Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แปลจาก
What kind of democracy does Thailand want to be?
http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2010/may/17/redshirts-talks-democracy-thailand-monarchy
Jonathan Steele
guardian.co.uk, Monday 17 May 2010 23.00 BST

ทุกบ่ายวันอาทิตย์ ผู้คนจำนวนมากจะมารวมตัวกันนานนับชั่วโมงอยู่ในสวนลุมพินีฯ สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อมาออกกำลังกายเข้าจังหวะกับเสียงเพลงที่กระหึ่มออกมาทางลำโพง หนึ่งนาทีก่อนหกนาฬิกา ร่างชุ่มเหงื่อเหล่านั้นหยุดชะงักลงเหมือนต้องมนต์ คู่หนุ่มสาวที่พลอดรัก ต่างผุดออกมาจากสุมทุมพุ่มไม้ ครอบครัวที่กำลังเล่นฟุตบอลเรียกให้ลูกเตรียมพร้อมตั้งแถว เพราะจากนั้นเพลงชาติไทยที่ดังขึ้นจะสะกดทุกอย่างให้ตกอยู่ภายใต้ภวังค์แห่งความเงียบงัน 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมเห็นภาพเช่นนี้  แต่เมื่อใดที่เห็นก็ยังอดรู้สึกทึ่งกับภาพสัญลักษณ์ของสังคมที่แฝงอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์ทันสมัยตระการตาและความรุ่งเรืองทางธุรกิจ แต่โหยหาให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาไม่มีใครหยุดเคารพเพลงชาติที่สวนลุมฯอีกแล้ว และรวมไปถึงเมื่ออาทิตย์ก่อนด้วย สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมืองถูกทิ้งจนเกือบร้าง เพราะอยู่ใกล้กับจุดปะทะระหว่างกองทหารของรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบ

วิกฤตปัจจุบันของประเทศไทยเป็นผลประกอบมาจากหลายด้าน ด้านหนึ่งคือสงครามชนชั้นระหว่างชาวนาจากทางเหนือและอีสานผู้ยากไร้ ซึ่งหวั่นเกรงจะต้องสูญเสียที่ทำกินของตนให้กับธุรกิจการตัดไม้และธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ อีกด้านหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างระบบการเมืองสองแบบ แบบหนึ่งคือระบบการเมืองแบบรวมศูนย์ที่หนุนหลังด้วยกองทัพ บริหารด้วยกลุ่มชนชั้นสูงที่เป็นรอยัลลิสต์ ที่อาศัยมีระบบราชการแบบเก่าเป็นเกราะอ่อนห่อหุ้มเอาไว้ ระบบการเมืองนี้ไม่เคยถูกท้าทายแต่อย่างใดมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ กับคู่ปรปักษ์สำคัญ ได้แก่การเมืองแบบระบบทุนนิยมข้ามชาติ นำโดยอภิมหาเศรษฐีอย่างเช่น ทักษิณ ชินวัตร ผู้เชี่ยวชาญการสร้างความได้เปรียบจากการใช้สื่อโทรทัศน์ที่ตนเป็นเจ้าของ สร้างให้ของประชาชนตื่นตัวในสิทธิขั้นพื้นฐาน และส่งผลทำให้เกิดการรวมตัวของมวลชน

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสลัมกลางเมืองที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น อาจดูไม่เห็นชัดเจนเท่าที่เป็นในอินเดีย หรืออินโดนีเซีย หากพิจารณาให้ดีจะสังเกตเห็นแหล่งเสื่อมโทรมและที่พักชั่วคราวของคนยากจนเร่ร่อนที่มีอยู่ทั่วไปกลางเมือง แฝงตัวอยู่อย่างสงบภายใต้ทางด่วนยกระดับอันทันสมัยที่ถักทอปกคลุมใจกลางกรุงเทพมหานคร ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีอยู่นั้นอาจดูไม่เห็นเด่นชัด เนื่องจากความยากจนที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่ตามส่วนภูมิภาคของประเทศ แม้มีการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมือง แต่สองในสามของของชาวไทยยังคงอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด เกือบครึ่งเป็นผู้มีฐานะยากจน 

