Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอ พบประชาชนเห็นด้วยกับทุกประเด็นที่เสนอให้แก้ไข และเห็นว่าจะส่งผลบวกทางการเมือง แต่มีเพียงร้อยละ 26.2 ที่คิดว่าเหมาะสมจะดำเนินการในช่วงเวลานี้ โดยร้อยละ 78 เสนอว่าต้องทำประชามติ

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นประชาชน 1,249 คน จาก 21 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงษ์ เป็นประธาน ซึ่งได้เสนอแนวคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในประเด็นต่างๆ ตามที่ได้มีการแถลงเมื่อวันที่ 18 และ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ประชาชนเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ ฯ เกือบทุกประเด็น ได้แก่

- เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นอันดับ 1 ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน (เห็นด้วยร้อยละ 85.2)

- เรื่องการยุบพรรคการเมือง ในกรณีทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตามมาตรา 237 โดยกำหนดให้ลงโทษเฉพาะผู้กระทำผิด ถ้าผู้สมัครทำผิดให้ตัดสิทธิทางการเมืองของผู้สมัคร 5 ปี ถ้ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นให้ตัดสิทธิ 10 ปี และถ้าหัวหน้าพรรคมีส่วนรู้เห็นให้ตัดสิทธิ 15 ปี โดยไม่ต้องยุบพรรคการเมือง (เห็นด้วยร้อยละ 73.0)

- แยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดให้คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจาก ส.ส.ก่อน (เห็นด้วยร้อยละ 72.6)
- การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 (เห็นด้วยร้อยละ 69.7

- การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ให้กลับไปใช้รูปแบบบัญชีเดียวทั่วประเทศโดยไม่แบ่งเป็นเขตภาค (เห็นด้วยร้อยละ 59.4)

- ที่มาของ ส.ส. ตามมาตรา 93-98 เสนอให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.ระบบแบ่งเขต 375 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน (เห็นด้วยร้อยละ 56.1)

ส่วน ประเด็นเรื่องการสังกัดพรรคการเมือง ที่เสนอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรค และสมาชิกพรรคไม่จำเป็นต้องฟังมติพรรคนั้นส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 ไม่เห็นด้วย

สำหรับสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74.6) ต้องการให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ดำเนินการหลังได้รับรายงานสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการฯ แล้วคือให้ทำประชามติเพื่อถามความเห็นจากประชาชนก่อน โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 34.5 ต้องการ ให้ทำประชามติภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.9) ระบุว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ จะส่งผลในทางบวกต่อการเมืองไทย เช่น เกิดการพัฒนาทางการเมือง ทำให้ประเทศไทยมีความสมานฉันท์ ฯลฯ

เมื่อถามว่าบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานี้เหมาะสมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 46.0 ระบุว่าไม่แน่ใจ ในขณะที่ร้อยละ 27.8 เห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันยังมีความคิดต่างกันอยู่ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก และควรให้ความรู้แก่ประชาชนก่อน ขณะที่ร้อยละ 26.2 เห็นว่าเหมาะสม เพราะ สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยให้การเมืองมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ทังนี้ สิ่งที่ต้องการให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ดำเนินการหลังจากได้รับรายงานสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่กล่าวมาจากคณะกรรมการฯ คือให้ทำประชามติ เพื่อถามความเห็นจากประชาชนก่อน ร้อยละ 74.6 โดยระบุให้ทำภายในระยะเวลา

3 เดือน ร้อยละ 34.5
6 เดือน ร้อยละ 27.2
9 เดือน ร้อยละ 3.5
1ปี ร้อยละ 7.2
อื่นๆ ได้แก่ ให้ทำทันที
ทำให้ทันสมัยของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ร้อยละ 2.2

- ให้สภาพิจารณาและลงมติทันทีโดยไม่ต้องทำประชามติ ร้อยละ 15.5
- ให้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบ ร้อยละ 9.9

3. ประชาชนมีความเห็นว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในประเด็นต่างๆ
ข้างต้น จะส่งผลต่อการเมืองไทย คือ

- ส่งผลในทางบวก ร้อยละ 72.9
เชื่อว่าจะ
เกิดการพัฒนาทางการเมืองไทย ร้อยละ 20.1
ทำให้ประเทศไทยมีความสมานฉันท์ ร้อยละ 18.1
ทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ร้อยละ 15.8
เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานการเมือง ร้อยละ 15.3
สามารถลด / แก้ปัญหา การซื้อสิทธิ ขายเสียงได้ ร้อยละ 3.6

- เหมือนเดิม ร้อยละ 14.8
เชื่อว่าจะ
นักการเมืองยังคงนึกถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นหลัก ร้อยละ 9.2
นักการเมืองและคนไทยบางกลุ่มยังแบ่งข้างแบ่งสีกันอยู่ ร้อยละ 3.8
ได้ ส.ส.หน้าเดิมๆ จากพรรคการเมืองเดิม ร้อยละ 1.8

- ส่งผลในทางลบ ร้อยละ 12.3
เชื่อว่าจะ
เป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ร้อยละ 7.4
เกิดปัญหาการซื้อสิทธิ ขายเสียง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.9
ทำให้การอนุมัติโครงการเพื่อพัฒนาประเทศล่าช้า ร้อยละ 1.6
ได้รัฐบาลผูกขาดพรรคเดียว ร้อยละ 1.4

4. เมื่อถามถึงบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเวลานี้ว่าเหมาะสมที่จะทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พบว่า

- เห็นว่าไม่เหมาะสม ร้อยละ 27.8
(โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันยังมีความคิดต่างกันอยู่ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
และควรให้ความรู้แก่ประชาชนก่อน ฯลฯ)

- เห็นว่าเหมาะสม ร้อยละ 26.2
(โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว ช่วยให้การเมืองมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
และบ้านเมืองเริ่มสงบแล้ว ฯลฯ)

- ไม่แน่ใจ ร้อยละ 46.0

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net