Skip to main content
sharethis
ประชาคมจุฬาฯ จัดเวที เชิญผู้เกี่ยวข้องถกหาทางออกปมพื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์  สำนักงานทรัพย์สินฯ-กทม. เมินร่วม ด้านผู้ค้าเรียกร้องให้จัดเวลาขายของ-วางระเบียบทางเท้าใหม่ พร้อมเผยถูกชายเสื้อชมพูข่มขู่เอาชีวิต
 
 
จากกรณี ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางเท้ารอบบริเวณสยามสแควร์ บนถนนพระราม 1 ระหว่างกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า กับสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมพื้นที่ และได้ทำการตั้งแผงรั้วเหล็กตลอดแนวทางเท้าด้วยการเจาะเชื่อมเหล็กยึดติดกับพื้นป้องกันการรื้อถอน
 
ผู้ค้าจับกลุ่มประท้วงบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้า สถานีสยาม (17 พ.ย.53)
 
ท่ามกลางคำถามที่ว่าใครคือผู้มีอำนาจในการดูแลจัดการทางเท้าอันเป็นพื้นที่สาธารณะ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้สิทธิอะไรในการตั้งแผนเหล็กกีดขวางทางเดินเท้า ในขณะที่สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็ออกมาอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ตามโฉนดที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่หน้าอาคารสยามจนถึงกลางถนนพระราม 1 ยาวกว่า 12.2 เมตร 
 
ช่วงเวลาที่ผ่านมา การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า กับกลุ่มชายสวมเสื้อสีชมพูที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้หาบเร่แผงลอยจำหน่ายสินค้า ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างตึงเครียด และมีทีท่าจะลุลามรุนแรงขึ้น แม้จะมีความพยามในการหาช่องทางเจรจาไกล่เกลี่ย โดยมีตัวกลางทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรุงเทพมหานครฯ และสภาทนายความ
 
ความพยายามหาทางออกของปัญหา ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน Chula Community for the People (CCP) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนา “ขอคืนพื้นที่จุฬาฯ : กรณีแผงลอยรอบสยามสแควร์” ณ อาคาร 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเชิญ ตัวแทนจากสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มผู้ค้าแผงลอย ผู้เช่าที่ภายในสยามสแควร์ และเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร มาร่วมพูดคุยชี้แจงข้อมูล 
 
อย่างไรก็ตาม การเปิดเวทีครั้งนี้มีเพียงตัวแทนผู้ค้าแผงลอย นักวิชาการอิสระ และกลุ่มนิสิต-นักศึกษา เข้าร่วมพูดคุย แต่ไม่มีตัวแทนจากสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าบางส่วน เนื่องจากเกรงว่าการพูดคุยจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ  
 
อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันกับการสัมมนาในวันนี้ กลุ่มผู้ค้าแผงลอยกลุ่มใหญ่ได้นัดรวมตัวกันที่จุฬาซอย 1 บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อยืนยันจะเข้าไปดำเนินการค้าขายในพื้นที่ที่ถูกปิดกัน แม้จะต้องเกิดการปะทะกับกลุ่มคนเสื้อสีชมพู
 
สุญญาตา เมี้ยนละม้าย นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนประชาคมจุฬาฯ ชี้แจงว่าเวทีเสวนาครั้งนี้มีจะมีการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอของกลุ่มผู้ค้าแผงลอย ส่งต่อให้กับสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประชาคมจุฬาฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมประสาน และติดตามผลความคือหน้า อย่างไรก็ตามการสัมมนาครั้งนี้ได้ติดต่อไปยังสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้รับคำตอบว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าง เนื่องจากติดประชุมในเรื่องเดียวกันนี้กับทางกรุงเทพมหานครฯ
 
สุญญาตา กล่าวด้วยว่ากรณีปัญหาที่มีในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากจากการจัดการพื้นที่ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความเข้มงวด การจ่ายค่าปรับเป็นเหมือนค่าเช่า ทำให้เกิดมาตรฐานที่ว่าสามารถตั้งแผงลอยได้โดยการจ่ายค่าปรับ อีกทั้งยังตั้งคำถามถึงการที่พื้นที่ทางเท้าบริเวณหน้าสยามสแควร์จะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นทีของจุฬาฯ จะมีหลักปฏิบัติในการดูแลความเรียบร้อยต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะการนำแผงเหล็กไปวางกีดขวางทางสัญจรนั้นสามารถทำได้หรือไม่  
 
