Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งการยื่นหนังสือและแสดงความคิดเห็นในการประชุมรับฟังความคิดเห็น ในการไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขา ดอยมูเซอ จังหวัดตาก แต่เสียงคัดค้านและความเห็นของชาวบ้านก็ไม่ได้รับความสนใจจากทางจังหวัด ในทางตรงกันข้ามผู้ว่าราชการจังหวัดตากกลับยืนยันในสิ่งที่ได้ตัดสินใจไป แล้วด้วยการเดินหน้าดำเนินงาน เนื่องจากทางจังหวัดคาดว่าจะมิได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ระดมสรรพกำลังจากนอกพื้นที่เข้ามาดำเนินการรื้อถอนอาคารที่จะทำการก่อ สร้างใหม่ ทั้งนี้ รองผู้กำกับ สถานีตำรวจในพื้นที่ เป็นผู้รับรองความปลอดภัยในการดำเนินงานรื้อถอน ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปดำเนินการ

ตลาดชาวไทยภูเขาดอยมูเซอ เป็นจุดแวะพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด สัญจรไปมา มาช้านาน กำเนิดตลาดแห่งนี้เกิดจากชาวบ้านนำพืชผักในไร่มาวางขายแก่บรรดาคนงานที่มาทำ งานตัดเส้นทางสายตาก-แม่สอด เมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งต่อมาทางศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่จากเพิงชั่วคราวเป็นอาคารถาวร มีการสร้างบ้านจำลองชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเยี่ยมชมและซื้อซื้อค้าจากชาวบ้าน ภายหลังพื้นที่แถบนี้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติต้นตระบากใหญ่ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช) ศูนย์พัฒนาฯ ชาวเขา ก็ถอนตัวออกจากการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาด ไม่มีหน่วยงานใดมากำกับดูแลพื้นที่จึงมีชาวพื้นราบเริ่มเข้ามาจับจองและรุก พื้นที่ค้าขายของชาวบ้านมากขึ้น

ชาวพื้นราบที่ขึ้นมาค้าขายได้วิ่งเต้นกับหน่วยงานกระทั่งสามารถขอติดตั้ง ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สำเร็จ ซึ่งก็ยิ่งดึงดูดให้ชาวพื้นราบขึ้นมาปักหลักค้าขายในตลาดแห่งนี้มากยิ่งขึ้น พื้นที่ค้าขายเดิมของชาวบ้านถูกรุกคืบเข้าครอบครองจากชาวพื้นราบนอกพื้นที่ เป็นส่วนใหญ่ และได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านดั้งเดิมในพื้นที่เป็นอันมาก ทั้งในแง่การตั้งแผงสินค้าบดบังแผงสินค้าเดิมของชาวบ้าน การกีดขวางทางเข้าออกแผงจำหน่ายสินค้า ฯลฯ

ต่อมาอาคารจำหน่ายสินค้าที่จัดสร้างโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ชำรุดทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันปรับปรุงอาคารเสียใหม่ และหลังจากนั้นทางองค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมา ได้จัดทำโครงการปรับปรุงตลาดอีกครั้ง แต่การดำเนินงานในครั้งนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในพื้นที่ กลับกลายเอื้อประโยชน์ให้ชาวไทยพื้นราบที่ขึ้นมาค้าขายเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยได้ทำการก่อสร้างโครงหลังคามุงบังพื้นที่ค้าขายเดิมของชาวบ้าน นักท่องเที่ยวที่แวะพักจึงมักไม่เดินเข้าไปทางด้านใน ชาวบ้านที่มีแผงสินค้าด้านใน จึงออกมาตั้งแผงนอกอาคารบริเวณข้างถนนหลวง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของกรมทางหลวง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตลาดชาวเขาดอยมูเซอ เป็นที่รู้จักและแวะพักของนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไปมามากขึ้น ประกอบกับการทำมาหากินของชาวบ้านในวิถีแบบดั้งเดิมก็มีข้อจำกัดมากขึ้นด้วย พื้นที่ทำกินถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ รวมทั้งประชากรก็มีจำนวนมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยเป็นลูกจ้างหน่วยงานในพื้นที่ก็ถูกเลิกจ้าง ฯลฯ การปลูกพืชผักเพื่อนำมาค้าขายในตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ก็เป็นทางเลือกที่สำคัญที่ทำให้ชาวบ้านอยู่รอด มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวและส่งบุตรหลานเรียนหนังสือ ทำให้มีชาวบ้านมากขึ้นมาใช้พื้นที่ตลอดทำการค้าขาย

ความแออัด ความไม่เป็นระเบียบ และการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เป็นข้ออ้างของทางจังหวัดว่าได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว กระทั่งกลายเป็นเหตุผลในการจัดทำโครงการปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขา ดอยมูเซอ จังหวัดตาก ของจังหวัดตาก และได้รับงบประมาณดำเนินงานได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 7,225,000 บาท โดยการผลักดันของสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดตาก พรรคประชาธิปัตย์

หลังจากที่ได้รับแจ้งการอนุมัติงบประมาณจากสภาฯ แล้ว ทางจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดประชุมเพื่อเตรียมการไปหลายครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินงานดังกล่าวนั้นก็มิได้รับความเห็นชอบและมีส่วน ร่วมในการตัดสินใจจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นลูกหลานของผู้ที่ริเริ่มสร้าง ตลาดแห่งนี้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง มิได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากชาวบ้านที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเป็น ระบบในระยะยาวมากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น ซึ่งมุ่งแต่จะตอบสนองการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจากภายนอกมากกว่าการ จัดการปัญหาและมุ่งพัฒนาในพื้นที่

