Skip to main content
sharethis

"อานันท์"ชี้"ปฏิรูปประเทศไทย"ต้องไม่กำหนดเวลา ต่างจาก"ปฎิวัติ" แม้ไม่สำเร็จก็ได้บทเรียนเป้าหมายคือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอำพล จินดาวัฒนะ เลขา คปร.และ คสป.ออกตัวงบที่เพิ่มเป็นเงินจากองค์กรอื่น 

(30 พ.ย.53) อานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 “การลดความเหลื่อมลํ้าและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงโครงสร้างของสังคมว่า โครงสร้างทางสังคมนั้นโยงกับทั้งโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของไทยยังมีตัวแปรหลายตัว ทั้งโครงสร้างทหาร โครงสร้างนายทุน และโครงสร้างของกลุ่มต่างๆ ที่มีอิทธิพลและอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางที่ดีและไม่ดี ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างทางการเมืองของไทยเป็นโครงสร้างที่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีการกระจายไปต่างจังหวัดบ้างแล้ว โดยทำงานร่วมกันในบางเรื่อง เป็นอิสระต่อกันบางเรื่อง แต่มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ เขากล่าวต่อว่า เมื่อคนมีทุน อำนาจ อิทธิพล แล้วก็เป็นธรรมดาที่จะอยากมีมากขึ้นอีก ดังนั้น จะขัดขวางส่งเดชก็ไม่ได้ เพราะคนเรายังไม่รู้จักคำว่า "พอ" ซึ่งตราบใดที่เรายังไม่รู้จักคำว่า "พอ" ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

อานันท์กล่าวว่า การปฏิรูปไม่ใช่ของใหม่ ทุกสังคมมีมาตลอด แม้ว่าบางประเทศอาจไม่ได้ใช้คำนี้ แต่มีการปฏิรูปทั้งนั้น โดยมีทั้งผลที่ดีและเลว เขาแนะว่า สิ่งที่ต้องปรับความรู้สึกนึกคิดของคนไทยคือ เมืองไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คนคิด และไม่ได้เลวร้ายอยู่ประเทศเดียว แต่หลายประเทศที่ปฏิรูปไปแล้ว จะมีกลไกหรือค่านิยมทางสังคมที่ทำให้เรื่องหนักกลายเป็นเบาได้ ประเทศไทยเองก็มีความ พยายามหลายครั้งที่จะปฏิรูป โดยในอดีตจะเป็นการปฏิวัติ ทั้งนี้ คำว่า "ปฏิวัติ" และ "ปฏิรูป" นั้นวิธีคิดอาจจะใกล้เคียงกัน แต่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยปฏิวัติเป็นการใช้กำลังหรือที่เรียกว่า ทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซร์ ซึ่งไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย

"สิ่งแรกที่เราต้องทำใจคือว่าเลิกคิดเรื่องการปฏิวัติเสียที อันนั้นไม่ใช่คำตอบ ปฏิวัติทีไรเมืองไทยก็จะล่มจมมากขึ้น มันอาจตอบปัญหาในระยะสั้น" อานันท์กล่าวและว่า เมื่อมองแบบนี้ จะเห็นว่าการปฏิรูปจึงสำคัญมาก ขึ้น โดยคณะกรรมการปฏิรูป มีเป้าหมายคือ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม รวมถึงอยากเห็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพราะมองว่ารัฐมีอำนาจน้อย โอกาสที่จะใช้อำนาจในทางที่ผิดก็จะน้อยลง

สำหรับการเพิ่มอำนาจประชาชน เขามองว่า เป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายสิบปี แต่ยังไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่จะเห็นว่าอำนาจไม่ได้ไปที่คนท้องถิ่นโดยตรง แต่ไปยังหน่วยงานของรัฐบาล กลางในจังหวัดต่างๆ แทน ประชาชนก็คอยค้าง ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่า เรากระจายอำนาจไปที่ใคร ทั้งนี้เสริมว่า การเพิ่มอำนาจให้ประชาชนนั้นก็เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มต่างๆ มากขึ้น

อานันท์ยกตัวอย่างจีนว่าเป็นประเทศที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ปักกิ่ง แต่ก็มีการกระจายอำนาจและรายได้อย่างแท้จริงไปยังเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นกำหนดทิศทางอนาคตของตัวเองหรือการจัดเก็บภาษี ซึ่งมีนโยบายตัดกำไร 30 - 40% คืนสู่พื้นที่ที่ได้มาซึ่งภาษีนั้น แตกต่างกับประเทศไทยที่รัฐอุ้มผลกำไรไว้คนเดียว อันเป็นที่มาของความไม่ยุติธรรมในสังคมอีกประเด็นหนึ่ง

