Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนา เปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล เปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาล ได้แก่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน ชาญนะ เอี่ยมแสง รองผู้ว่าราชการศรีสะเกษ เพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่

กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2553 ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล” สันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาจัดพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล-ทอดผ้าป่า และการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาล นำโดย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน , นายชาญนะ เอี่ยมแสง รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ เพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่ภายใต้ โครงการโขง ชี มูล หลังมีมติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล”และ “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา” เมื่อ 16 พ.ย. 2553 พร้อมเร่งให้เกิดการประชุมคณะกรรมการทั้งสองชุดโดยด่วน

ทั้งนี้ สมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาเป็นองค์กรเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 2 เขื่อนในโครงการโขง ชี มูล เริ่มเคลื่อนไหวโดยการเรียกร้องสิทธิ์ชดเชยที่ดินทำกินโดยการเคลื่อนไหวมวลชน มีการเผชิญหน้าและและความขัดแย้งแตกแยกทั้งระหว่างชุมชนกับรัฐและในชุมชนกันเองอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันในระหว่างเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชาวสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศล-หัวนาก็มีการจัดตั้งภายใน มีการสร้างทางเลือกการพัฒนาในสถานการณ์ใหม่ขึ้นมามากมาย ทั้งการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ทามประมาณ 10 ป่า การตั้งกลุ่มอาชีพหัตถกรรมกก-ผือทาม การเกษตรนิเวศทาม การตั้งกองทุนสวัสดิการ การพัฒนาระบบชลประทานชุมชน และมีการทำวิจัยไทบ้าน 10 กว่าเรื่อง การทำศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ป่าทามชุมชนหลายแห่ง และปัจจุบันกำลังสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

และระหว่างวันที่ 9- 16 ธ.ค. 2553 สมัชชาคนจนราษีไศลและหัวนาได้จัดการชุมนุมใหญ่ประจำปีสมาชิกจากลุ่มน้ำมูน 3 จังหวัด(สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ) จำนวน 2,800 คน ณ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล” สันเขื่อนราษีไศล เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของเครือข่ายในรอบ 17 ปี สรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ในการต่อสู้ที่ผ่านมา ฝึกอบรมแกนนำและสมาชิก ในเรื่องแนวคิด ประสบการณ์การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน รวมทั้งแนวทางการดำเนินการเพื่อการพึ่งตนเองด้านเกษตรและพลังงาน

ในวันที่15 ธ.ค. 2553 ได้ทำจัดพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้-ทอดผ้าป่า และการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา โดยมีองค์กรเครือข่ายต่างเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิเช่น สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล, ฝายห้วยละห้า, เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี, กลุ่มชาวบ้านคัดค้านการสร้างเขื่อนปากชม จ.เลย, เครือข่ายลุ่มน้ำชี จ.ร้อยเอ็ดและจ.ยโสธร, โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ หรือ นักศึกษาซีไออีอี (CIEE) ม.ขอนแก่น, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, นักวิชาการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่างๆ

เวลาประมาณ 10.00 น. นายประดิษฐ์ โกศล ประธานคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล กล่าวว่า “ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วน โดยเฉพาะท่านประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นผู้มีบทบาทให้ริเริ่มสร้างขึ้น โดยมอบให้สมัชชาคนจนหัวนา – ราษีไศลเป็นผู้ดำเนินการ และด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจัง ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ประกอบกับการทุ่มเทกายใจของทั้งแกนนำ และสมาชิกสมัชชาคนจน วันนี้เราจึงเห็นความสำเร็จของการตั้งศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้”

“สำหรับสมัชชาคนจนแล้ว ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญ เพราะเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ เราได้เรียนรู้และสะสมความรู้ไว้มากมาย ขณะเดียวกันเราได้ทำงานพัฒนาภายในควบคู่กันไปด้วย ทั้งการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การทำเกษตรยั่งยืน หัตถกรรม การอนุรักษ์โดยจัดตั้งป่าชุมชน ชลประทานชุมชน การวิจัยไทบ้าน จนความรู้เรื่องป่าทามเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และบัดนี้เราพร้อมเต็มที่ในการจัดทำศูนย์เรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิก ที่มีอยู่เกือบ 3,000 ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นโดยส่วนรวม” นายประดิษฐ์ กล่าว

