Skip to main content
sharethis

รายงานชุดคลี่ปมเยี่ยวยา สารพันปัญหาเงินเป็นตัวตั้ง ตอนจบ พูดถึงการกำเนิดขึ้นของ"มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.อันเป็นคุณูปการหนึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. กับอีกหนึ่งกรณีผู้ได้รับผลกระทบ แต่หมดสิทธิได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์รัฐ

คนสูญหาย ไร้การเยียวยา

ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือกรณีบุคคลสูญหาย โดยพบว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้สูญที่ได้รับการจดบันทึกไว้ มีทั้งหมด 35 ราย นับตั้งแต่ปี 2545 จนกระทั่งรายล่าสุดที่หายตัวไป เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2553

นั่นคือ การหายตัวไปของนายดอรอแม เจะและ อายุ 46 ปี ชาวบ้านบ้านลาดอ ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่รายนี้ไม่มีการแจ้งความจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภรรยาเนื่องจากความหวาดกลัว

อีกรายหนึ่ง ซึ่งเป็นกรณีเดียวในชายแดนใต้ที่คดีขึ้นสู่ศาล เพราะไม่อาจหาตัวเจอได้ภายในเวลา 2 ปี คือการหายตัวไปของนายมะยาเต็ง มะรานอ นักการภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จนกระทั่งศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งว่า เป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มารตรา 61 ด้วย เป็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้เอาผิดใคร

ครั้งสุดท้ายที่คนในครอบครัวได้อยู่ด้วยกันกับนายมะยาเต็ง คือ ตอนเที่ยงของวันที่ 24 มิถุนายน 2550 โดยถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งนำตัวไป พร้อมกับรถกระบะ 1 คัน อาวุธปืน 1 กระบอก และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง

แต่คนที่อยู่ข้างหลังนายมะยาเต็ง ก็ไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตากหลักเกณฑ์ของรัฐอยู่ดี แม้นางโซมาฮิเดาะห์ ภรรยาจะพยายามเรียกร้องสิทธิในส่วนนี้ ในฐานะที่สามีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ความพยายามก็สูญเปล่า

“หลังจากศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ดิฉันก็เอาคำสั่งศาลนี้ไปให้นายกฤษฎา บุญราช ตอนนั้นยังเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านก็บอกว่าน่าจะเข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกรณีเสียชีวิต จะได้เงินช่วยเหลือ 500,000 บาท” นางโซมาฮิเดาะห์ กล่าว

เธอหวังว่า จะเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้ที่สามีทิ้งไว้รวมกว่า 780,000 บาท พร้อมกับภาระเลี้ยงดูลูกชายอีก 2 คน

หลังจากนั้นนายกฤษฎา ได้ส่งเรื่องไปให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และอำนวยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สุดท้ายคณะอนุกรรมการชุดนี้ได้แจ้งผลการพิจารณามายังเธอว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งไม่มีการรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง

เธอพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้ได้สิทธิในเรื่องนี้ แต่เมื่อหมดทางความพยายามเธอก็ค่อยๆ หดหายลงไปด้วย ล่าสุดมีข่าวว่าโครงการจ้างงานเร่งด่วน เดือนละ 4,500 บาท ที่เธอได้รับอยู่ด้วยว่า จะมีการยกเลิกโครงการ ยิ่งทำให้เธอท้อใจ ยังดีที่พอจะมีน้ำใจจากเพื่อนบ้าน ญาติมิตร และเพื่อนผู้ที่สามีสูญหายไปเหมือนเธอหยิบยื่นให้บ้างเท่านั้น รวมกับน้ำใจจากนายทหารบางคน

กำเนิดมูลนิธิเยียวยา มยส.

