Skip to main content
sharethis

เอเดรียน คัลลาน เป็นช่างภาพโทรทัศน์อิสระที่ทำงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขาคือคนที่ถ่ายทำเรื่องราวการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยภาพข่าวของเขาได้รับการเผยแพร่ไปยังที่ต่างๆ เช่น อัลจาซีร่าของอังกฤษ, ไอทีเอ็น, แชนแนล 4 และแซดดีเอฟ ของเยอรมนี

เขายังได้ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก แต่ภาพถ่ายของเขาในช่วงที่มีการประท้วงของคนเสื้อแดงนั้น ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นช่างภาพข่าว แต่ยังเป็นการที่เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงด้วย

แดน เมสัน ได้พูดคุยกับเอเดรียนเกี่ยวกับความท้าทายในการถ่ายทำเรื่องราวความขัดแย้งที่อยู่เฉียดใกล้ปลายเท้าเขานิดเดียว

 

หากให้เลือกภาพหนึ่ง ภาพไหนที่น่าจะเป็นบทสรุปของเรื่องราวที่คุณถ่ายทำ?

เอเดรียน : มันยากที่จะหารูปๆ หนึ่งที่จะสรุปเหตุการณ์นี้ แต่ผมก็เลือกมารูปหนึ่งที่ผมชอบเพราะมันดูขัดแย้งกันดี คือภาพที่มีฉากหลังเป็นห้างหรูขณะที่มีผู้ประท้วงปักหลักกันอยู่ด้านนอก

นักข่าวหลายคนรู้สึกว่ายากมากที่จะจับเรื่องราวพวกนี้ มันซับซ้อนมากและต้องอาศัยเวลามากกว่าการนำเสนอโทรทัศน์สองสามนาทีในการอธิบาย นักข่าวสื่อสิ่งพิมพ์มีโอกาสดีกว่าในการนำเสนอบทความเช่นที่ปรากฏใน ดิ อิโคโนมิสต์ และใน เดอะ ไทม์

(สามารถเข้าชมรูปภาพของ เอเดรียน ได้ในบทความต้นฉบับและในบล็อกของเขา)

ผมชอบรูปนี้เพราะว่ามันเน้นให้เห็นถึงประเด็นสำคัญอันหนึ่งคือ 'การแบ่งแยกทางสังคม' มีห้างสรรพสินค้าสำหรับคนรวยเป็นฉากหลัง แม้แต่ผมก็ไม่เคยคิดฝันเลยว่าจะมาช็อปปิ้งที่นี่ และสำหรับเสื้อแดงแล้วเรื่องจะมาช็อปนี่คงไม่ต้องพูดถึง กลุ่มชนชั้นล่างทั้งในชนบทและในเมืองที่รวมตัวกันเป็นเสื้อแดงต่างก็มาจากโลกที่งานหนักของพวกเขาไม่ได้รับค่าตอบแทนมากนัก มันสะท้อนความจริงของชีวิต ผมชอบที่มีป้ายโฆษณาใหญ่ยักษ์อยู่เหนือผู้ชุมนุม

 

... แล้วสำหรับภาพวิดิโอ ภาพไหนที่คุณคิดว่าเป็นบทสรุป?

เอเดรียน : ผมเลือกภาพวิดิโอที่ผมถ่ายให้อัลจาซีร่า เป็นภาพวิดิโอในช่วงที่มีกองกำลังตำรวจกว่า 1,000 นายนั่งลงบนท้องถนน พวกเขาสวมชุดปราบจลาจลเต็มยศ แล้วก็นั่งลงเป็นแถว วางโล่ไว้ที่เท้า ขณะที่มีกลุ่มเสื้อแดงล้อมพวกเขาไว้

พอพวกตำรวจนั่งลงแล้ว พวกเขาก็ได้รับน้ำและอาหารจากผู้ชุมนุม แกนนำได้เจรจากับตำรวจ (ซึ่งก็มีตำรวจบางส่วนที่สนับสนุนเสื้อแดง) แล้วจึงตัดสินใจว่า จากการที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ต้องออกจากพื้นที่ พวกเขาจึงต้องนั่งลงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ ผมว่าเป็นภาพที่ประหลาดมาก

000

"แล้วมันก็เป็นเรื่องผิดด้วยที่จะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่คนชนบทที่ไม่รู้อะไร พวกเขาหลายคนพูดภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว"

 

แล้วตำรวจไทยกับผู้ชุมนุมมีทัศนคติอย่างไรกับผู้สื่อข่าวบ้าง?