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ กล่าวว่า “ภูมิใจและชื่นชมมากที่ประชาชนดำเนินการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ฯขึ้นมาได้ ซึ่งประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ใครก็กำหนดไม่ได้ ศูนย์แห่งนี้พี่น้องเป็นคนสร้างขึ้นมา ผมเป็นคนเสนอ และพี่น้องต้องการมัน ศูนย์แห่งนี้จึงเป็นของพี่น้องอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้หัวใจของศูนย์เรียนรู้คือการพึ่งตนเองจนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ซึ่งการไปดูงานและศึกษาเรียนรู้ตามที่ต่างๆเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าสามารถทำความเข้าใจก็สามารถกำหนดอนาคตของมันได้ ที่จะให้เข้มแข็งอย่างไรและต้องการอะไร ขอยืนยันว่าพี่น้องต้องการและใช้ประโยชน์ให้ได้จริง คิดว่าในปี 2554 จะจัดงบเพิ่มเติมให้ศูนย์แห่งนี้ เพื่อจะได้งบเพิ่มเติมมาจัดการสิ่งที่พี่น้องอยากได้”

นายประพัฒน์ กล่าวต่อถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาว่า ตอนนี้ก็มีความคืบหน้า มีการผลักดันผลการศึกษาผลกระทบทางสังคม กรณีเขื่อนราษีไศล เป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว และแต่งตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการฟื้นฟูต่อไป ซึ่งหลังปีใหม่จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้แน่นอน ซึ่งก็อยากให้กระบวนการฟื้นฟูประสบความสำเร็จ แสวงหาทางออกและกำหนดอนาคตของตัวเอง

ต่อมา คณะนายประพัฒน์ และสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ ปลูกต้นไม้ร่วมกันเป็นสัตยาบรรณในความร่วมมือของการสร้างศูนย์แห่งนี้ และได้ลงดำนาทาม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตตามธรรมชาติของชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำมูน ที่จะทำนาทาม หลังน้ำในแม่น้ำมูนลดลง ทำให้น้ำในพื้นที่รอบๆลดลงด้วย ทำให้สามารถทำนาได้ โดยใช้พันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่น แต่ปัจจุบันหลังมีการสร้างเขื่อนราษีไศลเก็บกักน้ำ วิถีของการทำนาทามได้หายไปหมด เพราะน้ำท่วมพื้นที่เหล่านี้ ดังนั้นศูนย์แห่งนี้จึงได้มีการใช้พื้นที่ทำนาทามเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านด้วย

หลังจากนั้น ได้มีการการเปิดรอบประชุมเจรจากับตัวแทนรัฐบาลเพื่อติดตามผลการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา 2 เขื่อนใหญ่ภายใต้ โครงการโขง ชี มูล ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสมัชชาคนจน

ในเวลาประมาณ 14.00 น. – 16.00 น. ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการศูนย์เรียนรู้ฯ” และมีการบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ โดยทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ซึ่งมีวิทยากร-องค์เสวนาจากภาคการเมือง หน่วยงานราชการ มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถาบันศึกษาในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน สนับสนุนการจัดโดย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง

โดยมีประเด็นการเสวนาดังนี้ 1. ความร่วมมือในการดำเนินการศูนย์เรียนรู้-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยเน้นถึงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และการร่วมออกแบบสร้างความร่วมมือของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ หลักการและประสบการณ์ในการทำศูนย์เรียนรู้เป็นอย่างไรและทำไมต้องมีศูนย์เรียนรู้

2.บทเรียนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ์ของสมัชชาคนจน ในหัวข้อ“สมัชชาคนจน สู้เพื่อสิทธิ์และฟื้นฟูชีวิตชุมชนและธรรมชาติ” การเคลื่อนไหวของชาวราษี-หัวนา มีทั้ง 2 ด้าน 2 มิติ ผสมผสานกันไป ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่ามีทั้ง “งานร้อน” และ “งานเย็น” คือทั้งต่อสู้ต่อรองกับภายนอกและการสร้างความเข้มแข็งภายในไปพร้อมกัน ซึ่งจะเกิดสิทธิอำนาจ เกิดการเรียนรู้ด้านการเมืองภาคพลเมือง และขณะเดียวกันก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ดี ก็ได้เกิดบทเรียนการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับภาครัฐที่เริ่มต้นด้วยการทะเลาะขัดแย้ง แต่สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างความร่วมมือและอยู่ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ความ สัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์

