Skip to main content
sharethis

แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องบทบาทผู้หญิงและแนวคิดสตรีนิยมในสังคมไทย โดยกลุ่มสตรีนิยม และนักวิชาการด้านสตรีศึกษา เสนอมองสตรีนิยมให้หลากหลาย ไม่ยึดติดกับนิยามกระแสหลัก

๒๓ มี.ค. มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดเสวนาหัวข้อ "อยู่กับความหลากหลาย ความท้าทายของสตรีนิยมในสังคมไทย" โดยมีการนำเสนอบทความเรื่อง "Localizing Feminism: Women's Voices and Social Activism in Thai Context" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นของสตรีนิยม (Feminism) ที่ขับเคลื่อนในสังคมไทย

เนื่องจากในวันที่ ๘ มีนาคมที่ผ่านมาเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล ทางมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเมืองและเพศสภาพ จึงจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสตรีนิยมในสังคมไทย นำเสวนาโดย รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยกลุ่มสตรีนิยม และนักวิชาการด้านสตรีศึกษาที่เข้ามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

"ผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวทางสังคม"

ก่อนการเสวนา นายJost Pachaly ซึ่ง เป็นตัวแทนของมูลนิธิมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ได้กล่าวถึงการทำงานของมูลนิธิตนว่าเป็นมูลนิธิที่ทำงานทั้งทางด้าน นิเวศวิทยา ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ และความเป็นธรรมทางสังคม นาย Jost เห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีบทบาทและมีส่วนสำคัญคือกลุ่มของผู้หญิง ตนจึงเห็นว่าในการทำงานและการศึกษาในด้านต่างๆควรบูรณาการประเด็นทางด้านเพศ สภาพ (Gender) เข้าไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเลือกปฎิบัติระหว่างหญิงชายที่เกิดขึ้นใน สังคม ส่วนประเด็นสตรีนิยมในสังคมไทยที่ตนเห็นว่ามีความสำคัญคือ สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทย บทบาทของผู้หญิงภายในชุมชน และการถูกจำกัดบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทย

"สตรีนิยมที่เป็นพหูพจน์ทำให้มองเห็นถึงความหลากหลายมากยิ่งขึ้น"

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าว ถึงประเด็นจากบทความของตนว่า สตรีนิยมสำหรับสังคมไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้ามาในสังคมไทย และมีความหลากหลาย โดยขยายความถึงสตรีนิยม ๒ ประเภทว่า สตรีนิยมกระแสหลักจะพูดถึงความสิทธิความเท่าเทียม และเป็นกลุ่มที่ถูกสนใจ เพราะสอดคล้องกับแนวคิดเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่สตรีนิยมอีกกลุ่มหนึ่งนั้นต้องการปลดปล่อยตัวเองออกจากระบบปิตา ธิปไตย (ชายเป็นใหญ่) โดยสตรีนิยมกลุ่มหลังนี้มักจะถูกมองในแง่ลบมากกว่า อาจารย์ชลิดาภรณ์เห็นว่าประเด็นเรื่องของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแต่ กลับถูกมองในมิติเดียว

ชลิดาภรณ์เสนอว่าสตรีนิยมที่เป็น "พหูพจน์" จะทำให้เห็นความแตกต่างของผู้หญิงได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น   ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องของผู้หญิงและสตรีนิยมมีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและสังคม  โดยกล่าว ทิ้งท้ายว่าเราต้องคิดไปข้างหน้าสำหรับพื้นที่ของผู้หญิงที่มีความแตกต่าง หลากหลาย โดยเน้นย้ำว่า สตรีนิยมเป็นของ "นำเข้า" ที่ไม่ได้พาผู้หญิงให้เดินไปสู่เส้นตรง หรือเดินไปจุดเดียวกัน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรต่อกัน (แต่ไม่ใช่ว่าต้องเป็นศัตรู)

"สตรีนิยมไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว"

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้ร่วมเสวนาจากมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของสตรีนิยมกลายเป็นว่าเป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่น ไม่น่าเข้าใกล้ โดยตนเล่าว่า มีผู้หญิงหลายคนทำงานเพื่อผู้หญิงด้วยกัน  แต่เขาหล่านี้กลับไม่กล้าประกาศตัวว่าตนเป็นเฟมินิสต์ นัยนายังนำเสนอประเด็นการมองในกลุ่มสตรีนิยมด้วยกันที่อาจมีความแตกต่างกัน   โดย นำเสนอในมุมมองของพุทธว่า ให้มองเห็นถึงคนที่มีความคิดต่างจากเรา นัยนาเห็นว่าองค์กรสตรีควรมีการพบปะเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

"ศิลปินเฟมินิสต์ไม่ได้หมายถึงผู้หญิงที่ทำงานศิลปะ" 

นพวรรณ สิริเวชกุล ศิลปินอิสระ กล่าวถึงศิลปินเฟมินิสต์ในสังคมไทยโดยตั้งคำถามว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเฟมินิสต์ที่เป็นศิลปินจริงๆ หรือมีเพียงแค่ผู้หญิงที่ทำงานศิลปะเท่านั้น โดยเห็นว่าที่ผ่านมามีเพียงแค่กลุ่มผู้หญิงมารวมตัวกันเพื่อทำและแสดงงานทาง ศิลปะเท่านั้น นพวรรณกล่าวว่า ศิลปินหญิงในปัจจุบันถ่ายทอดตัวตนผ่านออกทางงานศิลปะได้มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้แค่ไหน เพราะศิลปินหญิงรุ่นใหม่นั้นมีจำนวนน้อย ทั้งแสดงความว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกทำให้เป็นศิลปินมาตั้งแต่แรก    

"ต้องโอบอุ้มสตรีนิยมที่มีความแตกต่างเข้าด้วยกัน"

ชลิดาภรณ์ กล่าวทิ้งท้ายในการเสนาครั้งนี้ว่า สตรีนิยมเป็นสิ่งที่มีอยู่มานานและมีพลังต่อสังคมทั้งในทางที่มองเห็นและมอง ไม่เห็น อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา โดยตนเห็นว่าสตรีนิยมต้องโอบอุ้มทั้งหมดนี้ไว้ด้วยกันให้ได้ กล่าวคือสตรีนิยมควรถูกมองโดยโดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งต่างรุ่น และประสบการณ์ชีวิตที่มีความแตกต่างกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net