกลับมีท่าทีไม่ยอมรับไม่อยากให้เข้าร่วม และมาจัดในโรงแรมที่ไกลจากชุมชนมาก มีการใช้ตำรวจมาคุ้มครองเวทีประชุม และมีท่าทีว่าจะย้ายเวทีประชุมไปที่อื่น เพราะมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการมาอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก นั่นก็ทำให้เห็นว่าเวทีนี้ไม่จริงใจ และจัดเพื่อประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น” นายสำรวยกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การต่อรองยืดเยื้อจนเลยเวลาเที่ยงวัน นายธงชัย ลืออรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกมาพบผู้ชุมนุม และกล่าวยืนยันว่าได้ตกลงกับบริษัทแล้วสรุปว่าเวทีวันนี้จะยกเลิกไปแล้วและจะไม่เกิดการประชุมแล้วจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกเวทีการประชุมกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบครั้งนี้เพราะไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่ครอบคลุมพื้นที่เหมืองแร่ทองแดงที่ยื่นขอประทานบัตรทั้งหมด และขอให้ยุติการอนุมัติอนุญาตและดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ อีกทั้งให้มีการศึกษาคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติของภูหินเหล็กไฟที่ชุมชนได้ประโยชน์มายาวนาน นอกจากนั้น ชาวบ้านยังขอมีหนังสือตอบข้อร้องเรียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน หลังจากได้ข้อสรุปว่าเวทียกเลิกแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินรณรงค์ให้ข้อมูลต่อประชาชนในจังหวัดเลยเรื่องการทำเหมืองทองแดงต่อไป ด้าน ดร.เกษม จันทร์แก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เปิดเผยว่าเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตร 67 วรรค 2 ซึ่งจัดว่าโครงการเหมืองแร่เป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้วันนี้ตนและคณะนักวิชาการซึ่งมีกว่า 40 คนซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านต่างๆ ซึ่งได้ทำสัญญากับบริษัทฯ เมื่อสองปีที่แล้วเพื่อดำเนินการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ การจัดประชุมขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ และแนวทางการประเมินผลกระทบฯ ของโครงการเหมืองทองแดง ซึ่งวิทยาลัยการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ที่เป็นสถาบันวิชาการก็รับทำ เพื่อบริการทางวิชาการแก่สังคม โดยบริษัทได้จ่ายเงินค่าช่วยเหลือการวิจัย “หลักการของเวทีรับฟังความเห็นวันนี้คือนำเสนอข้อมูลแนวทางการประเมินผลกระทบฯ ที่บริษัทได้ออกแบบมาเพื่อที่จะสามารถเริ่มต้นกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตระหนักดีว่าต้องรับฟังข้อมูลความเห็นจากทุกส่วนและให้ลงความเห็นว่ายอมรับกระบวนการที่ว่าได้หรือไม่ แต่ไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะทำโครงการหรือไม่อย่างไร แต่เมื่อชาวบ้านจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการไม่ยอมให้ผมเข้าศึกษาในพื้นที่ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทฯ” ดร.เกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานสิ่งแวดล้อมมาตลอดรู้สึกเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้นหนึ่งเอ ที่จะสร้างเหมืองและคิดว่าถ้าทีมนักวิชาการที่มีความสามารถมาศึกษาก็จะมีประโยชน์มากต่อท้องถิ่น” นพ.วิพุธ พูนเจริญ ประธานคณะกรรมการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ได้เดินทางมาประชุมและดูงานในจังหวัดเลยได้เข้าสังเกตการสถานการณ์ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) ตามหลักการประเมิลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคือการรวมความความเห็นอันเป็นความตระหนักและตระหนกของทุกส่วนของสังคมต่อโครงการใดๆ โดยเฉพาะคนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ กระบวนการจะต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยกว้างขวางและมีหลายรูปแบบใช้เวลายาวนานหลายปีเพื่อรวบรวมให้ครอบคลุมความเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เวทีที่จะให้ความเห็นว่าเอาหรือไม่เอาโครงการ “การจัดเวทีแบบนี้เป็นการนำเอากลุ่มคนที่ได้ และเสียผลประโยชน์แตกต่างกันในพื้นที่มาในห้องประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) ตามกฎหมาย หรือหลักการทางวิชาการ เพราะเมื่อเวทีวันนี้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์และต้องการใช้เป็นเครื่องมือให้โครงการเดินหน้าไปก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง และความคิดแบบนี้ก็แบ่งแยกผู้คนให้เกิดการเผชิญหน้ากัน” แถลงการณ์ เราไม่ต้องการเหมืองแร่ทองแดงของบริษัทผาแดง/ภูเทพ กราบขออภัยพี่น้องชาวจังหวัดเลย เจ้าของและพนักงานโรงแรมเลยพาเลซทุกท่าน วันนี้ชาวบ้านจำนวนหลายหมู่บ้านบริเวณรอบภูหินเหล็กไฟในนาม ‘กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ’ ได้เคลื่อนขบวนเข้ามาแสดงความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองทองแดงภูเทพ จังหวัดเลย หรือเวที Public Scoping ซึ่งอาจจะทำให้การจราจรในเมืองและบริเวณโดยรอบโรงแรมติดขัด การที่กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟจำเป็นต้องออกมาเป็นจำนวนมากขนาดนี้ก็เพราะว่าบริษัทผาแดง/ภูเทพได้ว่างจ้างวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดเวที Public scoping เพื่อหวังจะสร้างเหมืองแร่ทองแดงทับที่ดินทำกินและทำลายภูหินเหล็กไฟของพวกเราให้พังพินาศย่อยยับให้จงได้ ซึ่งจะทำให้ก่อเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของพวกเรา พวกเราได้เห็นบทเรียนการทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มาแล้ว ทุกวันนี้มีชาวบ้านรอบเขตเหมืองแร่ทองคำตรวจพบสารไซยาไนด์ ปรอท และโลหะหนักอื่น ๆ อีกหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขาหลายสิบราย ทำให้ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ร้อน กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลต่อชีวิตที่ไม่ปกติสุขของตัวเอง พวกเราจึงไม่อยากมีชีวิตเหมือนชาวบ้านที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุงอีก เมืองเลยมีเหมืองแร่มากมายแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตเหมืองแร่กลับเสื่อมโทรมลง ไม่เห็นมั่งมีศรีสุข อุดมสมบูรณ์ร่ำรวยเหมืองเจ้าของเหมืองแร่ที่เข้ามาปล้นสะดมกอบโกยทรัพยากรแร่ใต้ผืนดินทำกินของพวกเราเลย พวกเราเห็นว่าการจัดเวที Public scoping ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ ไม่ชอบธรรมเพราะว่าบริษัทผาแดง/ภูเทพหลอกลวงคนเมืองเลยว่าจะจัดเวที Public scoping ในพื้นที่คำขอประทานบัตร ๘ แปลง ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าไร่ แต่แท้ที่จริงแล้วบริษัทผาแดง/ภูเทพ ขอประทานบัตรพื้นที่ทั้งหมด ๑๕,๖๐๐ ไร่ ในเขตคาบเกี่ยวขอบตำบลนาดินดำ นาอานและนาโป่ง อำเภอเมือง และตำบลท่าสะอาด อำเภอนาด้วง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมา หลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงแก่คนเมืองเลย เพราะเกรงว่าถ้าจัดเวที Public scoping แล้วบอกความจริงว่าขอประทานบัตรบนพื้นที่ ๑๕,๖๐๐ ไร่ จะทำให้คนเมืองเลยตื่นตระหนกตกใจแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ ก่อนที่บริษัทผาแดง/ภูเทพ จะเข้ามาทำเหมืองแร่ทองแดงหรือแร่ชนิดอื่นในเมืองเลย เราขอไล่ให้กลับไปดูแลรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตตำบลแม่ตาว แม่กุและพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมกว่า ๘๘๔ ราย ในจำนวนนี้มี ๔๐ รายที่เกิดอาการไตวาย และอีกกว่า ๖๐ ราย ที่กำลังมีอาการไตวาย จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่นั่น เราขอถามว่าตลอด ๓๐ ปี ที่บริษัทผาแดงทำเหมืองสังกะสีที่อำเภอแม่สอด มีชาวบ้านที่ล้มตายจากการมีสารพิษแคดเมียมปนเปื้อนในร่างกายกี่รายแล้ว แล้วยังจะมาทำเหมืองทองแดงและเหมืองแร่ชนิดอื่นที่เมืองเลยโดยขาดความรับผิดชอบเหมือนกับการทำเหมืองสังกะสีที่อำเภอแม่สอดอีกหรือ ? ด้วยความเคารพ กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ เครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ 210 หมู่ที่ 10 ตำบลนาดินดำ อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000 วันที่ 7 เมษายน 2554 เรื่อง คัดค้านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผล กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการเหมืองทองแดง บริษัท ภูเทพ จำกัด ในวันที่ 7 เมษายน 2554 เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนารายชื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองแดงของบริษัท ภูเทพ จำกัด ตามที่บริษัท ภูเทพ จำกัด ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในวันที่ 7 เมษายน 2554 ณ โรงแรม เลยพาเลช ราษฎรในพื้นที่ในนาม “เครือข่าย อนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ” มีมติว่า ไม่เห็นด้วยและให้ยกเลิกการจัดเวทีในวันและเวลาดังกล่าว