ซึ่งประเด็นในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันคือ 1.ทำไม? มีเงื่อนไขอะไรให้องค์กรประชาชนเกิดการดำเนินการเช่นนั้นได้ แต่ละท่านมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร 2.เราจะส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรประชาชนสามารถมีอำนาจต่อรองภายนอก เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ์ และการสร้างความเข้มแข็ง สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ในช่วงค่ำ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม หมอลำ การแสดงดนตรีจากวง“สเลเต” จ.อุบลราชธานี วงศิลปินคนทามซึ่งเป็นวงดนตรีของสมาชิกสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและหัวนา เพื่อสมโภชน์องค์ผ้าป่า และในวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ได้มีการทอดผ้าป่าสมทบทุนสร้างศูนย์เรียนรู้ ซึ่งมียอดเงินรวมเบื้องต้นประมาณ 147,773 บาท

นายพุฒ บุญเต็ม แกนนำสมัชชาคนจน กล่าวสรุปการจัดงานครั้งนี้และผลการเจรจาว่า “ในเบื้องต้นเราได้รับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ว่ามีมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว ทั้งกรณีเขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา นี่คือพัฒนาการของการเรียกร้องสิทธิของเราที่ได้ยืนหยัดมา หลังจากเราสู้ร่วมกันมา สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือการชุมนุม 189 วัน ในปีที่แล้ว ซึ่งได้มาทั้งการกำหนดค่าชดเชยที่ดินเต็มราคาและเต็มพื้นที่ มีกรอบกติกา นอกจากนี้ เราก็ได้ตั้งกองทุนสวัสดิการขึ้นมา แต่มีเรื่องยังค้างอยู่คือการดำเนินการตามผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมของเขื่อนราษีไศล และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนหัวนา แต่หลังจากนั้นก็มีความคืบหน้าตามมาให้เราได้มาสรุปงานร่วมกันอยู่โดยตลอด”

นายพุฒ กล่าวต่อว่า “วันนี้ผลการเจรจาของทั้ง 2 กรณี มีความคืบหน้าว่า กรณีเขื่อนหัวนา คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนาแล้ว ในวันที่ 16 พ.ย. 2553 และจะประชุมคณะกรรมการชุดนี้ให้ได้ภายในเดือนมกราคม ส่วนเรื่องการปักขอบเขตน้ำท่วมถึงของเขื่อนหัวนาจะดำเนินการให้ครบถ้วนต่อไป”

“ส่วนกรณีราษีไศล มีการแจ้งว่าระดับน้ำในปีนี้จะเก็บกักที่ 118.5 ม.รทก. ซึ่งไม่เป็นไปตามผลการศึกษาฯ แต่ต่อไปกรมชลประทานจะเปลี่ยนคำสั่งให้มีทุกกลุ่มเข้าไปเป็นคณะกรรมการ โดยเฉพาะคนที่มีผลกระทบ ด้านประเด็นปัญหานานอกเขตอ่างเก็บน้ำถูกน้ำท่วมขังและกรณีพื้นที่ทับซ้อนก็มีความคืบหน้า โดยเฉพาะประเด็นการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ในการแก้ปัญหา ที่จะให้ทุกกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมจริงๆ และหลังจากผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมของเขื่อนราษีไศลผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ ตอนนี้คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล เรียบร้อยแล้วในวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมาเช่นกัน และจะประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งแรกหลังปีใหม่ ช่วงเดือนมกราคมนี้”นายพุฒ กล่าว

นายพุฒ กล่าวสรุปว่า “งานที่เราวางไว้มันจะไปเป็นขั้นตอนอย่างนี้ หลังจากนั้นก็ต้องไปเร่งรัฐบาล ซึ่งอยากให้พี่น้องภูมิใจในตัวเอง ทุกอย่างมาด้วยเท้าของพี่น้อง ที่ออกไปเผชิญหน้ากับปัญหา และเปิดการเจรจาโดยเสมอหน้า ไม่ได้มาด้วยการร้องขอแต่อย่างใด”