ในส่วนผู้ค้าแผงลอยได้ให้ข้อมูลผ่านวงพูดคุยว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะยื่นเรื่องต่อหลายหน่วยงาน เพื่อประสานให้มีการเจรจาเพื่อแก้ปัญหา ทั้งคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร สภาทนายความ และมีความพยายามในการเข้าไปเจราจากับทางสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตรงแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะพบปะเพื่อเจรจาแก้ปัญหา อีกทั้งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเข้าไปค้าขายในพื้นที่เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับคนเสื้อสีชมพู จนทำให้พวกเขาบางคนได้รับบาดเจ็บ และมีกรณีถูกข่มขู่เอาชีวิตด้วย
 
“จุฬามีการศึกษามากกว่าเรา แต่การกระทำนั้นเหมือนกับว่ามีการศึกษาต่ำกว่าเราซึ่งเป็นพ่อค้าแม่-ค้าอีก” ป้าพร แม่ค้าวัยกว่า 50 ปี แสดงความคิดเห็นกรณีการว่าจ้างคนเสื้อชมพูซึ่งเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์มาควบคุมพื้นที่ 
 
“หากบอกว่าไม่มีการจัดระเบียบ ก็ออกมาจัดระเบียบให้ เราไม่ใช่ไม่ต้องการให้จัดระเบียบ จะให้ขายกี่โมง เว้นพื้นที่เท่าไหร่ เวลาไหนไม่กระทบคนขายของข้างใน พื้นที่ไหนไม่กระทบคนเดินเท้าก็บอกกัน” ป้าพร กล่าวถึงข้อเสนอ ที่เธอย้ำว่าได้เคยยื่นให้กับทางสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วก่อนหน้านี้ 
 
“มาไล่กันอย่างนี้มันต้องให้โอกาส ให้เวลา 2 ปี 3 ปี แจ้งให้รู้ ให้เวลาปรับตัว ปัญหาไม่เจอกับตัวเองก็ไม่รู้ ไล่กันปุ๊บปั๊บใครจะมีทางไป” พ่อค้าแผงลอยอีกคนหนึ่งแสดงความเห็น
 
แอน แม่ค้าเสื้อผ้า ซึ่งเปิดแผงขายที่สยามสแควร์มากว่า 4 ปี เสนอว่า ในส่วนผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ น่าจะเล็งเห็นประโยชน์การใช้พื้นที่ทางเท้าสยามสแควร์ เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงที่มีย่านขายสินค้าริมทางเท้า ทำให้เป็น fashion walk วางระบบบริหารจัดการให้ดี กำหนดเวลาและพื้นที่การขายให้ชัดเจน ให้เป็นพื้นที่เมืองน่าอยู่ของกรุงเทพฯ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะจากประสบการที่ผ่านมาลูกค้าที่มาซื้อของส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติอยู่แล้ว 
 
ส่วนต่าย แม่ค้ากิ๊ฟช็อปซึ่งเปิดขายอยู่หน้าธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มผู้ค้าแผงลอยขณะนี้คือไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่ชัดเจน หาแกนนำไม่ได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากช่วงเวลาการขายของที่ไม่ตรงกัน เพราะพื้นที่สยามสแควร์จะมีการแบ่งช่วงเวลาการขายสินค้าเป็นรอบๆ และพ่อค้า-แม่ค้ามีจำนวนมาก อีกทั้งยังยอมรับว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ที่เขามาเรียกเก็บเงินหลายกลุ่ม จนไม่รู้ว่าใครจ่ายกับใคร
 
