Skip to main content
sharethis

กรณี "ปริย" ตัวแทนเอ็นบีทีวิพากษ์การทำงานองค์กร แฉรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ ล่าสุด เอ็นบีที ออกหนังสือแจง คอป. "ปริย" แสดงความเห็นส่วนตัว เพิ่งบรรจุงานหลังเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค. ซ้ำไม่เกี่ยวงานข่าว

กรณีคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง จัดโครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ “กรณีการปะทะบริเวณสี่แยกคอกวัว 10 เมษายน 2553” เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 54 ที่สำนักงาน คอป. โดยนายปริย นวมาลา ตัวแทนสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ได้วิจารณ์การทำงานของสถานีฯ ว่า รัฐบาลพยายามที่จะใช้สื่อ คือ เอ็นบีที ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัววิ่งหน้าจอหรือการจัดเวทีสนทนาจะต้องเชิญวิทยากรที่ คิดเหมือนกับรัฐบาลมาแสดงความเห็นผ่านโทรทัศน์ โดยที่ผู้จัดไม่สามารถหาคนที่เป็นกลางหรือฝ่ายที่คิดเห็นแบบเดียวกับเสื้อ แดงมาออกรายการได้ เพื่อที่จะโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ ซึ่งเอ็นบีทีกลายเป็นสื่อที่จุดชนวนความรุนแรงให้เกิดขึ้นนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ก.พ. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง เรื่อง คำชี้แจงที่คลาดเคลื่อนและไม่เป็นจริง โดยเนื้อหาหนังสือระบุว่า กรณีดังกล่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้นายปริย นวมาลา พนักงานราชการ ตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ไปร่วมรับฟัง แต่นายปริยได้แสดงความเห็นส่วนตัว โดยขณะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2553 นั้น นายปริยยังไม่ได้มาทำงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเพิ่งบรรจุเป็นพนักงานราชการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ที่สำคัญ นายปริยไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานออกอากาศตลอดจนเป็นผู้สื่อ ข่าว ช่างภาพ หรือผลิตรายการใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีหน้าที่ในการถ่ายภาพนิ่งกิจกรรมของสถานีฯ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นของนายปริยจึงเป็นความเห็นส่วนตัวมากกว่า เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และที่สำคัญยังไม่ผ่านการทดลองงาน แต่ได้รับมอบหมายให้ไปรับฟังเพราะเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รวบรวมเหตุการณ์ดัง กล่าวอยู่ระหว่างลาพักร้อน

สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ชี้แจงด้วยว่า ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองนั้น สถานีฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยการนำเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสนอข่าว การรายงานข่าว หรือข้อความอักษรวิ่ง เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้าน และผู้ร่วมรายการทุกคนที่ได้รับเชิญมาร่วมรายการล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนมีความรู้กับประเด็นที่ต้องการ หากจะมีคำสั่งใดๆ ให้เป็นการสั่งการในการบังคับบัญชาตามปกติ แต่ในส่วนที่มีความยากลำบากในการปฏิบัติงานคือต้องมีการระมัดระวังและเสีย ขวัญ คือการถูกคุกคามจากกลุ่มบุคคลที่ลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้ามาในสถานีฯ ถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการมาชุมนุมหน้าสถานีฯ บ่อยครั้งด้วยกลุ่มคนจำนวนมาก ทำให้บุคลากรไม่ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร
 

------------------------------------
ตัวแทน "เอ็นบีที" แฉกลางวงประชุม คอป. รัฐบาลใช้สื่อจุดชนวนความรุนแรงเหตุ 10 เมษาฯ
ที่มา: มติชนออนไลน์
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554

ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีการประชุมแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและตรวจสอบหา ความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยยกกรณีเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ในวันที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนิน จนเหตุการณ์รุนแรงลุกลามทำให้ทั้งสองฝ่าย คือ พลเรือนและทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในการประชุมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ทาง คอป. ได้เชิญตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ "เอ็นบีที" มาแสดงความคิดเห็นในฐานะสื่อที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิด ขึ้นในช่วงเวลานั้น มีรายการวิพากษ์วิจารณ์ มีการออกแถลงการณ์ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานกาณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) และภาพเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นสื่อหลักที่ประชาชนคอยติดตามข่าวในช่วงเวลานั้น

นายปริย นวมาลา เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ได้กล่าวในประชุมสะท้อนภาพการทำงานของสื่อเอ็นบีทีว่า รัฐบาลพยายามที่จะใช้สื่อ คือ เอ็นบีที ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัววิ่งหน้าจอหรือการจัดเวทีสนทนาจะต้องเชิญวิทยากรที่ คิดเหมือนกับรัฐบาลมาแสดงความเห็นผ่านโทรทัศน์ โดยที่ผู้จัดไม่สามารถหาคนที่เป็นกลางหรือฝ่ายที่คิดเห็นแบบเดียวกับเสื้อ แดงมาออกรายการได้ เพื่อที่จะโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมเหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ ซึ่งเอ็นบีทีกลายเป็นสื่อที่จุดชนวนความรุนแรงให้เกิดขึ้น

"รัฐบาลพยายามใช้องค์กรของผม ถ้าสังเกตจากตัววิ่งที่ขึ้นหน้าจอ จะเห็นว่ามีข้อความด่าคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดไม่เหมือนกับรัฐบาลในรายการ สนทนาทางผู้จัดทำรายการที่จะเชิญวิทยากรมาพูดถึงความรุนแรงในช่วงนั้น ไม่สามารถที่จะเชิญนักวิชาการที่มีความเป็นกลางหรือความคิดเห็นทางฝ่ายเสื้อ แดงได้ คือ พูดง่ายๆ ระบุมาแล้วว่า จะต้องเอาคนที่คิดเหมือนรัฐบาลเท่านั้น เพื่อมาแสดงความคิดเห็นโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนที่เห็นแตกต่างจาก รัฐบาล ตรงนั้นเป็นส่วนที่เหมือนกับการราดน้ำมันลงไปในกองไฟ รัฐบาลเองก็ไม่ได้ใช้สมอง ในการเลือกหนทางที่จะแก้ปัญหาให้ถูกต้อง" นายปริย กล่าว

"ทำไมผมถึงพูดแบบนี้เพราะว่าองค์กรของผมได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็น ระเบิดเอ็ม 79 ก็ยอมรับว่า บางรายการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายยอมรับว่า บุคลากรและเจ้าหน้าที่ก็เป็นบุคคลที่น่าเห็นใจ ไม่ว่ารัฐบาลใดจะมาก็ต้องทำไปตามเนื้อหาที่รัฐบาลต้องการ เพราะว่าสื่อที่ผมทำงานอยู่ก็เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง มีมุมตรงนี้ในเบื้องต้น " นายปริย กล่าว

นายปริย กล่าวว่า ความรุนแรงมาจากตรงนี้ส่วนหนึ่งรัฐบาลหลีกเลี่ยงได้ แต่เลือกที่จะมองประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรูของตัวเอง ทำให้นำพาเหตุการณ์ไปสู่ความรุนแรง ถ้า คอป.จะไปเจาะข้อมูลจากบุคลากรในสถานี เชื่อว่า 90 เปอร์เซนต์ไม่มีใครกล้าพูด เหตุผลก็น่าจะทราบว่าพวกตนรับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ส่วนตัวเห็นใจประชาชนจึงกล้าออกมาพูดเช่นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net