ด้านนางผา กองธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามาสร้างศูนย์ตรงนี้เป็นงานของกลุ่ม สร้างองค์กรของเราเพื่อการฟื้นฟูในอนาคต ออกมาทำงานศูนย์คือการเคลื่อนไหว เราไม่หยุด เราไปเรื่อยๆ เหมือนปลวก ซึ่งก็ต้องอยู่ตรงนี้ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ ต้องกระตุ้น เราต้องยืนหยัดในสิทธิของภาคประชาชน

ทั้งนี้ เขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนในโครงการโขงชีมูล ที่ก่อสร้างและกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปี 2536 โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ทำให้พื้นป่าทามและที่ดินทำกินของชาวบ้านกลายเป็นอ่างเก็บน้ำประมาณ 100,000 ไร่ และชาวบ้านประมาณ 7,700 ครอบครัวคือผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการดำเนินการบริหารโครงการ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา มูลล่าง ปัจจุบันชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล กรณีสมัชชาคนจน ชุมนุมเรียกร้องให้มีดำเนินการแก้ไขปัญหาคือ การจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา การตรวจสอบกรณีชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่นอกอ่างเก็บน้ำระดับ 119 ม.รทก. เนื่องจากได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และการเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนระยะยาวต่อไป ซึ่งในวันที่ 16 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอแล้ว

เขื่อนหัวนา เป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ สร้างกั้นแม่น้ำมูนที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย 2535 ปัจจุบันเหลือเพียงการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อเปลี่ยนเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านเขื่อน โครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์ ตัวเขื่อน มีความกว้าง 207.5 เมตร มีประตูเหล็กควบคุมน้ำจำนวน 14 บาน ขนาด 12.5 x 7.5 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 115 ม.รทก .ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขนาด 18.11 ตร.กม. โดยปลายน้ำจะจรดบานประตูเขื่อนราษีไศล ระยะทางตามลำน้ำมูน ประมาณ 90 กิโลเมตร

สำหรับความคืบหน้ากรณีเขื่อนหัวนา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 สาระสำคัญ คือ คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมของโครงการเขื่อนหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนหัวนา โดยอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนาต่อไปจนแล้วเสร็จ ตลอดจนสำรวจข้อมูลและพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกรมชลประทานถือปฏิบัติอยู่ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการแก้ไขผลกระทบและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของโครงการต่อไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้มีความคืบหน้าทางการปฏิบัติ ได้มีแผนงานดังนี้1.การตั้งคณะทำงานปักเขตอ่างเก็บน้ำ ระดับ 114 ม.รทก. โดยให้มีส่วนร่วมระหว่างกรมชลประทานและราษฎร เนื่องจาก 1.1การปักหลักเขตเดิมของหัวนา หลักเดิมมีปัญหาเรื่องการปักระดับไม่ชัดเจน ปี 2553 ได้รับงบประมาณในการจัดทำหลักเขตใหม่ 60 กม. โดยการสำรวจทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ยังไม่ชัดเจนว่าเริ่มต้นที่บริเวณไหน โดยจะมีการของบประมาณจัดทำการสำรวจหลักระดับน้ำให้แล้วเสร็จ 1.2. มีคณะทำงานติดตามการปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำ ของราษฎร โดยสัดส่วนของคณะทำงานชุดนี้ มีฝ่ายละ 5 คนทั้งส่วนราชการและส่วนของราษฎร โดยมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในการตรวจสอบระดับพื้นที่ ยกเว้นมีปัญหาทางเทคนิคที่ให้หน่วยงานส่วนกลางลงมาช่วยแก้ไขปัญหา และมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ได้ โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดศรีสะเกษเป็นหัวหน้าคณะทำงาน