เขาเสนอว่า ให้เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดกันเสียก่อน เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินทั้งหมด เป็นทรัพยากรร่วมระหว่างรัฐกับชุมชน  หรือแม้แต่วิทยุชุมชน ที่ระบุในรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าเป็นสมบัติสาธารณะ ดังนั้น เมื่อเป็นสมบัติสาธารณะ ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจากการเก็บค่าสัมปทาน ภาษี ประชาชนต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่าที่เคยเป็นมา

สุดท้าย อานันท์ย้ำว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูปให้นึกถึงความยุติธรรมทางสังคม     ซึ่งหากแก้ได้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
 

 

ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ    เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)  ได้เขียนบทความ " งบประมาณ คปร. และ คสป. ปฏิรูปประเทศไทย ไม่มีอะไรในก่อไผ่ " ชี้แจงข่าว  คปร. และ คสป. ของบประมาณเพิ่มแบบไม่รู้จักพอ ถึง ๕๖๕.๔๗ ล้าน ดังนี้

เลขา สช.   ชี้แจงผ่านบทความ"งบประมาณ คปร.และ คสป.ปฏิรูปประเทศไทย ไม่มีอะไรในกอไผ่"ว่า  ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสับสนเกี่ยวกับการขอใช้งบประมาณสำหรับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จนอาจทำให้สาธารณะเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ในฐานะที่ผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงจรเรื่องนี้โดยตรงตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงขอเล่าความเป็นมาเป็นไป และข้อเท็จจริงเพื่อให้สาธารณะได้รับรู้และติดตามตรวจสอบต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการทำงานสาธารณะเพื่อบ้านเพื่อเมือง ไม่มีอะไรแอบแฝง    

หลังจากบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตความขัดแย้งอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ มีเวทีระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกขึ้นมาทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ไทยเพื่อหาทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมในสังคมให้ได้  โดยที่ประชุมดังกล่าวได้เสนอแนะให้รัฐบาลไปเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามา ช่วยทำงานสำคัญนี้  ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรีได้ไปเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน และนายแพทย์ประเวศ วะสี ให้เข้ามาช่วยเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนงานนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นแกนเสนอออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. ๒๕๕๓  เพื่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เป็นกลไกหลักในจัดทำข้อยุติในการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณะ และชวนคนไทยทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในทุกมิติ โดยให้มีเวลาทำงานต่อเนื่อง ๓ ปี    

ต่อมา สช. เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อ ครม. โดยเสนอวงเงินงบประมาณที่เป็นการคาดการณ์รายจ่ายไว้ล่วงหน้า รวมปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ซึ่งครม. ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ส่วนเรื่องงบประมาณ ครม. ให้ สช. ไปจัดทำคำของบประมาณโดยให้ คปร. และ คสป.เห็นชอบก่อน แล้วค่อยนำเสนอต่อ ครม. ในโอกาสต่อไป     สช. เสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คปร. และอาจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คสป. เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และ สช. จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของ สช. เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓     ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๕๕๓ สปร. ก็รีบยกร่างแผนงานหลักและงบประมาณของ สปร. เพื่อรองรับการทำงานของ คปร. และ คสป. เสนอให้ คปร. และ คสป. ให้ความเห็นชอบ เมื่อ คปร. และ คสป. ได้ให้ความเห็นชอบแผนงานหลักและวงเงินงบประมาณที่จะขอจากรัฐบาลในส่วนที่คณะ กรรมการแต่ละชุดเกี่ยวข้องแล้ว สปร. ก็ได้ปรับปรุงร่างแผนงานฯ ดังกล่าวเสนอผ่าน สช. ให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอต่อ ครม. ตามขั้นตอนปกติ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๓ โดยการทำงานในช่วง ๓-๔ เดือนแรก ที่ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล สปร. ได้ยืมเงินงบประมาณของ สช. ไปใช้ก่อนเป็นเงิน ๑๕ ล้านบาท    