ต่างจากการคาดการณ์ของนักวิชาการหลายคน ชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่ในเมืองก็ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หากชนชั้นกลางเหล่านั้นกลับแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลในการต่อต้านหนทางการปฏิรูปการเมือง ดังจะเห็นได้จากการประท้วงที่เกิดตามท้องถนนที่ผ่านมาไม่นานนี้

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน ณ เวลานี้ คือต้องยอมรับข้อเสนอหยุดยิง และเข้าสู่การเจรจากับกลุ่มเสื้อแดง จริงอยู่ข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่นายกรัฐมนตรีหยิบยื่นให้กับผู้ประท้วงก่อนหน้านี้ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากแกนนำเลือดร้อนปฏิเสธที่จะยกเลิกแนวกั้นรอบพื้นที่ชุมนุม อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ไม่ควรถอนข้อเสนอ และส่งกองทหารเข้าล้อมปราบผู้ชุมนุม นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีแสดงนัยยะสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นว่า กองทัพยังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการปกครองประเทศ ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถรักษาสัญญาไม่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เพื่อรับมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะรามือ

(กอง บก. ขออนุญาตตัดทอนบางข้อความ) แม้ว่าข้าราชบริพารทั้งหลายจะสร้างภาพว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือการเมืองใดๆ แต่ในช่วงหกสิบปีที่ผ่านมาในการครองราชย์ของพระองค์ พระเจ้าแผ่นดินให้การรับรองการรัฐประหารที่ทำโดยกองทัพทุกครั้งที่เกิดขึ้น คนไทยน้อยคนนักที่จะกล้าพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย มีการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นฯที่เข้มงวด ทำให้เว็บและบล็อกจำนวนมากมายต้องปิดตัวลง ผู้ที่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการนี้ต้องถูกจับกุม บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเดินเข้าสู่ระบบการเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตยรัฐสภา

พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ที่โรงพยาบาลตั้งแต่กันยายนที่ผ่านมา การไม่ได้ปรากฏพระองค์บ่อยครั้ง ทำให้เกิดสูญญากาศที่ควรมีการเติมเต็มด้วยการเตรียมการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่มีรัฐบาลสมานฉันท์มาเป็นผู้ควบคุมกระบวนการ ขณะเดียวกันควรจัดให้มีคณะกรรมาธิการดูแลลดทอนบทบาทราชวงศ์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศ สาละวนกับการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตนานาชาติวางมือจากการพยายามเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศไทย ท้ายที่สุดแล้วก็คือรัฐมนตรีผู้นี้นี่เอง ที่ได้ทำให้คำพูดที่คนไทยหลายคนได้เคยพูดกันแบบลับๆ มาเป็นคำชี้แจงอย่างเป็นทางการในการแสดงสุนทรพจน์ที่ The School of Advanced International Studies ที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่เมืองบัลติมอร์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายกษิต ภิรมย์ แถลงว่า “การที่บุคคลทั่วไปพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมืองมากขึ้น ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางบวกของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่เมื่อ สิบห้าหรือยี่สิบปีก่อน ที่นักการเมืองจะมาจากกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมืองมืออาชีพ หรือนักการทหารมืออาชีพบางกลุ่ม”

นายกษิต กล่าวต่อไปว่า “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ และบรรลุถึงระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างระบบที่มีตัวแทนโดยตรง คล้ายคลึงที่ใช้ในประเทศลิคเทนไสตน์หรือสวิสเซอร์แลนด์ กับระบบรัฐสภาแบบสหราชอาณาจักร”

และแล้วนายกษิต ภิรมย์ ก็ปล่อยไม้ตาย โดยปราศรัยต่อไปว่า “ข้าพเจ้าคิดว่า เราควรแสดงความกล้าที่จะก้าวผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไป แม้แต่การพูดถึงเรื่องต้องห้ามอย่างเช่น สถาบันกษัตริย์...พวกเราควรอภิปราย : ว่าประชาธิปไตยแบบใดกันแน่ที่เราต้องการ?” พูดได้ดี พูดได้ดี คุณกษิต เริ่มด้วยการเปลี่ยนเรื่องจากเหตุหลั่งเลือดชะโลมกรุง ไปถึงให้ชาวไทยหยุดเคลื่อนไหว ถือขันติ และทำตัวเป็นใบ้ ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนถึงจุดจบของวันอาทิตย์ ที่สวนลุมพินีฯ

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net