2.การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎร มีชุดเดิมอยู่แล้ว ใช้ชุดเดิม และทำงานต่อเนื่องจากที่ดำเนินการไว้แล้ว, การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สิน, การแต่งตั้งคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชย ตามมติครม.วันที่ 27 เมษายน 2553 นั้น คณะกรรมการเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินเดิมนั้น ถือว่าหมดวาระไปตามหลักการของมติครม. ในส่วนคณะกรรมการที่จะต้องแต่งตั้งใหม่ จะเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 เป็นไปตามมติที่ให้อำนาจกรมชลประทานดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบได้ และสามารถแต่งตั้งให้มีผู้แทนราษฎรเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการได้ หรือคณะทำงานได้ ทั้งนี้ให้มีการแต่งตั้ง1.คณะกรรมการจ่ายค่าทดแทนเพื่อการชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการ เป็นประธาน ตามมติครม. 11 ก.ค. 2532 2.คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีนายอำเภอเป็นประธาน โดยอำเภอละ 1 ชุด 3. คณะอนุกรรมการจ่ายเงิน มีปลัดอำเภอเป็นประธาน หากการดำเนินงานมีปัญหา หรือข้อขัดข้อง คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสามารถแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลและพิจารณารายละเอียดนำเสนอคณะกรรมการพิจารณา

3.การแต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบตามข้อเสนอในผลการศึกษา ซึ่งผลการศึกษาของรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ได้ระบุว่า ให้มีการแต่งคณะกรรมการฟื้นฟูผลกระทบ ทั้งนี้รายงานการศึกษา แม้ครม.จะเห็นชอบแล้วตามรายงานดังกล่าว แต่ยังไม่มีเอกสารจากครม. /อำนาจการฟื้นฟูเป็นอำนาจของกระทรวง ซึ่งรมต.กระทรวงอาจจะตั้งเองได้ หรือเรียกว่า คณะกรรมการติดตามการฟื้นฟูผลกระทบหรือกำกับการฟื้นฟูผลกระทบ มีรมต.เป็นประธานและตัวแทนส่วนต่างๆ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวงเกษตร ฯ แล้ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอแล้ว

อนึ่ง เว็บไซต์รัฐบาลไทย (www.thaigov.go.th) รายงานข่าวว่ามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2553 ข้อที่ 44 เรื่อง 3. แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราศีไศล

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 แล้ว โดยใช้ชื่อคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล” คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 25 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมาย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานกรรมการ รองอธิบดีกรมชลประทานที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีกรรมการประกอบด้วย 1) อธิบดีกรมชลประทาน 2) ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หรือ ผู้แทน 3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ หรือผู้แทน 4) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หรือผู้แทน 5) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทน 6) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทน 7) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน 8) อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน หรือผู้แทน 9) ผู้แทนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 10) ผู้แทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 11) ดร.ศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ 12) นายบัณฑร อ่อนคำ 13) นางสุภา ใยเมือง 14) นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ 15) นางผา กองธรรม 16) นายไพฑูรย์ โถทอง 17) นายประดิษฐ์ โกศล 18) นายบุญมี โสภังค์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองแนวทางตามแผนในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูผลกระทบตามผลการศึกษาผลกระทบทางสังคมโครงการฝายราษีไศลและการแก้ไขผลกระทบอย่างยั่งยืน ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการศึกษาไว้แล้ว ให้นำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งพิจารณาและเสนอการขับเคลื่อนแผนงานในการป้องกันแก้ไข และฟื้นฟู ซึ่งได้รับการเห็นชอบร่วมกันที่มีขั้นตอนปฏิบัติ ระยะเวลา งบประมาณ หน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำแผนการขับเคลื่อนที่ได้พิจารณาแล้วเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

4. แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา

คณะรัฐมนตรีอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เสนอ และที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพิ่มเติมว่า เห็นควรแต่งตั้งให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ร่วมเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ด้วย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า เพื่อแก้ไขปัญหาและให้การดำเนินงานโครงการที่มีผลกระทบกับราษฎรเป็นจำนวนมากเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์การศึกษาผลกระทบทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว กษ. พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ โดยเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา มีองค์ประกอบดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 13 อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนกลุ่มราษฎรที่คณะกรรมการแต่งตั้ง โดยมี รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน และผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดราคาค่าทดแทนทรัพย์สินทุกประเภท และให้ความเห็นชอบผลการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทน กำกับ และให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ให้กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้งได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะเดินทาง อนุโลมตามระเบียบราชการโดยให้เบิกจ่ายจากกรมชลประทาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net