Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา17.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้องที่นายจตุพรพรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธสงคราม และห้ามไม่ให้มีการปิดกั้นหรือขัดขวาง ไม่ให้รถขนอาหารและน้ำดื่มเข้าไปบริเวณพื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ 

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยที่1-2 ได้กำกับควบคุมสั่งการให้ พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ฉบับ ลงวันที่ 13 พ.ค.53 และต่อมามีการปฏิบัติการตามประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อสกัดกั้นมิให้ประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่การชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเข้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมเดิม บริเวณสี่แยกราชประสงค์นั้น เป็นมาตรการหนึ่งในการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมืองไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและไม่ส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จำเป็นต้องดำเนินการ แม้การปฏิบัติการดังกล่าวจะทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ ตามคำร้องก็อยู่ในมาตรการการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่ง ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ศาลจึงมิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาหรือทบทวนการใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารนั้นได้ 

ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความจากนายคารม พลทะกลางทนายความโจทก์ว่าเหตุการณ์ใช้อาวุธต่อบุคคลที่ระบุในคำร้องไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการสลายการชุมนุมเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว ซึ่งหากมีความจำเป็นก็สามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล กรณียังไม่มีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามที่โจทก์ขอมาใช้บังคับได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคำร้องที่นายจตุพร โจทก์ ยื่นต้อศาลสรุปว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธ์ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ รองนายกรัฐมนตรี ฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่1-2 ข้อหาละเมิดกรณีจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าขอคืนพื้นที่ในบริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันและและมีประชาชนและทหารเสียชีวิต รวม 25 ศพและได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก ซึ่งครั้งนั้นศาลแพ่งพิจารณาแล้วมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า หากจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ในการขอคืนพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม นปช.ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก 

ปรากฎว่าขณะนี้มีแนวโน้มที่จำเลยทั้งสองจะออกคำสั่งให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมในพื้นที่สี่แยกราชประสงค์อีกโดยไม่ได้ดำเนินการตามหลักสากล กล่าวคือ จำเลยทั้งสองได้กำกับ ควบคุม สั่งการให้พล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ฉบับลงวันที่ 13 พ.ค.53 โดยจุดมุ่งหมายของการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมคลให้สังคมเข้าใจว่าจะสกัดกั้นมิให้ประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่การชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดเข้ามาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมเดิมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่ในความเป็นจริงและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่ปฏิบัติตามคำสั่งกลับห้ามมิให้นำอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค 

การกระทำของจำเลยทั้งสองรวมทั้งพล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำสั่งศาล โดยไม่สุจริต อันจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โจทก์จึงขอให้ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนี้ 

1.ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองและพล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา ปิดกั้นหรือขัดขวางหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ในเส้นทางคมนาคม เพื่อไม่ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดนำรถขนอาหารและน้ำดื่ม ยารักษาโรค ตลอดจนรถขนเครื่องอุปโภคและบริโภค ที่จำเป็นเข้าไปยังบริเวณพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง และให้บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมสามารถเข้า-ออกจากที่ชุมนุมเพื่อไปซื้อสิ่งของจำเป็นดังกล่าวได้

2.ขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าสลายการชุมนุมใช้อาวุธสงครามใดๆ กระทำต่อประชาชนผู้ร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งที่โจทก์จะขอให้ศาลได้โปรดไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งโดยเร่งด่วน เพราะขณะนี้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองได้ใช้กำลังปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางเข้า-ออกและใช้อาวุธสงครามเข้าปฏิบัติการดังกล่าวหากไม่มีคำสั่งของศาลทันท่วงที จะทำให้ชีวิตของผู้ชุมนุมและโจทก์อยู่ในความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งจากการอดอาหาร รวมถึงได้รับอันตรายจากการใช้อาวุธสงครามของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้โจทก์ได้นำพยานบุคคลและพยานเอกสารมาประกอบการไต่สวนแล้ว 

 

ที่มา: เว็บไซต์มติชน 

 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net