แท้ที่จริงนั้นตลาดชาวเขาดอยมูเซอ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ชาวบ้านแล้ว ตลาดฯ ยังมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เป็นอันมาก อาทิ การช่วยลดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำพืชไร่ ด้วยชาวบ้านจำนวนมากหันมาใช้พื้นที่เล็ก ๆ ตามร่องห้วยปลูกพืชผักเศรษฐกิจมาจำหน่ายในตลาด  ลูกหลานชาวบ้านจำนวนมาแทนที่จะออกไปทำงานนอกพื้นที่ก็มีงานทำอยู่ในพื้นที่ และชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่เลิกเกี่ยวข้องกับการค้าขายยาเสพติดหันมาประกอบ อาชีพสุจริตด้วยการค้าขายในตลาด ฯลฯ

ในการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นในคราวหนึ่ง แกนนำชาวบ้านท่านหนึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของตลาดต่อวิถีชีวิตของชาว บ้าน (ดังรายละเอียดข้างต้น) และเสนอให้มีการดำเนินงานที่จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ยินดีที่จะร่วมมือกับทางราชการต่อไป ทั้งการเป็นหูเป็นตาในการดูแลทรัพยากรในพื้นที่ การช่วยฟื้นฟูผืนป่าที่เสื่อมโทรม ฯลฯ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้รับความใส่ใจจากทางจังหวัด ในทางตรงกันข้ามกลับยืนยันที่จะเดินหน้าดำเนินการต่อไปโดย

การดำเนินงานของทางจังหวัดนั้น จะรื้อถอนอาคารเดิมของชาวบ้าน แต่ไม่รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างถาวรของพ่อค้าชาวพื้นราบที่ขึ้นมาปักหลักค้าขาย แล้วสร้างอาคารหลังใหม่ทับไปบนพื้นที่เดิม ตัวอาคารที่ทางจังหวัดออกแบบนั้น เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว หลังคาสูงโปร่ง ลดหลั่นเป็น 3 ระดับ ภายในมีแผงวางจำหน่ายสินค้าจำนวน 256 แผง ขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 1.20 เมตรต่อหนึ่งแผง มีทางเดินระหว่างแถว 1.50 เมตร ด้านหน้าอาคารเป็นลานโล่งสำหรับจอดรถ มีห้องน้ำจำนวน 6 ห้องอยู่ด้านหลังอาคาร มีการประดับประดาด้วยไม้ดอก โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่าท่านจะกำชับให้มีดำเนินการโดยรีบด่วนภายภายในเวลาราว 3 เดือนหลังจากลงนามสัญญากับผู้ว่าจ้าง

การดำเนินงานปรับปรุงตลาดฯ ดังกล่าวนั้น นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้เท่านั้น แต่ยังมีข้อสังเกตุที่ท้วงติงได้อีกหลายประการ เช่น

- มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการดำเนินงานดังกล่าว ชาวบ้านหลายคนบอกว่างานนี้ถ้ามีการก่อสร้างจะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอัน มาก ค่าก่อสร้างจริง ๆ คงไม่กี่ล้านบาท และอาจจะไม่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดด้วยซ้ำไป

- อาคารที่ออกแบบมานั้น เป็นอาคารที่ออกแบบโดยสำนักงานโยธาธิการจังหวัดตาก เป็นอาคารแบบทั่วไป ไม่มีความงามในทางศิลปะ ไม่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและลักษระของพื้นที่  และหากดำเนินการตามแบบนั้นจริง ๆ ทัศนียภาพก็น่าจะอุดจาดไม่น้อย เนื่องจากบรรดาอาคารซึ่งเป็นเรือนแถวทั้งสองด้านก็ยังคงอยู่แม้จะมีอาคาร ใหม่ก็ตาม

- แผงวางจำหน่ายสินค้าที่จะจัดทำนั้น นอกจาจะมีจำนวนที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีพื้นที้ล็กคับแคบ ไม่เพียงพอต่อการวางจำหน่ายสินค้า

- อาคารในลักษณะนี้ มีการก่อสร้างกันทั่วไปของบรรดาหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น  โดยมากมักไม่เป็นที่สนใจของบรรดานักท่องเที่ยว อาคารแบบนี้จำนวนมากจึงถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมีให้พบเห็นจำนวนมาก

- บรรยากาศการค้าขายแบบเดิม มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นท้องถิ่น ซึ่งเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาแวะพัก (แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้เหตุผลว่าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย)  กำลังจะถูกทำลายลงจากอาคารที่ถูกออกแบบมาอย่างไม่เข้าใจวัฒนธรรมและลักษณะ ของพื้นที่ หากมีการดำเนินการ

ในการประชุม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ณ ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 16 จังหวัดตาก ได้กำหนดให้เดินหน้าดำเนินการ โดยจะทำการรื้อถอนอาคารเดิมในวันที่ 22 มีนาคม 2554 ทั้งนี้จะใช้แรงงานจากลูกจ้าง อบต.ด่านแม่ละเมา และ ชรบ.แม่สอด จำนวน 150 คน เป็นผู้รื้อถอน และทางตำรวจในพื้นที่ โดย รองผู้กำกับการ สภ.พะวอ อ.แม่สอด เป็นผู้รับรองความปลอดภัยในวันที่จะทำการรื้อถอน

หลังจากที่ชาวบ้านทราบเรื่อง ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่มีใครเห็นด้วย ต่างยืนหยัดที่จะคัดค้านจนถึงที่สุดด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่คิดออกและทำได้ เนื่องจากการกระทำของทางจังหวัดนั้นจะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของพวก เขา...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net