เอเดรียน : ในตอนแรกทุกคนล้วนเป็นมิตรกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แล้วส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่

ต่อมาอัลจาซีร่าฉบับภาษาอังกฤษ (AJE) เริ่มถูกกล่าวโจมตีหลังจากที่เผยแพร่ภาพ 'คนชุดดำ' (ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายทหารของเสื้อแดง ที่มาจากทหารที่อาจจะ 'ไม่ค่อยภักดี' กับกองทัพนัก)

หลังจากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น AJE ก็นำภาพวิดิโอจากสำนักข่าว AP ที่เผยให้เห็นคนชุดดำยิงปืนอาก้า (AK47) ใส่ทหาร แล้วภาพดังกล่าวก็ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในหนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งมีตรา AJE ติดไปด้วย ทำให้มีการพูดปากต่อปากว่าให้ระวังคนที่เกี่ยวข้องกับ AJE ไว้ให้ดี แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็ลืมเรื่องนี้กันไป อาจจะมีอยู่ไม่กี่คนที่ไม่ชอบเรื่องนี้นัก แต่คนส่วนใหญ่ก็มองว่ามันคือความจริง

ตามปกติแล้ว ทหารหรือตำรวจจะยิ้มให้คุณไม่ก็เมินเฉยต่อคุณ ขณะที่คนเสื้อแดงจะให้น้ำให้อาหาร และมีจำนวนมากที่อยากพูดคุยกับคุณ พวกเขาสงสัยว่าทำไมคุณถึงสนใจในพวกเขา

แล้วมันก็เป็นเรื่องผิดด้วยที่จะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่คนชนบทที่ไม่รู้อะไร พวกเขาหลายคนพูดภาษาอังกฤษได้ดีทีเดียว

 

มีวิธีการไหนที่คุณ (รวมถึงผู้สื่อข่าวคนอื่น ๆ) ใช้ในการรักษาตัวเองให้ปลอดภัย?

เอเดรียน : ในวันที่ 10 เม.ย. ที่มีการปะทะกันระหว่างเสื้อแดงกับทหารจนมีผู้เสียชีวิต ผมอยู่ในที่ประท้วงอีกจุดหนึ่งใจการเมือง อุณหภูมิสูงมาก ร้อนระอุพอๆ กับอารมณ์คน (เมษายนเป็นช่วงกลางฤดูร้อนของไทย) ขณะที่ผมกลับสำนักงาน ผมเห็นภาพเจ้าหน้าที่ 2,000 นายกำลังดันกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ในตอนนั้นตำรวจได้ถอยออกไป แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเหตุการณ์เลวร้ายลงมาก ฮิโระ มุราโมโตะ ช่างภาพจาก Reuters ถูกยิงเสียชีวิต

ช่วงที่มีบรรยากาศของความขัดแย้งนี้อาจจะมีประโยชน์มาก แต่คุณก็ควรรู้เส้นทางหลบหนี มีปฏิภาณรับรู้อันตราย ประเมินอารมณ์ของมวลชนได้ คาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์ลื่นไหลนี้ ใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้มาในการวางตัวเองอยู่ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด

โชคดีที่อุปกรณ์ป้องกันจากเยอรมนีอาจกันกระสุนและช่วยชีวิตเขาเอาไว้ได้ แต่เป็นโชคร้ายอยู่เขาไปในที่ที่อันตรายอย่างใจกลางถนนที่อยู่ในวิถีกระสุน และใช้ขาตั้งกล้อง (ซึ่งในตอนมืดมันจะดูเหมือนอาวุธและทำให้คุณกลายเป็นเป้าถูกโจมตี)

 

คุณชอบทำงานคนเดียวหรือทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวคนอื่น?

เอเดรียน : ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง มันเป็นเรื่องดีที่จะอยู่กับคนที่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรและสามารถดูแลตัวเองได้

การที่ไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายกับบางคนที่คุณต้องคอยดูแลจะยิ่งทำให้เป็นอันตรายต่อตัวคุณเอง

ในการผลิตข่าวโทรทัศน์ คุณต้องอยู่ใกล้ชิดกับนักข่าวที่ถ่ายทำเหตุการณ์แทบจะโดยตลอด ควรมีการตกลงร่วมกันว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ ตรงจุดไหนให้พร้อม ตรงนี้สำคัญมาก ต้องมีการพูดคุยเตรียมไว้ก่อน เพื่อไม่ต้องมาถกเถียงกันเวลาที่มีอิฐและขวดน้ำลอยไปมา

 

000

"ผมถ่ายภาพของพวกเขา พวกเขาก็ยิ้มให้ผม และให้น้ำให้อาหารผม แล้วผมก็นึกอยู่ในใจว่า หากทหารจะปราบผู้ชุมนุมในคืนนี้ คนบางคนที่อยู่ในรูปผมอาจจะเสียชีวิตไปแล้วในวันรุ่งขึ้นก็ได้ ความรู้สึกแบบนี้ บวกกับการเซนเซอร์สื่อของรัฐบาล ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะยังคงทำตัวให้เป็นกลางอยู่ได้"

 

ในบล็อกของคุณ คุณบอกว่ามันยากมากที่จะไม่ต้องเลือกข้าง แล้วมุมมองส่วนตัวของคุณมีผลต่อการทำงานของคุณไหม?