สำหรับการเสนอต่อ ครม. ครั้งนี้ เป็นการขออนุมัติหลักการต่อแผนงาน ๓ ปีของ สปร. รองรับการทำงานของ คปร. และ คสป. ในวงเงินงบประมาณที่ขอจากรัฐบาลรวม ๕๖๕.๔๗ ล้านบาท จำแนกเป็นปีงบประมาณ ๒๕๕๔ วงเงิน ๑๘๗.๔๗ ล้านบาท ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ วงเงิน ๑๙๐.๕ ล้านบาท และปีงบประมาณ ๒๕๕๖ วงเงิน ๑๘๗.๕ ล้านบาท โดยในปีแรกเป็นการขออนุมัติใช้งบกลาง เนื่องจากเลยเวลาการของบประมาณประจำปีมาแล้ว  สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ สช. ต้องทำคำของบประมาณเสนอขออนุมัติตามขั้นตอนปกติต่อไป    

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดย (๑) เห็นชอบหลักการของแผนงานหลักของ สปร.ตามที่เสนอ และ (๒) อนุมัติงบกลางของปีงบประมาณ ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๑๘๗.๔๗ ล้านบาท ให้สช. (โดย สปร.) ใช้รองรับการทำงานตามแผนงานของ คปร. และ คสป.    

นี่คือการอนุมัติงบประมาณเพื่อการทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งเดียว     ที่มีสื่อมวลชนเสนอข่าวว่า คปร. และ คสป. ของบประมาณเพิ่มแบบไม่รู้จักพอ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง อนึ่ง เนื่องจากในแผนงานหลักของ สปร. ที่ สช. ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบหลักการนั้น มีการประมาณการเงินที่องค์กรภาคีต่างๆ อาจใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยแสดงไว้ด้วย โดยมีหลักคิดว่า ในความเป็นจริงแล้ว การขับเคลื่อนงานใหญ่ของบ้านเมืองครั้งนี้ มีองค์กร ภาคีเครือข่ายเป็นจำนวนมากเข้าร่วมทำงานด้วย ไม่ใช่มีแค่ คปร. และ คสป. เท่านั้น โดยองค์กรภาคีเครือข่ายเหล่านั้นก็มีการใช้เงินขององค์กรตนเองร่วมทำงานเป็นจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน  

เช่นที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนได้สนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดเวทีประชุมสัมมนา ขับเคลื่อนงานปฏิรูปหลายครั้งทั้งระดับชาติและในพื้นที่ สภาพัฒนาการเมืองก็สนับสนุนเครือข่ายภาคีต่างๆ ทำงานเรื่องนี้อย่างคึกคัก เครือข่ายประชาสังคมหลายแห่งได้จัดประชุมสัมมนาขับเคลื่อนงานนี้เป็นจำนวน มาก  สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์หลายแห่งก็ได้เปิดพื้นที่สำหรับเสนอเนื้อหาสาระและความคืบหน้า การทำงานปฏิรูปประเทศไทยอย่างหลากหลาย  หน่วยงานราชการหลายแห่งก็เข้าร่วมทำกิจกรรมขับเคลื่อนการปฏิรูป ฯลฯ  ซึ่งการทำงานเหล่านี้ แต่ละองค์กรใช้เงินงบประมาณของตนเองทั้งสิ้น    

ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วม และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่องค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ  ในแผนหลักของ สปร. จึงได้เขียนคาดประมาณงบประมาณที่องค์กรภาคีต่างๆ ใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทย  ว่าในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ อยู่ที่ประมาณ ๑๘๗ ล้านบาท ปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ประมาณ ๒๐๘ ล้านบาท ปีงบประมาณ๒๕๕๖ ประมาณ ๒๒๗ ล้านบาท โดยเขียนไว้ชัดเจนในแผนงานหลักดังกล่าวว่า “เงินสนับสนุนจากภาคี หมายถึงเงินค่าบุคลากรที่องค์กรต่างๆ ส่งเข้าร่วมงานปฏิรูป รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายโดยองค์กร ภาคี เครือข่ายต่างๆ ด้วย” เงินส่วนนี้ คปร. คสป. และ สปร.ไม่ได้ขอเพิ่มจากรัฐบาล และก็ไม่ได้ขอจากองค์กรภาคีใดๆ มาใช้จ่าย เป็นเรื่องการคาดประมาณการใช้จ่ายขององค์กรภาคีต่างๆ เท่านั้น     ตรงนี้กระมัง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อมวลชนบางส่วน เกิดความเข้าใจผิด จึงเสนอข่าวว่า คปร. คสป. และ สปร. ของบประมาณซ้ำแล้วซ้ำอีก?    

สช. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เลขานุการของ คปร. และ คสป. มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งในการทำแผนงาน การของบประมาณ และการใช้งบประมาณ โดยมี สปร. เป็นหน่วยปฏิบัติการ จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ว่าทุกอย่างที่ดำเนินการผ่านมา และที่จะดำเนินการต่อไป เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net