Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจกรุงเทพโพลล์เนื่องใน 'วันรพี' เผยเยาวชนร้อยละ 78.7 ในกรุงเทพฯ มองการบังคับใช้กฏหมายปัจจุบันไม่เป็นธรรม ร้อยละ 61.0 มองการชุมนุมนปช. ไม่เคารพกฏหมาย ร้อยละ 47.4 บอกไม่แน่ใจว่าหากลดบทบาทการออกกฏหมายของนักการเมืองจะช่วยแก้ปัญหา

 

 

ด้วยวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ตรงกับ วันรพี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)  จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของเยาวชนต่อการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทย” โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนอายุ 18 – 25 ปีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,284 คน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า

เยาวชนไทยร้อยละ 78.7 เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยในปัจจุบันยังมีความไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม โดยในจำนวนนี้เห็นว่าสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจาก ผู้รักษากฎหมายละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ (ร้อยละ 43.3) รองลงมาคือ ประชาชนหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย (ร้อยละ 17.3) และตัวบทกฎหมายไม่เหมาะสม มีช่องโหว่ ล้าสมัย (ร้อยละ 14.0)

สำหรับการกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทยที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสายตาเยาวชนอันดับแรกคือ เรื่องยาเสพติด (ร้อยละ 18.8) รองลงมาคือ เรื่องการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตของกฎหมาย (ร้อยละ 18.2) และเรื่องการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ (ร้อยละ 17.3)                   

เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวหรือเหตุการณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎหมายในสังคมไทยมากที่สุดพบว่าอันดับแรกคือ การชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เกินขอบเขตของกฎหมายของกลุ่ม นปช. (ร้อยละ 61.0) รองลงมาคือ การค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า (ร้อยละ 7.4)  และการล่วงละเมิดทางเพศ / ข่มขืน (ร้อยละ 5.9)

ส่วนความเห็นต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่สมควรจะต้องปรับปรุงตัวเองมากที่สุดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสม และเป็นธรรม พบว่าอันดับแรกคือ ประชาชนคนไทยทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย (ร้อยละ 54.2) รองลงมา คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ / ศาล (ร้อยละ 23.4)  และนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย (ร้อยละ 21.4)

ส่วนความเห็นต่อการลดบทบาทในการออกกฎหมายของนักการเมือง ว่าจะช่วยแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายของไทยได้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 28.7 เชื่อว่าได้ ขณะที่ร้อยละ 23.9 เชื่อว่าไม่ได้  อย่างไรก็ตามมีถึง ร้อยละ 47.4 ที่ตอบว่าไม่แน่ใจ

อนึ่ง การสำรวจนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนจากกลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 18-25 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจดังต่อไปนี้

 


 

1. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พบว่า

- เห็นว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม                                       ร้อยละ 78.7
โดยสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เหมาะสมและยังไม่เป็นธรรม พบว่า
    - ผู้รักษากฎหมายละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติ        ร้อยละ 43.3
    - ประชาชนหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย                            ร้อยละ 17.3
    - ตัวบทกฎหมายไม่เหมาะสม มีช่องโหว่ ล้าสมัย                      ร้อยละ 14.0
    - อื่นๆ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การรับส่วย การรับสินบน
                   ของผู้รักษากฎหมาย                                                  ร้อยละ  4.1       
    - เห็นว่าเหมาะสมและเป็นธรรมดีแล้ว                                        ร้อยละ  21.3

2. การกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทย ที่พบเห็นบ่อยครั้งที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า

- เรื่องการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตกฎหมาย                                                        ร้อยละ   16.7
- เรื่องยาเสพติด                                                                                                       ร้อยละ   15.4
- เรื่องการจราจร เช่น เมาแล้วขับ ขับรถฝ่าไฟแดง                                                   ร้อยละ   13.4
- เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซื้อเทป ซีดี เถื่อน                                                       ร้อยละ  12.8
- เรื่องการโจรกรรม ลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว                                                                ร้อยละ  11.3
- เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน                                                                                        ร้อยละ  8.5
- เรื่องการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ                                                      ร้อยละ  7.9
- เรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายในการลิดรอนสิทธิ
  ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เช่นการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม    ร้อยละ  6.5
- อื่นๆ เช่น เรื่องการพนัน เรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี                                                      ร้อยละ   7.5

3. ความคิดเห็นต่อเรื่องการกระทำผิดกฎหมายในสังคมไทย ที่เป็นปัญหาน่าห่วงมากที่สุด พบว่า

- เรื่องยาเสพติด                                                                                                        ร้อยละ    18.8
- เรื่องการชุมนุมประท้วงเกินขอบเขตกฎหมาย                                                         ร้อยละ    18.2
- เรื่องการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ                                                      ร้อยละ    17.3
- เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน                                                                                        ร้อยละ    16.4
- เรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายในการลิดรอนสิทธิ
  ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เช่นการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม    ร้อยละ  10.7
- เรื่องการโจรกรรม ลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว                                                                ร้อยละ    6.9
- อื่นๆ เช่น เรื่องการจราจร เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์                                                    ร้อยละ    11.7

4. ความคิดเห็นต่อข่าวหรือเหตุการณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงการไม่เคารพกฎหมายในสังคมไทยมากที่สุด พบว่า
     (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเอง)

- การชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่เกินขอบเขตของกฎหมายของกลุ่ม นปช.        ร้อยละ    61.0
- การค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า                                                                        ร้อยละ    7.4
- การล่วงละเมิดทางเพศ / ข่มขืน                                                                            ร้อยละ      5.9
- การใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐบาลในการสลายการชุมนุม                               ร้อยละ    5.6
- การก่อการร้าย  การเผาทำลายบ้านเมือง                                                             ร้อยละ    5.5
-  การทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ นักการเมือง                                                 ร้อยละ    3.6
- อื่นๆ เช่น การเมาแล้วขับ การละเมิดลิขสิทธิ์ การปล้นร้านทอง                             ร้อยละ    11.0

5.ความคิดเห็นต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่สมควรจะต้องปรับปรุงตัวเองมากที่สุดเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสม และเป็นธรรม พบว่า
(เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเอง)

- ประชาชนคนไทยทุกคน                                                                                           ร้อยละ    54.2
- เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รักษากฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล    ร้อยละ    23.4
- นักการเมือง                                                                                                               ร้อยละ    21.4
- อื่นๆ อาทิ แกนนำผู้ชุมนุมประท้วง                                                                              ร้อยละ    1.0

     
6. ความเห็นการลดบทบาทในการออกกฎหมายของนักการเมือง จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ คือ
       
- ได้    ร้อยละ    28.7
- ไม่ได้    ร้อยละ    23.9
- ไม่แน่ใจ    ร้อยละ    47.4
 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net