เอเดรียน : มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่เลือกข้าง มีประเด็นมากมายที่ผุดขึ้นมาจากการประท้วงนี้ ซึ่งการอยู่ให้ห่างจากความขัดแย้งทางความคิดนี้เป็นเรื่องยาก

สำหรับผู้สื่อข่าวแล้ว เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญที่สุด มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับผม หากไม่มีมันแล้ว คุณก็อย่าหวังเรื่องประชาธิปไตยเลย เอาง่ายๆ แค่นี้

ถ้าหากประชาชนถูกห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็น และสื่อก็ไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานโดยไม่ถูกข่มขู่ การที่สังคมจะก้าวหน้าและพัฒนาไปสู่ยุคสมัยใหม่นั้นก็เป็นความหวังริบหรี่

แน่นอนว่าสื่อเจ้าต่าง ๆ จะต้องเอียงข้างไปทางใดทางหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง แต่รัฐบาลที่บล็อกเว็บไซต์และสั่งปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้นดูจะใกล้เคียงกับพวกเผด็จการเกาหลีเหนือมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในประเทศไทยนั้น ผมคิดว่ากฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นกฏหมายที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำให้ประเทศก้าวสู่ความเป็นสังคมที่เจริญ

ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความผิดในแง่การให้ข้อมูลเท็จและการโฆษณาชวนเชื่อ ผมเห็นว่ามีปัญญาชนคนไทยบางคนที่ถูกเล่นงานจากการโกหกหลอกลวงและแนวอุดมการณ์ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องตลก เมื่อมีคนเริ่มเลือกข้าง มันก็ทำให้ยากที่เขาจะมองเห็นภาพใหญ่ๆ แล้วมันจะทำให้เขาฝังรากและมองไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ กันแน่

ภรรยาเพื่อนผมบอกว่าเสื้อแดงมีปืนและอาวุธอื่นๆ ซึ่งเธอบอกว่าได้ฟังมาจากรัฐบาล ผมพยายามอธิบายให้เธอเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ผู้ชุมนุมหรอกที่มีอาวุธ แต่เป็นกลุ่มหนึ่งในกองทัพที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ เธอไม่ยอมฟังเลย เพราะรัฐบาลบอกว่ากองทัพยังคงมีเสถียรภาพ

ผมยังเห็นว่ามีอคติในการรายงานข่าวของนักข่าวตะวันตกอยู่ บางคนก็ฟังจากช่องข่าวของรัฐบาลแล้วก็เชื่ออย่างสนิทใจโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เขียนวิจารณ์รัฐบาลอย่างเดียว

ผมเชื่อว่าอย่างน้อยนักข่าวก็ควรพยายามทำตัวให้เป็นกลาง แม้ว่าเหตุผลเดียวที่คุณควรทำตัวเป็นกลางคือการที่จะทำให้คุณเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้นกว่าเดิมก็ตาม

ภาพที่ผมถ่ายไว้รอบๆ ที่ชุมนุมเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้เป็นประชาชนและไม่ได้เป็นเพียง 'ผู้ชุมนุม' ในเวลาเช่นนี้มันง่ายมากที่จะรู้สึกโกรธคนที่ต้องการทำร้ายคนเหล่านี้ แต่มันก็เป็นความรู้สึกที่คุณควรจะจัดการกับมัน

ผมถ่ายภาพของพวกเขา พวกเขาก็ยิ้มให้ผม และให้น้ำให้อาหารผม แล้วผมก็นึกอยู่ในใจว่า "หากทหารจะปราบผู้ชุมนุมในคืนนี้ คนบางคนที่อยู่ในรูปผมอาจจะเสียชีวิตไปแล้วในวันรุ่งขึ้นก็ได้" ความรู้สึกแบบนี้ บวกกับการเซนเซอร์สื่อของรัฐบาล ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะยังคงทำตัวให้เป็นกลางอยู่ได้

 

คุณอยากแนะนำอะไรกับคนหนุ่มสาวที่ต้องการเป็นผู้สื่อข่าววิดิโอหรือช่างภาพ?

เอเดรียน : ถ้าจะเป็นนักข่าวโทรทัศน์หรือผู้สื่อข่าวด้วยภาพในทุกวันนี้ผมคิดว่าจะต้องมีทักษะเชี่ยวชาญอย่างมากทีเดียว

อนาคตของสื่อตอนนี้อยู่ที่อินเตอร์เน็ต สิ่งที่คุณต้องการไม่ใช่เพียงแค่ความเร็วของโปรแกรมซอฟทฺ์แวร์และเครื่องมือ แต่คุณต้องคอยจับตาในทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net