Skip to main content
sharethis

ในที่สุดก็ชัดเจนจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่า ปฏิบัติการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อสลายม็อบเสื้อแดงก็จะต้องดำเนินการกันต่อไปจนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง

จากท่าทีที่แสดงความแน่วแน่ว่าจะต้องจัดการกับปัญหาม็อบเสื้อแดงให้ลุล่วงไปให้จงได้ แสดงว่านายกฯ อภิสิทธิ์ได้ตัดสินใจอยู่ก่อนแล้วที่จะเลือกใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยมองว่าเป็นทางเลือกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เหลืออยู่เพื่อธำรงความเป็นนิติรัฐของรัฐไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลนี้ โดยไม่คำนึงถึงว่าอาจจะต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อหรือแม้แต่ชีวิตของคนไทยด้วยกันเพิ่มขึ้นอีกไม่ว่าจะมากมายแค่ไหนก็ตาม ทั้งๆ ที่การเจรจากันต่อไปยังพอมีช่องทางให้ตกลงกันได้และทางเลือกอย่างอื่นที่ไม่ทำให้ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นอีกก็มีอยู่ คือการลาออกหรือยุบสภาไปเสีย

โรดแมปเพื่อการปรองดองของเขา จึงน่าจะเป็นเพียงกลอุบายที่จะนำไปสู่การใช้แผนรุกฆาตตามที่ทำนายไว้เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (10 พ.ค.) เท่านั้นเอง (ดู แผนการปรองดอง --- แผนการรุกฆาต??? ในคอลัมน์ เส้นแบ่งความคิด)

การที่นายกฯ อภิสิทธิ์ บอกว่าเสียใจที่ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงไม่ยอมรับโรดแมปของตนจึงทำให้จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุม จึงเท่ากับเป็นการบอกว่าความตายของคนเสื้อแดงอีก 24 คนมีค่าน้อยกว่าการยอมให้รองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามอบตัวกับตำรวจตามข้อต่อรองของแกนนำ นปช.เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่วีรชนของพวกเขาที่ต้องพลีชีพไปเมื่อวันที่ 10 เมษายนกระนั้นหรือ

จนถึงวันนี้ (16 พ.ค. 53) ยังไม่มีใครบอกได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด อย่างไร แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปฏิบัติการทำนองเดียวกันนี้ในการขอพื้นที่คืนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสะพานผ่านฟ้าเมื่อวันที่ 10 เมษายน เพราะจำนวนผู้ตายในขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 24 และบาดเจ็บ 198 แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการสงวนชีวิตของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงขอเรียกร้องให้แกนนำ นปช.ชิงสลายการชุมนุมเสียเองโดยเร็วที่สุด ก็น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละและเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้ครั้งนี้แล้ว

จากการชี้แจงของ ศอฉ. ต่อสาธารณชนผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในตอนค่ำของวันที่ 15 พฤษภาคม ก่อนการออกอากาศแถลงการณ์โดยนายกฯอภิสิทธิ์ ได้มีการยืนยันว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการก่อการร้ายของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม ส่วนจะเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มคนชุดดำที่ลงมือปฏิบัติการเด็ดหัวผู้บัญชาการรบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่มีการยืนยันจาก ศอฉ. แต่ก็มีการยอมรับโดยผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ว่าการดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในฝูงชนคนเสื้อแดง ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเกรงว่าจะพลาดไปโดนผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ส่วนสาเหตุที่ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตถึง 24 คนและบาดเจ็บเกือบ 200 คนเข้าไปแล้ว ก็มีคำชี้แจงว่า น่าจะเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมยิงกันเอง หรือมิฉะนั้นก็ถูกผู้ก่อการร้ายหรือชาวบ้านในชุมชนยิงเอา ไม่ใช่เป็นการยิงจากฝ่ายทหาร

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอีกในครั้งนี้จึงสืบเนื่องมาจากการใช้อาวุธสงครามร้ายแรงเข้ามายิงเข่นฆ่ากัน ซึ่งเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ทราบว่าเป็นใครและอยู่ฝ่ายใด แต่ก็พอจะอนุมานได้จากคำชี้แจงของ ศอฉ. ว่า น่าจะเป็นฝ่ายม็อบเสื้อแดงนั่นเองตามทฤษฎีการสมรู้ร่วมคิดกัน เพราะแฝงตัวอยู่ด้วยกัน ดังนั้น โดยจุดยืนของนายกฯอภิสิทธิ์ ศอฉ. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) บรรดาแกนนำเสื้อแดงรวม 9 คน จึงเข้าข่ายตกเป็นผู้ต้องหาฐานก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-4   ตามข้อกล่าวหาของ DSI ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานก่อการร้ายดังกล่าวมีข้อยกเว้นในมาตรา 135/1 นั่นเองว่า “การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย”

จากข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ปรากฎและฝ่ายรัฐบาลก็ยอมรับ ก็คือ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. คนเสื้อแดงตั้งแต่เริ่มต้น เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯอภิสิทธิ์ยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและชอบด้วยครรลองของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น กรณีจึงเป็นปัญหาน่าคิดว่า การใช้สิทธิชุมนุมโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นนี้ได้กลายเป็นการก่อการร้ายไปตั้งแต่เมื่อใด เพราะหากจะอ้างว่าได้เริ่มกลายเป็นการก่อการร้ายตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ก็มีปัญหาว่าการสลายการชุมนุมครั้งนั้นเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นหรือไม่ เพราะทำให้มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตไปถึง 21 คนและบาดเจ็บกว่า 800 คน

ฉะนั้น ปฏิบัติการ “กระชับพื้นที่” ของ ศอฉ. ในครั้งนี้ซึ่งมีผู้คนล้มตายไปถึง 24 คนแล้ว จึงมีปัญหาว่า เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นหรือไม่เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องพิสูจน์กันด้วยพยานหลักฐานต่อไป

ซึ่งหากการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานทั้งปวงสามารถแสดงได้ว่า “การขอพื้นที่คืน” เมื่อ 10 เมษายน ก็ดี “การกระชับพื้นที่” ในครั้งนี้ก็ดี เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมเป็นการแน่นอนว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย (พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17) ตามหลักนิติรัฐ

เพราะต้องไม่ลืมว่าตามหลักนิติรัฐ ผู้ใช้อำนาจรัฐต้องใช้อำนาจภายในขอบเขตของกฎหมายเท่านั้น จะถือว่าตนเองอยู่เหนือกฎหมายและจะใช้อำนาจตามอำเภอใจของตนเองไม่ได้ เพราะหากใช้อำนาจเกินเลยไปจนขาดความชอบธรรม ผู้ใช้อำนาจรัฐในลักษณะเช่นนั้นก็อาจถูกประณามได้ว่าเป็น “ทรราชย์นิติรัฐ” ดังเช่น อดอร์ฟ ฮิตเลอร์

ยิ่งไปกว่านั้น หากจะยกวาทกรรมในเชิงทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติมาว่ากล่าวกันต่อ ก็อาจกล่าวได้ว่า บุคคลทุกคนในฐานะเสรีชนย่อมมีสิทธิตามธรรมชาติที่จะร่วมกันก่อการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มผู้ปกครอง (รัฐบาล) ที่ใช้อำนาจรัฐโดยไม่เป็นธรรมทำร้ายเข่นฆ่าประชาชนเยี่ยงทรราชย์ได้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net