เนื่องจากเวทีดังกล่าวมีข้อสงสัยหลายประการ ดังนี้ 1. การจัดเวทีในครั้งนี้ขัดต่อมติของประชาคมหมู่บ้าน ที่ได้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม2554 2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 25 กรกฎาคม2552 ซึ่งในครั้งนั้นชุมชนได้มีมติไม่เห็นด้วยกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 3. ในการกำหนดขอบเขตพื้นที่การทำเหมืองแร่ได้ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของเกษตรกรจำนวน 23 ราย เป็นเนื้อที่ 230 ไร่ โดยชุมชนไม่เห็นด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเอกสารสิทธิ 4. ชุมชนบริเวณรอบภูหินเหล็กไฟ ได้รับรู้ข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จึงมีความกังวลว่าการทำเหมืองแร่ทองแดงจะมีผล กระทบต่อชุมชนคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่การทำเหมืองแร่ทองคำ 5. การจัดเวทีดังกล่าวเป็นการสร้างความชอบธรรมให้บริษัทฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยบริษัทได้สร้างมายาคติหรือการสร้างความเชื่อฝ่ายเดียวผ่านสื่อต่างๆอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ได้ให้ความรู้ที่แท้จริงต่อประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนกับบริษัทฯ 6. ชุมชนบริเวณภูหินเหล็กไฟเป็นชุมชนดั้งเดิมและมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าภูหินเหล็กไฟ ชุมชนจึงขอใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ที่รับรองสิทธิของชุมชนในการกำหนดการใช้ประโยชน์ การดูแลรักษา การพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นด้วยชุมชนเอง 7. ในการจัดเวทีดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การมีเหมืองแร่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ให้ความสำคัญต่อการไม่มีเหมืองแร่แต่อย่างใด 8. ในการดำเนินการขออนุญาตในการทำเหมือง ทางบริษัทและผู้ศึกษาไม่ได้สร้างความรู้และให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับชุมชน เช่น บริษัทภูเทพ จำกัด ดำเนินการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองแดงในเขตติดต่อกันเป็นแปลงเดียวกัน ในเขตตำบลนาดินดำ ตำบลน้ำสวย จำนวน 36 แปลง และในเขตตำบลท่าสะอาด อำเภอนาด้วง รวมพื้นที่ประมาณ 10,800 ไร่ แต่ประสงค์จัดเวทีกำหนด ขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยระบุพื้นที่ขอประทานบัตรเพียงแค่ 8 แปลง ประมาณ 2,400 ไร่ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นการกระทำที่ปกปิดความเป็นจริงกับประชาชน กล่าวคือบริษัทจะต้องระบุพื้นที่ขอประทานบัตรในเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมนผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ตรงตามความเป็นจริง 9. เวทีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นเพื่อเตรียมการส่วนราชการในท้องถิ่นสำหรับการลงไปรังวัดปักหมุดขอบเขตเหมืองแร่ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านบริเวณรอบภูหินเหล็กไฟไม่ต้องการให้มีการรังวัดปักหมุดหรือดำเนินการใดๆ เพื่อการมีเหมืองแร่ขึ้นในอนาคต จากเหตุผลดังกล่าว ชุมชนและเครือข่ายอนุรักษ์ป่าภูหินเหล็กไฟ จึงขอคัดค้านและให้มีการยกเลิกการจัดเวทีดังกล่าว โดยชุมชนและเครือข่ายภูหินเหล็กไฟมีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการเหมืองแร่ทองแดงของ บริษัท ภูเทพ จำกัด ในวันที่ 7เมษายน 2554 2. ให้มีการศึกษาความคุ้มค่าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าภูหินเหล็กไฟ 3. ให้ยุติกระบวนการต่างๆ ในการขออนุญาตและให้ยุติความพยายามที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความแตกแยกในชุมชน 4. ให้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ว่าจะให้มีการขอสัมปทานการทำเหมืองแร่หรือไม่ ก่อนที่จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือกิจกรรมใดๆ 5. ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตอบหนังสือร้องเรียนฉบับนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 15 วัน โดยให้จัดส่งจดหมายและเอกสารประกอบอื่นๆ มาตามที่อยู่นี้ นายชาลิน กันแพงศรี บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 10 ตำบลนาดินดำ อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000 จึงเรียนมาเพื่อทราบและดำเนินการต่อไป ขอแสดงความนับถือ (นายชาลิน กันแพงศรี) ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net