คุณูปการอย่างหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คือ การจัดตั้งกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติปิดฉากลงเมื่อปลายปี 2552 และเป็นการนับหนึ่งของ "มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" หรือ มยส.ที่รับหน้าที่ต่อ ซึ่งเป็นข้อเสนอของนายแพทย์ประเวศ วะสี เพื่อต้องการให้มีการขับเคลื่อนการช่วยเหลือเยียวยาผู้รับผลกระทบ และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

โดยนำเงินทุนส่วนที่เหลือจากการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและสนับสนุนโครงการต่างๆไม่กี่แสนบาทมาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ จากนั้น ได้เชิญศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มาเป็นประธาน โดยจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2552

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา กล่าวว่า มูลนิธินี้ตั้งขึ้นมาไม่ใช่เพื่อให้คนมารับเงิน แต่จะเป็นคลังสมอง หน้าที่เราคือสนับสนุนงานเยียวยาที่มีอยู่แล้วให้เข้มแข็งขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า งานที่ทำไปแล้วดีหรือไม่ดี มูลนิธิต้องการทบทวนทุกงานที่ทำมา แล้วมาจัดว่า งานไหนมีผลลัพธ์ที่ดี ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การทบทวนโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research : AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนทุนให้กับผู้ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท หรือโครงการ AAR ซึ่งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้จะรับมาสนับสนุนต่อจาก สกว.

“งานหนึ่งที่เราทำในตำบลหนึ่ง พบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือโต๊ะอิหม่าม แต่อีกตำบลหนึ่งโต๊ะอิหม่ามมีนิสัยอีกอย่าง ทำให้ว่างานไม่เดิน หรืออีกตำบลหนึ่งพบว่า แม่หม้ายที่สร้างกลุ่มอาชีพอยู่เป็นคนที่รู้จักหลายคน ทำให้สามารถสร้างกลุ่มได้ ส่วนอีกคนชอบทำงานคนเดียว จึงไม่ได้ช่วยให้ชุมชนของเขาเข้มแข็งขึ้นด้วย เราต้องการหาตัวแปรเช่นนี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือที่ดีที่สุด ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละแห่ง”

สำหรับกลไกหลักอีกส่วนหนึ่งในการทำงานของมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ นอกจากนักจิตวิยาประจำโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มบัณฑิตอาสาในสังกัดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะเข้ามาเป็นทีมงานในการเก็บข้อมูล รวมทั้งประเมินและติดตามโครงการ AAR นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรในฐานะเครือข่ายในพื้นที่ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นต้น

แม้ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลงานของมูลนิธิมีผลสะเทือนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังดำเนินการได้ไม่ครบหนึ่งปี แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้ จะมีเวทีใหญ่เพื่อการประเมินงานทั้งหมดอีกครั้ง

นั่นคือภาพรวมส่วนหนึ่งของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในปลายด้านขวานของไทย ในส่วนของการใช้เงินเป็นตัวตั้งในวันนี้

.....................................

 
รู้จัก มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.)
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ หรือ มยส. ที่ตั้งชั้น 6 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ 08 3397 2200 โทรสาร 0 7445 5150 E-mail: dsrrfoundation@gmail.com
 
มยส. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อสร้างความสมานฉันท์และสร้างความเข้มแข็งแก่คนในท้องถิ่น สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยหรืองานวิชาการด้านการเยียวยาและความสมานฉันท์ และสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการวางนโยบายที่ถูกต้อง
 
มยส.มี 4 แผนการดำเนินงานหลัก ได้แก่ 1.แผนงานการสร้างระบบการเยียวยาบุคคลเชิงคุณภาพ เช่น จัดตั้งกองทุนย่อยเพื่อให้การช่วยเหลือที่รวดเร็วและตรงกับ ความต้องการเฉพาะบุคคล ประสานขอความช่วยเหลือจากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ 2.แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ เช่น สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการเยียวยาในชุมชนโดยชุมชน ผ่านโครงการ Alternative Activity Research (AAR) หรือโครงการอื่นๆ ผ่านเครือข่ายหรือบุคคลที่มีศักยภาพ 3. แผนงานวิชาการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้คู่การพัฒนาคน โดยการศึกษาวิจัย การพัฒนาคน และการจัดการความรู้ และ 4.แผนงานการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยการเผยแพร่ความจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านวิถีชีวิตผ่านสื่อมวลชน จัดการข้อมูลข่าวสารและสื่อสารสาธารณะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย
 
กรรมการมูลนิธิ ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย ประธาน ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ รองประธาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร เลขานุการ นายแพทย์วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย เหรัญญิก นายโสภณ สุภาพงษ์ นายแพทย์อนันต์ สุไลมาน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นายอับดุลรอซัค อาลี และนางมัรยัม สาเม๊าะ กรรมการ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net