“ยอมรับว่าพ่อค้า-แม่ค้าเยอะ มันไม่มีระเบียบ ไม่มีพื้นที่ทางเท้า แต่การมาขีดเส้นตายวันที่ 25 ต.ค.แล้วตัดเลย อย่างที่บอกว่ามันทำไม่ได้ คนเรามันมีความจำเป็น อย่างพี่ก็เพิ่งคลอดลูก แล้วก็ต้องทำงานเลี้ยงพ่อที่เป็นอัมพฤกษ์ มันต้องดิ้นรน” ต่ายเล่า พร้อมย้ำว่าที่ต้องออกมาเรียกร้อง เพราะทุกวันนี้ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
 
ต่ายเล่าด้วยว่า จากประสบการณ์ 7 ปี ที่ขายของอยู่ที่สยามสแควร์ ในทุกปีจะมีช่วง 1 เดือน ที่มีการมาขอให้หยุดขายเพื่อจัดการพื้นที่ แล้วจากนั้นก็จะสามารถกลับมาค้าขายได้เหมือนเดิม ซึ่งทุกคนที่ขายที่นี่มานานจะคุ้นเคย แต่มาครั้งนี้มันรุนแรงกว่ามาก โดยไม่มีที่ท่าว่าจะได้กลับไปทำการค้าขายเหมือนเดิน และการพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ก็ดูไม่เป็นผล ดังนั้นเมื่อมีการจัดเวที่สัมมนาครั้งนี้ขึ้นเธอจึงคาดหวังถึงการหาทางออกร่วมกันหรืออย่างน้อยๆ ก็จะได้รู้ว่ามีการพูดคุยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
 
ด้านนายเบนจามิน  (นามแฝง) นักวิชาการอิสระกล่าวว่า ในส่วนของการไล่ที่ขายสินค้าจากการเก็บข้อมูลพบมีในอีกหลายพื้นที่ เช่น ราวเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกรณีการฟ้องไล่ที่ตลาดสวนลุมไนท์บาซาร์ ของบริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ประชาชาติธุรกิจ) จนมีเหตุชายชุดดำทำร้ายพ่อค้าแม่ค้า และกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไล่ที่พ่อค้า-แม่ค้า ตลาดโบ๊เบ๊ เมื่อปี 2550 ซึ่งก่อนการเข้าใช้กำลังรื้อถอนพื้นที่ดังกล่าวเพิ่งถูกไฟไหม้ (เดลินิวส์) หรือกรณีไล่รื้อบ้านเรือนที่ชุมชนโรงสูบ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยชุมชนดังกล่าวชาวบ้านได้ปลูกสร้างบ้านเรือนมากว่า 80 ปี ตั้งแต่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ข่าวสด
 
นายเบนจามิน กล่าวว่า หากมีการขยายเครือข่ายรวมกลุ่มคนที่มีปัญหาในเรื่องเดียวกันมารวมกัน จะทำให้มีพลังในการเจรจาและการแก้ปัญหา ทั้งนี้ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มอย่างมีระเบียบแบบแผน มีทิศทางของกลุ่มที่ชัดเจน
 
นอกจากนี้ วงสัมมนายังมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ย่านสยามสแควร์ด้วยว่า จากการประเมินค่าทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ในปี 2549 พบว่า ที่ดินบริเวณสยามแควร์มีราคาสูงสุดที่ตารางวาละ 640,000 บาท เพิ่มขึ้นถึง 16.4% จากที่ในปี 2548 สำหรับอันดับทำเลที่ดินราคาแพงรองลงมาคือ อันดับ 2 ย่านเยาวราช ซึ่งเคยเป็นบริเวณที่มีราคาที่ดินแพงที่สุดมาโดยตลอดตารางวาละ 630,000 บาท อันดับที่ 3 คือ ถนนสีลม ราคาตารางวาละ 560,000 บาท โดยสาเหตุที่ศักยภาพทำเลย่านสยามสแควร์เติบโตเร็ว เพราะนอกจากมีรถไฟฟ้าผ่านแล้ว ยังมีการพัฒนา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าทำเลอื่นๆ 
 
จากข้อมูลเดือนกันยายน 2551 ข้อมูลผลสำรวจราคาที่ดินในกรุงเทพโดยการสำรวจของเอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท สยามสแควร์ยังมีราคากลางสูงสุดที่ 8 แสนบาท/ตร.วา ส่วนซื้อขายจริง 9.5 แสนบาท/ตร.วา
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net